สามย่าน : จุดบรรจบระหว่างบรรยากาศเก่าๆ

สามย่าน : จุดบรรจบระหว่างบรรยากาศเก่าๆ ความทันสมัย และแมกไม้อันร่มรื่น
ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ย่านเก่าแก่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่มีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก และกินพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ก็น่าจะได้แก่บริเวณพื้นที่ สามย่าน หรือบริเวณจุดตัดของถนนพระรามที่ 4, ถนนพญาไท และถนนสี่พระยานั่นเอง และถนนทั้งสามสายนี่เองที่อาจเป็นต้นที่มาของชื่อเรียกสถานที่ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยคึกคักเป็นอย่างมากนับตั้งแต่มี ตลาดสามย่าน ในปี 2508
ปัจจุบันตลาดสามย่านเดิมนั้นได้ถูกรื้อทิ้งไปแล้วพร้อมกับสิ่งก่อสร้างใกล้เคียงบนพื้นที่กว่า 13 ไร่ เพื่อเปิดพื้นที่ให้โครงการ สามย่าน มิตรทาวน์ มูลค่าราว 8,500 ล้านบาท ซึ่งถ้าเสร็จสมบูรณ์เมื่อไหร่ ก็จะทำให้ย่านนี้กลับมาคึกคักอย่างเต็มที่อีกครั้ง
สำหรับเส้นทางเดินเที่ยวสามย่านที่อยากแนะนำกันหนนี้ เราตั้งต้นกันที่บริเวณ วัดหัวลำโพง ตรงหัวมุมถนนพระรามที่ 4 ตัดกับถนนสี่พระยา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเรียกว่า วัดวัวลำพอง ตามสถานที่ตั้งเดิม ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ว่าแห่งนี้มีมาแต่สมัยใด ทราบแน่ชัดแต่เพียงว่า รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จพระราชดำเนินทอดพระกฐินที่วัดแห่งนี้ และได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดให้ใหม่ว่า วัดหัวลำโพง ซึ่งใช้เรียกกันมาจวบจนปัจจุบัน
ดูจากภายนอกจะเห็นว่า วัดหัวลำโพงนั้น ใหญ่โตโอฬารมาก ถ้าไม่ได้ตั้งใจจะเข้าไปสะเดาะเคราะห์ตามจุดให้บริการบุญที่มีให้เลือกมากมายในบริเวณวัด รวมไปจนถึงการทำบุญโลงศพให้กับ มูลนิธิร่วมกตัญญู ตรงหน้าวัด แค่หาโอกาสไปสักการะขอพร หลวงพ่อพุทธมงคล พระประธานในพระอุโบสถ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต พร้อมกับถือโอกาสชมภาพจิตรกรรมฝาผนัง บนเพดาน และการประดับตกแต่งอารามที่สรรค์สร้างอย่างวิจิตรงดงามเป็นลวดลายในวรรณคดีไทย ชาดก และประเพณีไทยไปด้วยก็น่าจะอิ่มตาอิ่มบุญแล้ว

ออกจากประตูวัด ข้ามถนนพระรามที่ 4 ก็จะพบกับ จามจุรีสแควร์ ดูภายนอกเหมือนศูนย์การค้าธรรมดาๆ แต่ทว่าพื้นที่ราว 3,000 ตารางเมตรข้างใน บริเวณชั้น 4 และชั้น 5 ตรงมุมตึกฝั่งติดถนนพญาไทนั้น องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ได้เปิดแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้ประชาชนได้เข้าชมฟรีทุกวัน เรียกว่า จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ซึ่งมีกิจกรรมที่เปี่ยมด้วยสาระความรู้ควบคู่กับความบันเทิงในรูปแบบ interactive จัดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
จุดน่าสนใจถัดมาที่อยู่ติดกับจามจุรีสแควร์ ได้แก่ สวนงู สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ที่นี่เป็นสวนงูแห่งแรกของเอเชีย และเป็นสวนงูแห่งที่ 2 ของโลกที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งผลิตเซรุ่มแก้พิษงูโดยเฉพาะ ถ้าใครไม่เป็นคนขี้กลัวสัตว์เลื้อยคลาน ก็น่าแวะเข้าไปดูกัน ค่าบัตรผ่านก็แค่ 40 บาทเท่านั้นเอง (เวลาเปิดทำการจันทร์-ศุกร์ เวลา 09:30-15:30 น. และเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09:30-13:00 น.)
สิ่งที่จะได้ชมกันข้างในก็เป็นการแสดงอันน่าตื่นเต้นมากมาย อาทิ การสาธิตการจับงูโดยเจ้าหน้าผู้เชี่ยวชาญ ไปจนถึงการทำความรู้จักกับงูชนิดต่างๆ ที่มีรูปลักษณ์และพิษร้ายสงแตกต่างกันไป มีทั้งชนิดเลื้อยรวดเร็ว นิ่งซึม และพวกเจ้าเล่ห์แกล้งทำเป็นตายเพื่อเอาตัวรอด อย่าง งูทางมะพร้าว
นอกจากนี้แล้ว ภายในยังมีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับงู ณ ตึก 4 มะเส็ง ให้ได้เสริมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับงูอย่างครบถ้วน ผ่านตู้จัดแสดงธรรมชาติของงู พร้อมโครงกระดูกงูชนิดต่างๆ การแสดงวิธีรีดพิษงู ไปถึงวิธีการปฐมพยาบาลผู้ถูกงูกัดอย่างถูกวิธี
มาถึงตรงนี้ก็ขอแทรกที่มาไว้สักนิดว่า ตึกสี่มะเส็งนั้น แต่เดิมเป็นตึกคนไข้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเกิดจากการทำบุญร่วมสร้างของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ผู้ประสูติในปีมะเส็งเหมือนกันทั้ง 4 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวง เพชรบุรีราชสิรินทร, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมกำแพงเพชรอัครโยธิน นั่นเอง
จุดที่น่าเดินเที่ยวชมกันต่อจากสวนงู ก็น่าจะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเดินเข้าทางด้านถนนอังรีดูนังต์ หรือเดินย้อนมาลัดรั้วเข้าทางด้านหลังตึกจามจุรีสแควร์ ก็เลือกเอาได้ตามสะดวกเลย จุดสนใจในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของไทยแห่งนี้มีอะไรให้ดูให้ชมมากมาย และสัมผัสได้ถึงบรรยากาศอันร่มรื่นของหมู่แมกไม้ภายใน
ถ้าตั้งต้นกันในบริเวณหน้าหอประชุมจุฬาฯ เราจะได้เห็นแนวต้นจามจุรี 5 ต้นริมถนนฝั่งด้านสนามฟุตบอล(ทางด้านขวา 3 ต้น ด้านซ้าย 2 ต้น) ซึ่งเป็นต้นจามจุรีพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ซึ่งพระองค์ทรงนำมาจากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกด้วยพระองค์เองเมื่อราว 55 ปีที่แล้ว ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสในวาระนั้นไว้ว่า

“วันนี้มาปลูกต้นไม้ ไม่มาทำอะไรอย่างอื่น แต่ต้นไม้นี่สำคัญ สำคัญจริง ๆ คือว่าทราบดีว่าต้นไม้นี่ชื่อว่าจามจุรี ก้ามปูนี่ก็เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนี้ ก็ได้นำมาห้าต้น ห้าต้นนี้ได้เลี้ยงตั้งแต่เกิดคือว่าปีที่แล้วไปที่หัวหินแล้วก็ปลูกต้นไม้ พวกนี้ก็เกิดมาด้วย เมื่อเกิดมาแล้วสงสาร ก็ต้องเลี้ยง เลี้ยงจนเติบโตพอควรก็เห็นว่าโตแล้ว ควรเข้ามหาวิทยาลัยเสียที แล้วก็มหาวิทยาลัยที่เหมาะสมกับที่นี่ เพราะว่าเขาเอ็นดูต้นจามจุรี ก็เชื่อว่าต้นไม้ทั้งห้าต้นนี้ นิสิตทั้งหลายคงรักษาไว้ให้เติบโต ไม่ให้ล้มตาย คือต้นไม้พวกนี้ ก็คงจะเป็นความสำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยต่อไป…”
ไม่ไกลจากถนนเลียบสนามฟุตบอลมากนัก จะเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ (เปิดให้เข้าชมฟรีระหว่างเวลา 10.00 น. ถึง 15.30 น. ทุกวันเว้นวันหยุดราชการ) ความน่าสนใจที่สุดของแหล่งรวมความรู้ทางธรรมชาติวิทยาแห่งแรกของไทยนี้ น่าจะเป็นบรรยากาศการจัดแสดงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในมุมมองต่างๆ ในบรรยากาศแบบย้อนยุค แต่ยังเปี่ยมด้วยสาระทางวิชาการ ไม่แพ้พิพิธภัณฑ์อันทันสมัยเลย
เสร็จสิ้นจากการเติมความรู้ทางธรรมชาติแล้ว เดินต่อไปอีกแค่ไม่กี่ก้าว ก็จะพบกับ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ
ที่ตึกภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ แหล่งให้ความรู้ทางด้านภาพถ่ายและการพิมพ์อย่างครบวงจร ที่น่าสนใจมากๆ คือห้องจัดแสดงกล้องถ่ายภาพรุ่นเก่าๆ ซึ่งมีให้ดูมากมายสมกับความเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียที่จัดแสดงนานาสาระความรู้ทางด้านนี้.