สูดกลิ่นอายโบราณ ย่านปากคลองบางกอกน้อย

หากใครนึกสงสัยขึ้นมาว่า ทำไมผู้สร้างเมืองกรุงเทพฯ มีเหตุผลอะไรท่านถึงได้มาเลือกชัยภูมิกันอยู่แถวๆ นี้ จุดเริ่มต้นที่ควรลงไปสำรวจหารากที่มานั้น ก็น่าจะอยู่ในพื้นที่เขตที่มีชื่อตรงกับเมืองกรุงดั้งเดิม ซึ่งก็คือ บางกอก นั่นเอง
โดยเฉพาะในเขตบางกอกน้อย ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดวังเก่าแก่มากมาย และจุดที่น่าให้คำตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคงอยู่แถวๆ ช่วงคลองบางกอกน้อยตัดกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถ้าใครไม่ได้ฟื้นประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปในยุคเริ่มสร้างเมืองเมื่อหลายร้อยปีก่อน ก็คงไม่เชื่อว่า บริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแถวๆ นี้ ตั้งแต่ช่วง รพ.ศิริราช ที่มองเห็นยอดโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่อีกฟากฝั่งน้ำไล่ไปจนถึงบริเวณท่าเตียนนั้น แต่เดิมเคยเป็นแผ่นดินเชื่อมติดต่อถึงกัน ขณะที่คลองบางกอกน้อยซึ่งไหลวกไปทางทิศตะวันตก ลอดสะพานอรุณอัมรินทร์เป็นแนวเกือกม้า ไปออกปากคลองบางกอกใหญ่ ตรงแถวๆ ข้างวัดกัลยาณมิตรฯ บนฝั่งธนบุรีนั้น ก็คือทางไหลของสายน้ำเจ้าพระยาแต่ดั้งเดิม ในยุคก่อนที่ สมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2077 – 2089) ได้โปรดฯ ให้ขุดคลองลัดแม่น้ำขึ้นจากปากคลองบางกอกน้อยไปยังปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งช่วยย่นระยะทางเดินเรือได้ถึง 1 วัน และด้วยทิศทางไหลของสายน้ำที่มุ่งตรงสู่ทะเลย่านปากน้ำ หลังมีการขุดคลองลัดแล้ว ก็ทำให้สายน้ำเจ้าพระยาในคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่แต่เดิม มีปริมาณน้ำไหลผ่านน้อยลง ขณะที่ส่วนคลองขุดใหม่ได้ขยายกว้างขึ้นจนกลืนไปกับลำน้ำเจ้าพระยาในที่สุด
แนวโค้งน้ำเจ้าพระยาที่ไหลโค้งเป็นทรงคล้ายเกือกม้าในอดีตนั้น ได้ทำให้เกิดการสะสมดินตะกอนในบริเวณสองฟากฝั่งแม่น้ำในระหว่างฤดูน้ำหลาก กระทั่งกลายเป็นที่ดอนและมีผืนดินดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในที่สุด และนี่ก็น่าจะเป็นต้นรากที่มาที่น่าจะพอให้คำตอบได้ว่า ทำไมทำให้พื้นที่บริเวณแห่งนี้ได้รับการก่อร่างสร้างเมืองจนกลายเป็นกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

มาถึงตรงนี้แล้ว ก็น่าหาโอกาสไปเดินลัดเลาะเลียบชายน้ำเจ้าพระยาเดิมแถวๆ ปากคลองบางกอกน้อยกันสักรอบ โดยตั้งต้นกันที่บริเวณสะพานอรุณอัมรินทร์ เพื่อให้ได้บรรยากาศ ก็ควรเดินข้ามฟากมาจากทางฝั่ง รพ.ศิริราช แล้วหยุดชมวิวปากแม่น้ำจากบนสะพาน ซึ่งมองเห็นไกลพ้นจากสายน้ำเจ้าพระยาไปจนเห็นยอดตึกใบหยก 2 ซึ่งอยู่แถวๆ ย่านประตูน้ำเลยทีเดียว
เมื่อชมวิวบนสะพานจนหนำใจแล้ว ก็เดินมุ่งลงสะพานมาทางอีกฟาก เมื่อเดินผ่านหน้าประตูทางเข้า กองเรือเล็ก กรมขนส่ง ทร. ทางฝั่งขวามือไปจนสุดเขตแนวรั้ว ก่อนถึง เรือนอินทร์ คอร์ท จะเห็นตรอกแคบๆ กว้างไม่ถึง 2 เมตร ให้เดินตรงเข้าไปเลย ข้างในค่อนข้างคดเคี้ยวเลี้ยวลดพอสมควร แต่ถ้าเดินต่อไปเรื่อยๆ ก็จะสังเกตเห็นป้ายนำทางไปยัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ติดอยู่เป็นระยะๆ และนี่ก็คือจุดน่าสนใจจุดแรกบนเส้นทางนี้ ซึ่งนำพาชาวต่างชาติจากทั่วโลกมาเดินลัดตรอกแถวนี้ให้เห็นกันเป็นประจำ
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นที่จัดแสดงเรือพระราชพิธีสำคัญ 8 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือครุฑเหินเห็จ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรืออสุรวายุภักษ์ และเรือเอกไชยเหินหาว เปิดให้ชมทุกวันตั้งแต่เวลา 9-17 น. สามารถยืนชมหรือถ่ายภาพที่ระลึกจากด้านนอกอาคารได้ฟรี แต่ถ้าเข้าไปชมรายละเอียดเรือแต่ละลำใกล้ๆ ต้องเสียค่าผ่านประตูคนละ 80 บาท
ออกจากประตูพิพิธภัณฑ์ฯ แล้วเดินเลี้ยวขวาต่อไปตามแนวทิศทางเลียบฝั่งคลองบางกอกน้อย ผ่านพื้นที่โล่งกว้างทางซ้ายมือไปไม่ถึง 10 นาที ก็จะเห็นประตูทางเข้า มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ หรือ มัสยิดบางกอกน้อย ซึ่งสามารถแวะเข้าไปชมบรรยากาศริมน้ำบริเวณหน้ามัสยิดได้
หน้าประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า กลุ่มผู้ก่อตั้งมัสยิดแห่งนี้ เป็นชาวมุสลิมนิกายซุนนี ที่พากันล่องเรือหลบหนีการกวาดต้อนจับกุมของทหารพม่ามาตามลำน้ำ ภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตก(ระหว่างสมัยพระเจ้าเอกทัศน์) โดยแต่แรกเริ่มนั้นปักหลักอยู่ยังอีกฟากฝั่งน้ำ(ฝั่ง รพ.ศิริราช) แต่มีความจำเป็นต้องย้ายมา ณ ตำแหน่งปัจจุบัน เพราะพื้นที่เดิมถูกเวนคืนไปสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – เพชรบุรี ในระหว่างสมัยรัชกาลที่ 5

ออกจากมัสยิด เลี้ยวขวาแล้วเดินต๊อกๆ ไปตามทางเรื่อยๆ ผ่านหน้า ชาน บูติค โฮเต็ล ริมน้ำไปนิดเดียว ก็จะเข้าใกล้บริเวณที่เป็นส่วนโค้งน้ำเจ้าพระยาเดิมตรงปากคลองบางกอกน้อย ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ตรงหัวมุมนี้กลายเป็นที่ว่างเปล่า เข้าไปเดินชมค่อนข้างลำบาก และสุนัขดุตามตรอกค่อนข้างชุกชุมพอสมควร
ถ้าไม่แวะเข้าตามตรอกเล็กตรอกน้อย เดินตรงตามเส้นทางหลักไปเรื่อยๆ ก็จะเจอกับสะพานข้ามคลองดุสิต (สถานีสูบน้ำคลองดุสิต) ซึ่งเป็นเส้นทางบังคับเลี้ยวซ้ายนำไปสู่บริเวณ วัดดุสิดารามวรวิหาร วัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่ง ณ มุมหนึ่งตรงท้ายวัด(ริมถนนฝั่งขวามือ)จะเป็นที่ตั้งของ ศาลาเรือโบราณ สามารถเข้าไปเยี่ยมชมและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ข้างในได้
วัดดุสิดารามนั้นเป็นวัดเก่าแก่ย่านใจกลางกรุงที่เหมาะแก่การเที่ยวชมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะตรงบริเวณอันเป็นที่ตั้ง อุโบสถวัดภุมรินราชปักษี ที่ยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายซึ่งมีลักษณะฐานโค้งเป็นทรงสำเภาไว้ได้อย่างงดงาม โดยมีหน้าบันเป็นลายปูนปั้นรูปนารายณ์ทรงครุฑและมยุรารำแพนปิดกระจกสี และมีพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติองค์ใหญ่สีทองอร่าม ซึ่งได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากรในช่วงหลังน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2554 จนกลายเป็นโบราณสถานที่มีสภาพแวดล้อมสะอาดสวยงามอย่างยิ่งในปัจจุบัน
เมื่อเที่ยวชมวัดเก่าแก่จนพอใจแล้ว เดินเท้าไปตามทางอีกแค่อึดใจเดียวก็จะพบกับทางออกปากซอยสมเด็จพระปิ่นเกล้า 1 อันเป็นจุดสิ้นสุดเส้นทางเดินซอกแซกมาจากเชิงสะพานอรุณอัมรินทร์ ซึ่งไม่ได้ยาวไกลอะไรนัก ใช้เวลาเดินเที่ยวกันแบบเพลินๆ สัก 1-2 ชั่วโมงกำลังดี ก่อนจะปิดท้ายกันด้วยรายการของอร่อยๆ ตรงเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ที่มีให้ลองลิ้มอย่างหลากรสหลายบรรยากาศ ชนิดที่เลือกไม่ถูกเลยทีเดียว.