เรียนรู้ รื่นรมย์ ชมพิพิธภัณฑ์กลางกรุง
ไม่ว่าฝนจะตกหรือแดดร้อนเพียงใด พิพิธภัณฑ์ก็ยังเป็นแหล่งขุมทรัพย์ทางความรู้ที่ควรค่าแก่การแวะเข้าไปชมอยู่เสมอ ในกรุงเทพฯ เรานั้นมีพิพิธภัณฑ์ดีๆ อยู่ไม่น้อยเลย
แต่ถ้าจะให้เข้าคอนเซ็ปต์แบบชนิดหาโอกาสออกไปเดินยืดเส้นด้วย คงต้องไปตั้งต้นกันตรงถนนราชดำเนิน แล้วเดินซอกแซกเลือกชมหลากหลายพิพิธภัณฑ์ตามรายทางไปเรื่อยๆ จนถึงบริเวณท้องสนามหลวง ก็นับว่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจไม่น้อยเลย ได้ทั้งการออกกำลังกายและเสริมสร้างภูมิปัญญาอย่างมากมาย
พิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่เห็นโดดเด่นที่สุดริมถนนราชดำเนินกลาง ได้แก่ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ซึ่งอยู่ในอาคารเก่าแก่สูง 4 ชั้นที่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งจัดแสดงนิทรรศการสารพัดเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งนอกจากจะมีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการนำเสนอความรู้อย่างน่าสนใจแล้ว ยังเปิดมุมมองสวยๆ ให้เห็นเกาะรัตนโกสินทร์ในยุคปัจจุบันได้จากห้อง รัตนโกสินทร์สกายวิว จุดชมวิวมุมสูงบนชั้น 4 ที่สามารถทอดสายตาไปยังสิ่งก่อสร้างคู่บ้านคู่เมืองรายรอบ นับตั้งแต่ ภูเขาทอง ป้อมมหากาฬ วัดราชนัดดารามวรวิหาร โลหะปราสาท ลานพลับพลาเจษฎาบดินทร์ ถนนราชดำเนินนอก ไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเลยทีเดียว
นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เปิดให้เข้าชมกันครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ปัจจุบันเปิดให้บริการเกือบทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น.โดยคิดค่าเข้าชม 100 บาทสำหรับบุคคลทั่วไป (www.nitasrattanakosin.com)
เป็นอีกจุดที่น่าแวะเข้าไปชมกันต่อ ได้แก่ ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน หรือบริเวณสุดปลายตึกอีกด้านของอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์นั่นเอง ศูนย์การเรียนรู้ติดแอร์กลางกรุงฯ แห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนโดยกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อใช้เป็นแหล่งสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชาวไทยและเพื่อนบ้านอาเซียน โดยเฉพาะในปีแห่งการเริ่มต้นความร่วมมือกันในฐานะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) เพราะเป็นศูนย์วัฒนธรรมที่เจาะลึกในความเป็นอาเซียนแห่งแรกในอาเซียน และเพิ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการมาได้ไม่ถึงขวบปี ที่นี่จึงอัดแน่นไปด้วยแง่มุมต่างๆ อันน่าสนใจผ่านการนำเสนอด้วยเทคโนโลยีแสดงภาพเสมือนจริงอันทันสมัย ชนิดที่น่าจะเรียกได้ว่าล้ำสมัยที่สุดในบรรดาพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในเกาะรัตนโกสินทร์ ณ เวลานี้ก็ไม่น่าจะผิดนัก ตัวอย่างเช่น การนำเอาเทคนิคภาพวิดีทรรศน์เสมือนจริงชนิดสั่งการด้วยท่าทาง(Kinect Interactive) มาให้ผู้ชมได้ลองสวมใส่ชุดแต่งกายประจำชาติ ทั้ง 10 ประเทศ โดยการยืนกางแขนบนจุดที่กำหนดไว้ เพื่อให้กล้องอ่านสัญญาณได้รับรู้ว่า ผู้เข้าชมต้องการลองสวมใส่ชุดประจำชาติใดจากนั้นภาพเครื่องแต่งกายเสมือนจริงก็จะปรากฏขึ้นบนจอภาพขนาดใหญ่ ซึ่งผู้เข้าชมสามารถใช้กล้องมือถือถ่ายภาพตัวเองเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้ด้วย
นี่เป็นตัวอย่างแค่น้ำจิ้มเท่านั้น ถ้าอยากรู้ว่ายังมีอะไรที่น่าตื่นตากันอีกก็คงต้องลองแวะเข้าไปสัมผัสด้วยตัวเองที่นี่เปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 10.00-17.00 น. (www.elibrary-acc.com)
จากศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน เดินมุ่งหน้าตรงไปสี่แยกคอกวัว ลัดตรอกข้าวสารผ่านตลาดบางลำพูไปสู่บริเวณป้อมพระสุเมรุ ก็จะพบกับพิพิธบางลำพู แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมชุมชนเก่าแก่อีกแห่งของกรุงเทพฯ ตัวอาคารจัดแสดงบูรณะซ่อมแซมขึ้นจากอาคารโรงพิมพ์คุรุสภา (โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช) ซึ่งเคยเป็นสถานที่ฝึกสอนช่างพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ก็คงไม่ต้องสาธยายกันต่อว่าชุมชนแห่งนี้มีอดีตความเป็นมาเก่าแก่ยาวนานสักเพียงใด ใครที่ชอบสัมผัสบรรยากาศน่าถวิลหาของเมืองบางกอกในย่านบางลำพูสมัยที่คุณตาคุณยายยังเป็นวัยรุ่น คงต้องหาโอกาสแวะเข้าไปชมกัน เพราะมีการจำลองบรรยากาศมาจัดเป็นโซนให้เดินย้อนกาลเวลาได้อย่างน่าสนใจ อาทิ เบาะแสจากริมคลอง พาย้อนบรรยากาศกลับไปยังสมัยที่คลองบางลำพูระยิบระยับไปด้วยฝูงหิ่งห้อย, พระนครเซ็นเตอร์ นำเสนอแง่มุมต่างๆ ของบางลำพูในยุคที่ลือเลื่องเฟื่องฟูสุด ด้านต่างๆ ของบางลำพู ไล่ไปจนถึง ย่ำตรอกบอกเรื่องเก่า ลายแทงที่จะพาผู้มาเยือนได้สัมผัสถึงของดีย่านบางลำพูที่ซุ่มซ่อนอยู่ตามตรอกซอกซอยในชุมชนเก่าแก่แห่งนี้
พิพิธบางลำพู เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2557 ปัจจุบันเปิดให้บริการวันอังคาร–วันอาทิตย์ ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. โดยอนุญาตให้เข้าชมฟรีเฉพาะบริเวณชั้นล่าง ถ้าสนใจขึ้นบันไดไปชมชั้นบนต้องเสียค่าเข้าชมคนละ 100 บาท
จากบริเวณถนนพระสุเมรุ มุ่งหน้าตรงไปยังบริเวณก่อนถึงใต้สะพานพระปิ่นเกล้า แล้วเดินเลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 100 เมตร ก็จะพบกับ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หอศิลป์เจ้าฟ้า แหล่งจัดแสดงผลงานศิลปะทั้งแบบประเพณีไทยโบราณ และแบบสากลร่วมสมัยของศิลปินที่มีชื่อเสียงของไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเริ่มเปิดให้สาธารณะชนเข้าชมครั้งแรกราวกลางปี พ.ศ.2521 แต่เนื่องจากตัวอาคารเก่าและบริเวณอาณาเขตที่ใช้จัดแสดงนั้น แต่เดิมเคยเป็นสถานที่ตั้งพระตำหนักของเจ้านายฝ่ายวังหน้า(กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) มาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 หอศิลป์แห่งนี้ก็เลยมีกลิ่นอายของแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะหลายๆ แขนง นอกเหนือจากงานประติมากรรมและจิตรกรรมไทยที่หาชมยากในห้องจัดแสดงภายในอาคารแล้ว สิ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือแง่มุมความเป็นอาคารโบราณที่ยังคงความงดงามทางศิลปะสถาปัตยกรรมตะวันตกที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี หอศิลป์แห่งนี้ เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท
ปิดท้ายรายการเดินซอกแซกเที่ยวนี้กันที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรีอนุสรณ์ ตั้งอยู่ภายในรั้วกรมศิลปากร ข้างๆ สนามหลวงทางด้านที่จะมุ่งไปท่าช้างนั่นแหล่ะ แม้ว่าพื้นที่จัดแสดงอาจไม่กว้างขวางนัก แต่ก็มีความน่าสนใจตรงบรรยากาศจำลองห้องทำงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ชาวอิตาลีสัญชาติไทย ปูชนียบุคคลคนหนึ่งของวงการศิลปะในประเทศไทย ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี พ.ศ.2485 แม้ว่าท่านจะเสียชีวิตไปนานร่วม 55 ปีแล้ว แต่ผลงานของท่านก็ยังปรากฏให้เห็นมากมายในสังคมไทยโดยเฉพาะอนุสาวรีย์สำคัญๆ อาทิเช่น พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 เชิงสะพานพุทธ, พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ตรงหน้าสวนลุมพินี, พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่, อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมืองสุพรรณ, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เมืองย่าโม เป็นต้น
และเนื่องจากท่านเคยเป็นผู้ปั้นบุคลากรทางด้านศิลปะและศิลปินชั้นนำของประเทศไทยไว้เป็นจำนวนมาก พิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้จึงอุดมไปด้วยผลงานรุ่นบุกเบิกอันทรงคุณค่าของเหล่าบรรดาศิลปินในยุคเริ่มแรกของศิลปะร่วมสมัยของไทย ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดในเวลานั้น อย่างเช่น นายเฟื้อ หริพิทักษ์, นายประยูร อุลุชาฎะ, นายชลูด นิ่มเสมอ, นายเขียน ยิ้มศิริ, นายสวัสดิ์ ตันติสุข, นายทวี นันทขว้าง ฯลฯ
หอศิลป์พีระศรี เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 09.00-16.00 (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)