เดินเล่นตามใจตน ถนนสามเสน
มีโอกาสผ่านไปบริเวณถนนสามเสนเมื่อไร คงสัมผัสได้ถึงบรรยากาศน่าถวิลหาผ่านวัดวา สถานศึกษา สถานที่ราชการ รวมไปจนถึงอาคารที่อยู่อาศัยสองฟากถนนซึ่งนับวันจะกลายเป็นสิ่งหาดูยากขึ้นทุกวัน
ถนนสามเสนนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตัดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างพระบรมมหาราชวังและวังสวนดุสิต มีความยาวหลายกิโลเมตร ตั้งต้นจากจุดตัดถนนพระสุเมรุ แถวบางลำพู ลากเป็นแนวขนานลำน้ำเจ้าพระยาไปจนถึงจุดตัดถนนทหาร บริเวณแยกเกียกกาย (ซึ่งจะกลายเป็นย่านที่การจราจรมีความคับคั่งเป็นพิเศษเมื่อ สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภาแห่งใหม่เริ่มเปิดใช้อย่างเป็นทางการในอีกราว 2 ปีข้างหน้า)
ย่านเก่าที่เคยคึกคักสมัยเมื่อ 50 ปีก่อนริมถนนสามเสน อย่าง ศรีย่าน ราชวัตร บางกระบือ ซึ่งเคยอยู่ไกลจากย่านใจกลางเมืองในอดีต วันนี้กลับกลายเป็นแหล่งรวมร้านของกินรสชาติดีราคาย่อมเยาที่ได้รับความสนใจจากชาวกรุงไม่น้อย ร้านอร่อยที่เปิดให้บริการผ่านการพิสูจน์ฝีมือการปรุงรสมาอย่างยาวนานหลายสิบปีที่ใครได้ลิ้มลองแล้วต้องบอกต่อก็ได้แก่ ลูกชิ้น ศรีย่าน, หมูสเต๊ะนายอ๋า, เฮียบฮั้ว ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา, เย็นตาโฟ วิโรจน์โภชนา, หอยทอด-ผัดไท สวัสดีราชวัตร และวันสตาร์ เป็ดย่างราชวัตร
สำหรับคนที่ชอบเดินซอกแซกดูอะไรเก่าๆ ควรไปตั้งต้นแถวๆ สี่แยกถนนสามเสนตัดกับถนนราชวิถี หรือละแวกเชิงสะพานกรุงธน (สะพานซังฮี้) นั่นเอง
ถ้าหันหน้าตามแนวถนนราชวิถีไปทางแม่น้ำ ทางฝั่งขวามือจะมีแยกถนนเส้นเล็กๆ เรียกว่า ถนนขาว เลียบกำแพงวัดราชผาติการาม อ้อมบริเวณหลังโรงพยาบาลวชิระไปออกถนนสุโขทัยได้
ช่วงก่อนจะถึงปากทางถนนขาว จะเห็นบ้านทรงสะดุดตาหลังหนึ่งทางฝั่งขวามือ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พำนักของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และครอบครัว อยู่นานถึง 8 ปี เมื่อครั้งรับราชการในตำแหน่ง ช่างปั้นกรมศิลปากร ในปีพ.ศ. 2466 ปัจจุบัน สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก เจ้าของพื้นที่ได้เปิดเป็น บ้านอาจารย์ฝรั่ง ให้คนทั่วไปได้เยี่ยมชมด้านในทุกวันพุธ ระหว่างเวลา 09.00-15.00 น.
พื้นที่ริมสองฟากถนนขาวในอดีตสมัยเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วนั้น เคยอุดมไปด้วยคฤหาสน์ของผู้มีอันจะกินในเมืองกรุงมากหน้าทั้งมหาเศรษฐีและขุนนางเก่า ซึ่งปัจจุบันยังพอหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง อาทิ บ้านอาจารย์ฝรั่ง ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในเรือนบริวารของบ้าน พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) มหาดเล็กในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตึกเก่าอีกหลังภายในละแวกเดียวกันที่มีความเป็นมาน่าสนใจยิ่ง ก็คือ อดีตคฤหาสน์ของ พระสรรพการหิรัญกิจ (เชย อิศรภักดี) ที่เรียกติดปากกันว่า ตึกเหลือง และเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า อาคารวชิรานุสรณ์ ปัจจุบันกลายเป็นโบราณสถานซ่อนอยู่ภายในวชิรพยาบาล
พระสรรพการหิรัญกิจ ผู้เป็นต้นตระกูล ”อิศรภักดี” นั้น ในช่วงปีพ.ศ. 2447 จัดว่าเป็นผู้จัดการในแวดวงธุรกิจการเงิน ผู้ประสพความสำเร็จทางธุรกิจอย่างงดงามคนหนึ่งของไทยจนกลายเป็นอัครมหาเศรษฐี เคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการแบงก์สยามกัมมาจลอยู่หลายปี ก่อนจะถูกฟ้องล้มละลาย พ.ศ.2454
ในช่วงที่กำลังรุ่งโรจน์สุดๆ พระสรรพการหิรัญกิจ มีความใฝ่ฝันที่จะสร้างโครงการสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า ป๊ากสามเสน โดย บ้านหิมพานต์ (ตึกเหลือง) สถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิค ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างของเอกชนที่งดงามเลิศหรูอลังการที่สุดในเมืองกรุงในยุคที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2451
เพราะเป็นการลงทุนบนความใฝ่ฝันที่ยากจะคืนกำไรได้ เมื่อพระสรรพการหิรัญกิจถูกฟ้องล้มละลาย สินทรัพย์ทั้งหมดก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของแบงค์สยามกันมาจลทุนจำกัดอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะถูกเปลี่ยนบทบาทไปตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของสถานพยาบาลช่วยเหลือประชาชนผู้เจ็บป่วย จึงทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้พระคลังข้างที่ ซื้อที่ดินจำนวน 27 ไร่ พร้อมคฤหาสน์แห่งนี้ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ดัดแปลงให้เป็น วชิรพยาบาล นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2455 มาจนจวบปัจจุบัน
จากฟากฝั่งวชิรพยาบาล ถ้าเดินย้อนตามถนนขาวกลับมายังเชิงสะพานซังฮี้แล้วข้ามถนนมายังอีกฝั่ง เดินเลี้ยวขวาไปจนสุดริมฝั่งเจ้าพระยา ก็จะพบกับ ศาลเจ้าแม่ทับทิม (ศาลเจ้าเจ้าจุ้ยโบเนี้ยว) สร้างขึ้นโดยชาวไหหลำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2384 นับเป็นศาลเจ้าแม่ทับทิมที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองไทยกันเลย
เดินย้อนกลับทางเดิมอีกนิด แล้วซอกแซกเข้าไปในซอยที่มีป้ายขนาดใหญ่เห็นชัดเจนว่า โยนออฟอาร์คบริหารธุรกิจ ก็จะได้พบกับย่านเก่าและโบราณสถานสำคัญรอคอยให้ค้นหาอยู่อีกมากมาย อย่างเช่น บ้านญวน-บ้านเขมร (ซอยมิตรคามแหล่งรวมอาหารญวนในตลาดเช้า), โบสถ์เซนต์ฟรังซิสเซเวียร์, วัดคอนเซ็ปชัญ และวัดราชาธิวาสวรวิหาร อารามเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงละโว้ โดยพิจารณาตามรูปแบบสถาปัตยกรรมวัดที่มีความคล้ายปราสาทขอม ถ้าข้อสันนิษฐานนี้ถูกต้อง ก็หมายความว่า พื้นที่ริมน้ำย่านสามเสนนั้นมีความเก่าแก่มากจนถึงมากที่สุดในเขตกทม. เลยก็ว่าได้ เพราะมีผู้คนเข้ามาปักหลักทำกินกันมาตั้งแต่ช่วงก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือนานกว่าหกร้อยปีมาแล้ว.