มาเที่ยวฝั่งธนฯ ต้องไปยล “ตลาดพลู”
เข้าสู่หน้าฝนอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ฝนตก รถติด อย่าเพิ่งไปหงุดหงิดให้หน้าย่น หาที่เที่ยวกันให้สบายใจรับต้นฤดูกาลกันดีกว่า และก็เช่นเคย เราแนะนำที่เที่ยวใกล้บ้าน มีเสน่ห์ด้วยประวัติศาสตร์ยาวนานน่าค้นหา แถมเต็มไปด้วยของอร่อยประจำย่าน ที่ใครได้ชิมเป็นต้องติดใจ ไม่ใกล้ไม่ไกลแค่ “ตลาดพลู” นี่เอง ย่านเก่าที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่า และของดี ไม่แพ้ย่านอื่นในฝั่งธนฯ
อารามเก่ายุคกรุงธนฯ
สำหรับผู้ที่ชมชอบย่านเก่า เชื่อเลยว่าเวลาไปตระเวนชมตามสถานที่ทางประวัติศาสตร์ มักจะไม่พลาดในการเข้าไปสักการะวัดเก่าแก่ประจำย่าน เพราะฉะนั้นเมื่อมาถึงตลาดพลู ย่านเก่าตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ควรจะไปเริ่มต้นที่วัดโบราณประจำย่าน 3 แห่ง นั่นคือวัดอินทาราม (วัดบางยี่เรือนอก), วัดจันทาราม (วัดบางยี่เรือกลาง) และวัดราชคฤห์(วัดบางยี่เรือใน) วัดทั้งสามแห่งนี้ เรียกได้ว่าอยู่คู่บุญมากับกรุงธนฯ เป็นร้อยปี มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรค่าแก่การเข้าไปกราบไหว้เพื่อให้เป็นสิริมงคลกับชีวิต
หากเดินทางมาตามถนนเทอดไทจากทางวงเวียนใหญ่ วัดแรกที่เห็นคือวัดอินทารามวรวิหาร ซึ่งตั้งโดดเด่นอยู่ติดถนน คนย่านนี้เรียกว่าวัดอินทร์เป็นที่รู้กัน ภายในวัดนอกจากจะประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อยืนยันว่าเป็นวัดหลวงลำดับต้นๆ ในยุคกรุงธนฯ แล้ว พระอารามแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ซึ่งบรรจุพระสรีรังคารของพระองค์ท่าน โดยอยู่ใต้ฐานชุกชีขององค์พระประธานในพระอุโบสถหลังเก่าของวัดอินทร์
กราบไหว้บุรพมหากษัตริย์ของกรุงธนบุรีกันเป็นที่เรียบร้อย จุดหมายต่อไปคือวัดจันทารามวรวิหารซึ่งสามารถเดินลัดเลาะไปตามทางเดินด้านหลังวัดอินทร์ได้เลย วัดจันฯ ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างวัดอินทารามวรวิหาร และวัดราชคฤห์ สมัยก่อนชาวบ้านย่านตลาดพลูจึงเรียกว่า “วัดบางยี่เรือกลาง” ซึ่งวัดโบราณแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา สิ่งที่น่าชมภายในวัดคือพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ในพระอุโบสถ เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่น่าชมอย่างยิ่ง คือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นศิลปะแบบจีนอันประณีตงดงาม
วัดราชคฤห์เป็นศาสนสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งในย่านนี้ วัดตั้งอยู่ด้านในสุดสมกับชื่อเดิมที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดบางยี่เรือใน เป็นวัดที่มีความเป็นมาเก่าแก่ย้อนหลังไปตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้ทรงสร้างพระเจดีย์บรรจุบรมธาตุที่นำมาจากกรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดียว และสร้างวิหารพระพุทธรูปบรรทมหงายไว้คู่บารมีกัน เรียกว่าหลวงพ่อสุขสบาย ปางถวายพระเพลิง ปัจจุบันผู้คนที่แวะเวียนไปมา จึงนิยมไปสักการะขอพรจากหลวงพ่อเพื่อเป็นสิริมงคล
ของกินไม่มีขาด…ที่ตลาดพลู
ตระเวนไหว้พระจนอิ่มบุญกันดีแล้ว ท้องเริ่มร้องจ๊อกๆ เบาเบา เพราะทันทีที่โผล่พ้นเข้าสู่บริเวณสถานีรถไฟตลาดพลู สายตากวาดไปเห็นร้านอาหารทั้งคาวและหวานเรียงรายอย่างน่าตื่นตา ประเดิมกันด้วย “บะหมี่ตงเล้ง” เจ้าอร่อยข้างสถานีรถไฟ เห็นผู้คนนั่งรอสั่งกันเต็มร้าน เมนูบะหมี่มีให้เลือกหลากหลาย ทั้งบะหมี่เกี๊ยวกุ้ง บะหมี่ต้มยำ รวมทั้งเย็นตาโฟ เกี๊ยวกุ้งของที่นี่สดใหม่ใหญ่บึ้ม เคี้ยวเพลินเกินห้ามใจจริงๆ จัดการบะหมี่เสร็จแล้ว ต้องตบด้วยของหวานล้างปากซะหน่อย เดินย้อนเข้าไปตรงสี่แยกใกล้ๆ สถานีรถไฟ เลยไปไม่ไกลจะเห็นร้าน “ขนมหวานตลาดพลู” ขายขนมไทยต้นตำรับ มีแทบทุกอย่างให้เลือกอร่อย ทั้งทองหยิบ ทองหยอด ขนมชั้น ขนมบ้าบิ่น สารพัดความหอมหวาน สนนราคาแสนถูก แค่ชิ้นละ 6 บาทเท่านั้นเอง
มาถึงย่านโบราณย้อนยุคกันทั้งที ต้องห้ามพลาดไปเยือนร้านอาหารเก่าแก่ประจำย่าน ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ร้านหมี่จีนหลี” ที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 เหตุที่เรียกว่าร้านหมี่ เพราะเมนูเด็ดของที่นี่คือหมี่กรอบสูตรโบราณที่ว่ากันว่าสืบทอดกันมาถึง 4 ชั่วรุ่น หมี่กรอบโบราณเป็นของทานเล่นก็ได้ ทานให้อิ่มก็ดี รสชาติหวานๆ เค็มๆ อร่อยต้องลอง ราคาอาจจะสูงอยู่บ้าง คือกล่องละ 120 บาท แต่มาถึงถิ่นตลาดพลู ไม่ลองหมีกรอบจีนหลีก็เหมือนมาไม่ถึง ซื้อติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่บ้านให้ชื่นใจดีกว่า
อิ่มหนำสำราญจากอาหารหลากหลาย แถมสบายใจที่ได้ทำบุญไหว้พระกันแล้ว อย่าลืมเดิมชมย่านเก่าตลาดพลูกันแบบสโลว์ไลฟ์ เพราะอาคารโบราณในย่านนี้คงความเป็นเอกลักษณ์มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในชุมชนยังแทบไม่มีอาคารสมัยใหม่ผุดขึ้นมาให้รกตา เผลอๆ เมื่อเดินทอดน่องเที่ยวเล่นในตลาดพลู คุณอาจจะรู้สึกเหมือนย้อนยุคเข้าไปเยี่ยมเยือนช่วงเวลาอันเปี่ยมเสน่ห์ในอดีต ชนิดที่หาชมจากย่านอื่นไม่ได้เลย