ชวนเที่ยวเกาะชวา…อินโดนีเซีย
อินโดนีเซีย พี่ใหญ่ของอาเซียนของเรา มีฐานรากทางวัฒนธรรมฝังลึกมายาวนาน ไม่น้อยหน้าใคร โดยก่อนหน้าที่จะเป็นชาติมุสลิมใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบัน หลักความเชื่อแบบศาสนาพุทธ และฮินดูเคยรุ่งเรืองในอดีต โดยเฉพาะบนเกาะชวา โบราณสถานหลายแห่งยังสมบูรณ์ผ่านกาลเวลามานับร้อยนับพันปีคือสักขีพยาน
พูดถึงเกาะชวา ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขา มีภูเขาไฟทั้งที่หมดฤทธิ์แล้ว และยังแอ็คทีฟมีพลังอยู่ก็มาก วันดีคืนดีก็มีระเบิดฮึ่มฮ่ำๆ ขึ้นมาก็หลายครั้งในแต่ละปี
แบ่งเขตปกครองคร่าวๆ ได้ 5 จังหวัด คือ ชวาตะวันออก ชวากลาง ชวาตะวันตก จาการ์ตา (เมืองหลวง) และย็อกยาการ์ตา โบราณสถานสำคัญๆ บนเกาะชวา ต่างได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ทั้งพระมหาสถูปเจดีย์ทางพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงระดับโลก บุโรพุทโธ หรือโบโรบูดูร์ (Borobudur)ในสำเนียงชาวอิเหนา และวัดฮินดู พรามบานัน (Prambanan Temple)
พูดถึงบุโรพุทโธ ถือเป็นเสาหลักวัฒนธรรมอินโดนีเซีย ใครเคยมีโอกาสไปเยือนหรือไปประกอบพิธีทางศาสนาก็จะได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ ตอนขึ้นไปชมด้านบนของบุโรพุทโธก็ยิ่งตื่นตาตื่นใจกับภาพวิวทิวทัศน์แบบพาโนรามาสุดลูกหูลูกตา เพราะตั้งตระหง่านอยู่บนเนินดิน หรือเนินเขาสูงขนาดย่อมน้องๆ เขาวังในจ.เพชรบุรีเลยทีเดียว และยังมีหุบเขาสูงตระหง่านอยู่ไกลลิบๆช่วยเสริมทัศนียภาพตามธรรมชาติได้ดียิ่ง โดยตั้งอยู่ในโซนเมืองมาเกลัง จังหวัดชวากลาง ห่างเมืองยอกยาการ์ตามาทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร
ความเป็นมาโดยสรุป บุโรพุทโธ เป็นพุทธสถานแบบมหายาน สูง 35 เมตร ยาว 122 เมตร และกว้าง 121 เมตร มี 10 ชั้น 10 ฐาน แต่ละชั้นประกอบด้วยภาพแกะสลักนูนต่ำเรื่องราวคติธรรมความเชื่อแนวพุทธ การทำดีทำชั่ว โลก สวรรค์ และนิพพาน มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่รวม 504 องค์ ส่วนชั้นบนสุดมีสถูปใหญ่ตั้งอยู่ (แต่ไม่มีพระพุทธรูปอยู่แล้ว) และมีสถูปเล็กฉลุลายเป็นช่องรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด 72 แห่ง ที่ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ด้านใน (ว่ากันว่าในส่วนนี้ ถ้าใครสามารถเอื้อมมือเข้าไปสัมผัสถึงแล้วอธิษฐานจิตก็จะสมปรารถนา…อันนี้จริงไม่จริงต้องไปลองดู) สร้างในศตวรรษที่ 9 สมัยราชวงศ์ไซเรนทรา ผ่านกาลเวลา หรือเคยถูกทิ้งร้างต่อมาอีกนับร้อยปี ถูกภัยธรรมชาติเล่นงานก็หลายครั้งรวมทั้งเคยถูกฝังกลบใต้ชั้นเถ้าถ่านภูเขาไฟก็ยังผ่านมาแล้ว จวบจนมีการสำรวจในพ.ศ.2357 จึงฟื้นคืนชีพกลับมาได้อีกครั้ง แต่ต้องแต่งเนื้อแต่งตัวอยู่นานพอดูจึงพร้อมรับผู้มาเยือน และมีซ่อมใหญ่อีกถึง 2 รอบถึงดูสมบูรณ์ในปัจจุบัน และแม้เป็นพุทธสถานแต่กลับได้รับความสนใจจากคนอินโดนีเซียที่เป็นมุสลิมไม่น้อยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่ละวันมีพ่อแม่พาลูกๆ ขึ้นมาเที่ยวชม หรือกลุ่มนักเรียนนักศึกษามาเที่ยวชมธรรมดา และมาทัศนศึกษา
ส่วนโบราณสถานที่จะแนะนำต่อไปไม่ใช่วัดพรามบานัน แต่เป็นวัดฮินดูอีกแห่งหนึ่งที่แม้จะดูสำคัญน้อยกว่าแต่เรื่องอายุก่อสร้าง และศิลปะไม่ได้น้อยหน้า นั่นก็คือวัด “จันดี เกดง โซโง” ตั้งอยู่ในเมืองเซมารัง เป็นวัดฮินดูตั้งอยู่บนที่สูงเกือบถึงยอดหุบเขา เป็นศิลปะแบบแกะสลักนูนต่ำตามคติความเชื่อของชาวฮินดูที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ดูไปดูมาคล้ายปราสาทขอมโบราณในไทย และกัมพูชา เลยขอเดาเอาว่าสมัยนั้นน่าจะเชื่อมโยงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งของศิลปะในภูมิภาค
วิถีชีวิตผู้คนในเซมารังก็ไม่แตกต่างจากมาเกลังและเมืองอื่นๆของอินโดนีเซีย คือ อัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใสต้อนรับผู้มาเยือน อย่างระหว่างเข้าไหว้สักการะ และเที่ยวชมวัดเกดงฯ ก็ได้พบเจอกับกลุ่มวัยรุ่น เป็นกลุ่มเด็กมัธยมปลายทั้งผู้หญิงผู้ชายพากันมาถ่ายรูปกับโบราณสถาน โดยน้องผู้หญิงสองคนในกลุ่มนี้ ได้แต่งชุดย้อนยุค หรืออาจเป็นชุดประจำชาติอิเหนาเค้าก็น่าจะใช่ มาเป็นแบบให้เพื่อนถ่ายรูปให้ด้วย พอได้เข้าไปพูดคุยใช้ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาบาฮาซา อินโดนีเซีย ที่เรียนรู้เอาแบบงูๆปลาๆ น้องๆ กลุ่มๆ นี้ ยังพยายามเข้าใจ และตั้งใจที่เรียนรู้สื่อสารกับคนต่างชาติอย่างมีไมตรีจิต เลยทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยว (วัด) วันนี้ดูมีสีสันขึ้นมาเยอะเลยทีเดียว
ส่วนอุปกรณ์สื่อสาร ถ้าเป็น 3-4 ปีก่อน คนอิเหนาค่อนประเทศจะนิยมใช้สมาร์ทโฟนยี่ห้อแบล็คเบอร์รี่ที่วัยรุ่นบ้านเราก็น่าจะจำได้เหมือนกันว่าช่วงแรกเริ่มฮิตระเบิดระเบ้อในกลุ่มคนขาเม้าท์ขาแช็ต จนอาจเรียกได้ว่าเป็นสาเหตุของการเกิดสังคมก้มหน้ายุคแรกแย้มก็ว่าได้! แต่มาตอนนี้ แบล็คเบอร์รีแทบไม่เห็นมีใครใช้แล้ว อาจมีก็ในกลุ่มคนวัยผู้ใหญ่หน่อย ส่วนวัยรุ่นรวมทั้งกลุ่มน้องๆ ที่เจอกันระหว่างเที่ยวชมวัดเกดงฯ เห็นถือสมาร์ทโฟนยี่ห้อดังจากสหรัฐฯ และเกาหลีกันแล้ว เพราะมีแอพพลิเคชั่นจำพวกแช็ตออนไลน์ให้เลือกโหลดมาใช้กันให้พรึ่บ!
เดินเที่ยวชมวัดเกดงฯอยู่จนเวลาเข้าบ่ายแก่ๆ ถึงเวลาอำลา แต่จะเรียกว่าบังเอิญ หรืออะไรก็แล้วแต่ ขาลงเขาได้แวะพักที่ตลาดกลางเมืองหาซื้อของกินแก้หิว ยังได้เจอะเจอน้องๆ กลุ่มเดิมอีกที่ร้านขายเต้าฮู้ หรือผักชุบแป้งทอด เลยได้พูดคุยทักทาย และบอกลากันอีกรอบอย่างไม่คาดฝัน
เมื่อแยกย้ายจากกัน (รอบสอง) ก็เหลือเวลานิดหน่อย เลยทำตัวเป็นพระยาชมเมืองเดินถ่ายภาพบ้านเมือง และตลาดไว้เป็นที่ระลึกซึ่งก็มีทั้งตลาดสดขายผักที่ตั้งขายกันริมถนน บ้างก็ขนใส่เต็มท้ายรถกระบะจอดรอลูกค้า และจุดขายดอกกุหลาบที่ชาวบ้านแถวนี้ปลูกกันเอง นำใส่ตะกร้าหรือไม่ก็ถาดมาตั้งวางขาย ต่อรองราคากันแบบบ้านๆ ก็เป็นบรรยากาศที่หาดูได้ยากแล้วสำหรับโลกยุคใหม่ แต่ที่นี่ยังคงวิถีสโลว์ไลฟ์ไว้ได้อย่างมั่นคง…เสียดายแต่ไม่มีโอกาสเที่ยวชมชวาครบรส ไม่ได้ไปทั้งโบราณสถานพรามบานัน และอดชมวิถีชีวิตบ้านเมืองในย็อกยาการ์ตา เมืองเก่าทางศิลปวัฒนธรรมที่มีสีสันรวมทั้งการเล่นดนตรีข้างถนน หรือที่เรียกว่ามูซีซี จาลานาอัน (Musisi Jalanaan) –สตรีทมิวสิค ที่ใครๆ ต่างหลงใหล…ได้แต่ผ่านๆ และแวะขึ้น-ลงเครื่องบินช่วงขามา และขากลับเท่านั้น…มีโอกาสคงได้เจอกันนะ… ซัมไป จุมปา ยอกยาการ์ตา …แล้วเจอกันนะ ยอกยาการ์ตา!