เลียบคลองบางมด สูดกลิ่นอายชนบทในเมืองกรุง

กรุงเทพฯ วันนี้มองไปทางไหนมีแต่ตึกระฟ้า ส่วนคูคลองมากมายที่ทำให้เคยได้ฉายาว่า เวนิสตะวันออก ก็ล้วนเน่าเหม็นคลาคล่ำไปด้วยขยะซะเป็นส่วนใหญ่
การหาเส้นทางเดินทอดน่องเลียบชายน้ำคูคลองที่ยังมีบรรยากาศร่มเย็นน้ำยังไม่เน่าเหม็นในเมืองกรุงยุคนี้ นับเป็นสิ่งที่หายากยิ่งนัก เท่าที่พอสำรวจเจอในเวลานี้ ก็เห็นจะเป็นทางด้านทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะบริเวณสองฝั่งคลองบางมด ในพื้นที่เขตทุ่งครุ
เมื่อเอ่ยถึงบางมด คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงส้มบางมดเป็นอันดับต้นๆ ส้มบางมดนั้นมีผลกลมแป้น ผิวสีเขียวอมเหลือง เปลือกส้มบางนิ่มไม่แข็ง รสหวานอร่อยลิ้น และเยื่อนิ่ม เมื่อสัก 30-40 ปีที่แล้ว น่าจะมีพื้นที่สวนส้มในบางมดไม่น้อยกว่า 60,000 ไร่ ทว่าในปัจจุบันสวนส้มบางมดเหลือเพียงแค่ตำนานให้เล่าขานกันเท่านั้น เพราะแทบจะไม่มีชาวสวนส้มมืออาชีพหลงเหลือในพื้นที่นี้อีกต่อไปแล้ว ที่พอเห็นบ้างและหาดูยากเต็มที ก็คงเป็นสวนส้มที่ปลูกเพื่อการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเท่านั้นเอง
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ส้มบางมดแท้ๆ สูญพันธุ์ไปน่าจะเป็นผลมาจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่อยู่หลายคราในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาจนทำให้ต้นพันธุ์ล้มตายไปจำนวนมาก ประกอบกับราคาประเมินที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยที่มีราคาสูงเย้ายวนใจ จนทำให้ชาวสวนไม่น้อยตัดสินใจขายที่เลิกอาชีพทำเกษตรไปเลย

แม้ว่าสวนส้มบางมดจะไม่มีแล้ว แต่ความน่าสนใจริมคลองบางมดก็ยังไม่เลือนหาย และน่าจะเป็นอีกจุดเดินเล่นที่น่าสนใจในวันหยุด โดยเฉพาะคนที่อยากสัมผัสกับบรรยากาศและกลิ่นอายแห่งสายน้ำที่ยังใสสะอาด จะเรียกว่าเป็นภาคชนบทของเมืองกรุงเทพฯ วันนี้ก็ไม่น่าจะผิดนัก
สำหรับจุดตั้งต้นที่เหมาะสมสำหรับการเที่ยวเลียบคลองบางมดคงอยู่ที่วัดพุทธบูชา ซึ่งแยกจากถนนพระราม 2 เข้าไปในซอย 29 (ถนนพุทธบูชา) ถ้าใช้บริการรถประจำทาง รถเมล์สาย 75 จะวิ่งไปส่งถึงในวัดเลย
ถ้าไปตรงกับวันอังคาร วันพุธ วันศุกร์ และวันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 15:00 – 19:00 น. ก็จะได้พบกับตลาดนัดเล็กๆ ภายในวัดให้ได้จับจ่ายสินค้าราคามิตรภาพเพื่อเป็นเสบียงกรังระหว่างเดินเลียบคลองบางมด
เมื่อเดินเข้าไปสุดหลังวัดก็จะพบกับศาลาริมน้ำติดป้ายว่า วิสาหกิจชุมชน กลุ่มท่องเที่ยวเชิงเกษตรบางมด ที่มีซุ้มร้านค้าเล็กๆ ของชุมชน ทางฝั่งขวาของศาลาจะมีสะพานข้ามคลองเล็กๆ ให้ขึ้นไปชมวิวเหนือลำคลองได้ แต่เส้นทางที่จะพาไปเดินนั้น อยู่บนทางเลียบคลองทางด้านซ้ายของศาลาตรงที่มีมุมขายอาหารเลี้ยงปลานั่นล่ะ จากจุดนี้ถ้าเดินหน้าตรงตามเส้นทางเลียบคลอง ผ่านหลังวัดไปเรื่อยๆ ก็จะไปเจอกับทางออกริมถนนเลียบทางด่วนกาญจนาภิเษก (สายบางขุนเทียน-ทุ่งครุ-พระประแดง)
ระยะทางขนาดนี้อาจดูเหมือนไกล แต่จริงๆ แล้วก็ไม่เท่าไหร่ พอเดินเล่นแบบผ่อนคลายสบายๆ ได้ โดยเฉพาะในช่วงแดดอ่อนๆ ตอนบ่ายแก่ๆ ปรกติแล้วคนมาเที่ยวส่วนใหญ่จะนิยมปั่นจักรยานกัน แต่การเดินเที่ยวแทนการปั่นก็ได้อิสระไปอีกแบบ โดยเฉพาะการซึมซับบรรยากาศชายน้ำริมสวน เจือด้วยกลิ่นอายชนบทอันเงียบสงบ
ความสนใจตามรายทางนอกเหนือจากภาพวิถีชีวิตสงบงาม สวนผลไม้ และบ้านเรือนเก่าแก่ริมน้ำของชาวพื้นถิ่นบางมดแล้ว ยังมีสถานที่สำคัญอีกมากมายที่เราอาจใช้เป็นจุดพิกัดบ่งบอกตำแหน่งบนเส้นทางเดินเท้าได้ ไม่ว่าจะเป็น กำแพงเซรามิคประดับภาพในหลวงรัชการที่ 9 ตรงสะพานเหลือง, มัสยิดสอนสมบูรณ์ (ซอยพุทธบูชา 36 แยก 6), แพตาสาน ตรงสะพานดำ ซึ่งบ่งบอกให้รู้ว่าเราเดินจากท่าน้ำวัดพุทธฯ มาเป็นระยะทางราว 2 กิโลเมตรแล้ว

เมื่อเดินต่อไปอีกเรื่อยๆ จนครบระยะทางอีกประมาณ 1 กม.ที่เหลือ ก็จะพบกับ ครัววิชชาลัย ซึ่งเป็นร้านของกินและศูนย์อบรมการทำอาหารในสวนสวยตรงสุดปลายทาง ในบริเวณใกล้ๆ กันนั้นจะเป็น ตลาดคลองบางมด ซึ่งเปิดมาได้ประมาณปีกว่า แต่บรรยากาศในปัจจุบันค่อนข้างเงียบเหงา ถ้าเดินผ่านหน้าตลาดไปตามถนนเลียบทางด่วนฯ อีกนิดเดียว ก็จะพบกับโกดังสินค้ามือ 2 ญี่ปุ่น ซึ่งน่าจะเป็นจุดน่าสนใจสุดท้ายให้ได้แวะชมกันในทริปนี้
บรรยากาศริมคลองบางมดจะคึกคักเป็นพิเศษในช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งมีการจัดงาน บางมดเฟสติวัล ต่อเนื่องกันมา 2 ปีแล้ว อย่างไรก็ดีการออกมาเดินสูดกลิ่นอายชนบทชายขอบเมืองกรุงฯ ในฤดูหนาวนี้ ก็นับว่าได้บรรยากาศสงบงามมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า อาจไม่มีสีสันหรือกิจกรรมเร้าใจอะไรมากมาย แต่มันได้ฟีลลิ่งชายคลองยุคดั้งเดิมอันน่าถวิลหา ที่นับวันจะหาดูได้ยากยิ่งบนผืนดินกทม.