เดินนอกกรอบ รอบสยามสแควร์

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ศูนย์กลางช้อปปิ้งยอดนิยมสุดไฮโซ และเป็นสัญลักษณ์แห่งความหรูหราฟุ่มเฟือยของเมืองกรุงฯ ในปัจจุบัน ก็คือย่านที่เรียกกันติดปากว่า สยามสแควร์ ซึ่งแต่เดิมเมื่อสัก 40 สักสี่สิบกว่าปีก่อน ตอนที่ยังมีสถานะเป็นเพียงศูนย์การค้าเปิดโล่งแนวราบขนาดใหญ่
ความเจริญยังกระจุกตัวอยู่แถวหัวมุมถนนพญาไทตัดกับถนนพระราม 1 ปัจจุบันมีการขยายตัวไปตามสองฟากถนนพระรามที่ 1 จนเกือบจะเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกันกับย่านความเจริญบนถนนราชดำริ
ย่านสยามสแควร์นั้น ยังคงมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องไม่รู้จบ ทำให้บางส่วนได้กลายเป็นสายบันเทิงและช้อปปิ้งติดแอร์ขนาดมหึมาจนแทบไร้รอยต่อระหว่างกลางวันและกลางคืนไปแล้ว เคยมีการทำวิจัยไว้ว่า ในวันธรรมดามีจำนวนคนเดินในย่านสยามสแควร์เฉลี่ยถึงวันละ 20,000 คน ส่วนในวันหยุดนั้นมีไม่น้อยกว่า 50,000 คน ขยับขึ้นกว่าเท่าตัวเลยทีเดียว ส่งผลให้สถานีรถไฟฟ้าคลาคล่ำไปด้วยฝูงชน ขณะที่ท้องถนนก็เต็มไปด้วยฝูงรถส่วนตัวพยายามวนหาที่จอดเสียจนการจราจรกลายเป็นอัมพาต
สำหรับใครที่อยากลองเดินเที่ยวย่านสยามฯ ในบรรยากาศเปิด ไม่ต้องเข้าไปเบียดเสียดกับฝูงผู้คนในห้างติดแอร์ ในละแวกถนนพระรามที่ 1 หรือที่เรียกว่า ถนนปทุมวัน ในอดีตนั้น ก็มีตัวเลือกให้เที่ยวชมอีกมากมาย ตามลายแทงต่อไปนี้
พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ อยู่บนชั้น 9 อาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ด้านหลังสยามสแควร์ เป็นสถานที่จัดแสดงร่างกายและชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ จำนวน 131ชิ้น มูลค่านับกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งนาย คัทสุมิ คาตามูระ ประธานบริษัทเมดิคัลด็อกเตอร์ซอฟท์เฮาส์ จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น บริจาคให้กับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2555 แม้ว่าพิพิธภัณฑ์จะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก เพียงแค่ 2 ห้องจัดแสดงเท่านั้น แต่ก็จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ 1 ใน 11 พิพิธภัณฑ์ของโลกและเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดแสดงร่างกายมนุษย์ด้วยเทคนิคการแปรเนื้อเยื่อให้มีคุณสมบัติคล้ายพลาสติก (Plastinated Human Bodies) ซึ่งเป็นเทคนิคการรักษาสภาพร่างกายหรือชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ที่เสียชีวิตให้คงอยู่เพื่อใช้ศึกษาได้ยาวนานที่สุด

เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กที่ทุกคนควรแวะไปชมสักครั้ง ซึ่งน่าจะช่วยให้เราได้ระลึกได้ปลงถึงความเป็นมนุษย์สุดแสนธรรมดากันได้บ้าง เปิดให้ชมฟรีทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-16.00 น.
พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในวังสระปทุม ริมถนนพญาไท ด้านหลังห้างสยามดิสคัฟเวอรี่ เดิมทีวังสระปทุมแห่งนี้เคยเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459-2498 ต่อมาได้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภายหลังจากที่สมเด็จย่าเสด็จสวรรคตแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาจวบจนปัจจุบัน
อาคารที่ใช้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์นั้น ก็คือ พระตำหนักใหญ่ ที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จวบจนกระทั่งเสด็จสวรรคต ภายในมีการจัดแสดงเรื่องราว และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของพระองค์ ช่างน่าเสียดายที่ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต้องปิดชั่วคราวเพื่อทำการบูรณะซ่อมแซม โดยมีกำหนดเปิดให้เข้าชมอีกครั้งช่วงปลายปีหน้า ในระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 – มีนาคม พ.ศ. 2562
สวนเฉลิมหล้า เป็นสวนสาธารณะเล็กๆ ที่ล้อมรั้วรอบพื้นที่ว่างเปล่าข้างตึกร้างริมถนนราชเทวีแต่เดิม เดินจากสี่แยกปทุมวัน เลียบรั้ววังสระปทุม ขึ้นสะพานหัวช้าง ข้ามคลองแสนแสบไปนิดเดียวก็จะเจอกับพื้นที่เต็มไปด้วยสีสัน ลวดลายกราฟฟิตี้อาร์ตๆ บนผนังตึกและซากอาคารให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าจะเป็นสวนสาธารณะที่ไม่กว้างใหญ่นัก แต่ก็มีมุมถ่ายภาพฮิปๆ ให้เลือกถ่ายรูปเล่นกันอย่างจุใจ
พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน อยู่บ้านเรือนไทยริมคลองแสนแสบ สุดซอยเกษมศานติ์ 2 ถนนพระราม 1 ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งจัดแสดงสมบัติสะสมอันล้ำค่าของ เจมส์ เอช. ดับเบิลยู. ทอมป์สัน อดีตนายทหารอเมริกัน ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมไหมไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปวัตถุของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะพระพุทธรูปยุคสมัยต่างๆ โดยห้องจัดแสดงทั้งหมดจะอยู่ในเรือนไทยไม้สัก 6 หลังที่เขาเคยพำนักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 ก่อนจะหายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอยในปี พ.ศ. 2510
การเข้าชมในห้องจัดแสดงต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ 100 บาท แต่ถ้าอยากประหยัด แค่เข้าไปเดินสูดบรรยากาศอันร่มรื่น ชมความงดงามบ้านเรือนไทยไม้สักกลางกรุง เท่านี้ก็คุ้มค่าคุ้มเวลาแล้ว

อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นปอดแห่งใหม่ย่านใจกลางเมือง อยู่บริเวณหลังสนามกีฬาแห่งชาติ สามารถเข้า-ออกได้หลายทาง ทั้งด้านถนนพระรามที่ 4 และถนนบรรทัดทอง แต่เส้นทางที่สะดวกที่สุด คือ เดินเลียบรั้วสนามกีฬาแห่งชาติเข้าทางถนนพระรามที่ 1 สวนสาธารณะแห่งนี้เพิ่งเปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนมีนาคมปีนี้เอง ความโดดเด่นเป็นพิเศษของที่นี่น่าจะเป็นการออกแบบให้พื้นที่สีเขียวมีลักษณะคล้ายเนินเขา ซึ่งปัจจุบันยังไม่สวนสาธารณะแห่งใดในกรุงเทพฯ เป็นเช่นนี้
ในวันที่ท้องฟ้าสดใสอากาศดี ใช้เวลาช่วงบ่ายแก่ๆ เดินชมพันธุ์ไม้ สูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด ขึ้นไปชมวิวมุมสูงเมืองกรุงฯ ตรงสุดปลายเนิน แล้วเดินลงมาตบท้ายด้วยร้านอร่อยๆ มากมายเบื้องล่าง โดยเฉพาะช่วงอากาศเย็นสบายๆ อย่างนี้ ช่างรื่นรมย์สุดๆ.