ทางรถไฟสายมรณะ
ทางรถไฟสายมรณะ รอยจารึกประวัติศาสตร์ที่กาญจนบุรี
กาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่ไม่เพียงแต่มีธรรมชาติที่สวยงาม มีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์จากความหลากหลายทางชาติพันธุ์แล้ว จังหวัดกาญจนบุรียังถือเป็นจังหวัดที่มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเป็นทางผ่านของทหารญี่ปุ่นในการเดินทางไปยังพม่า โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งแม้ช่วงเวลาอันโหดร้ายของสงครามได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังคงมีสิ่งที่หลงเหลืออยู่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ รวมถึงถูกพัฒนาให้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเทียว ดังเช่น ทางรถไฟสายมรณะ ไทย – พม่า ที่สร้างผ่านเมืองกาญจนบุรีแห่งนี้ เป็นต้น
ทางรถไฟสายมรณะ เป็นทางรถไฟที่สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเริ่มจากบ้านหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่านเข้าสู่จังหวัดกาญจนบุรี และมีปลายทางอยู่ที่เมืองตันปิอุซายัต ประเทศพม่า มีระยะทางประมาณ 415 กิโลเมตร ซึ่งในขณะนั้นมีสถานีทั้งสิ้น 23 สถานี ได้แก่ สถานีกงม้า สถานีบ้านโป่งใหม่ สถานีเขาดิน สถานีท้องช้าง สถานีถ้ำผี สถานีหินตก สถานีแคนนิว สถานีไทรโยค สถานีกิ่งไทรโยค สถานีริ่นถิ่น สถานีกุยแซง หินดาดสถานีปรางกาสี สถานีท่าขนุน สถานีน้ำโจนใหญ่ สถานีท่ามะยอ สถานีตำรองผาโท้ สถานีบ้านเกรียงไกร สถานีกองกุยตะ สถานีทิมองตะ สถานีนิเกะสถานีซองกาเลีย และสถานีด่านเจดีย์สามองค์
กิตติศัพท์ของทางรถไฟสายนี้ได้มาจากความโหดร้าย ทารุณ และยากลำบากในการสร้างสะพาน ที่แรงงานผู้สร้างมาจากเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย อเมริกัน ฮอลันดา และไอร์แลนด์ และกรรมกรชาวเอเชีย ได้แก่ ชาวพม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน และไทย ที่รวมแล้วไม่ต่ำกว่าแสนคนที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มา ระหว่างการก่อสร้างต้องเผชิญกับการทิ้งระเบิดของฝ่ายพันธมิตร ฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก โรคภัยไข้เจ็บ และการขาดแคลนอาหาร ทำให้แรงงานบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จนถึงขั้นที่ว่า หากอยากรู้ว่ามีการสูญเสียจากการสร้างทางรถไฟสายนี้ไปเท่าใด ให้นับจากจำนวนหมอนหนุนรางรถไฟ นอกจากนี้ตลอดการก่อสร้างยังเป็นไปด้วยความเร่งรีบ ไม่มีช่วงเวลาในการหยุดพัก ต้องใช้แรงงานผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีทหารญี่ปุ่นคอยควบคุม กำกับการทำงานอย่างใกล้ชิด
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางรถไฟสายมรณะนี้ได้ถูกรื้อถอนเส้นทางบางส่วนออก ทั้งในฝั่งพม่าและฝั่งไทย โดยรัฐบาลไทยได้มีการบูรณะเส้นทางรถไฟจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก จังหวัดราชบุรี ไปจนถึงสถานีน้ำตก จังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้น ทำให้ทางที่เหลือมีสภาพทรุดโทรมและมีป่าปกคลุมตลอดทาง โดยปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยได้เปิดเดินรถเส้นทางจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก – น้ำตก และธนบุรี – น้ำตก เป็นประจำทุกวัน และเส้นทางพิเศษกรุงเทพฯ – น้ำตก ที่ให้บริการเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ที่รถไฟจะออกจากสถานีหัวลำโพง สามเสน บางซื่อ บางซ่อน บางบำหรุ และศาลายา ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยช่วงสถานีกาญจนบุรีจนถึงสถานีปลายทางน้ำตก ระยะทาง 77 กิโลเมตร ถือเป็นเส้นทางไฮไลท์ของทางรถไฟสายมรณะ เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวมีทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสะพานข้ามแม่น้ำแคว และถ้ำกระแซ ที่รถไฟจะเคลื่อนลัดเลาะไปตามเชิงผาเลียบแม่น้ำแควน้อย เป็นระยะทางประมาณ 400 เมตร และขณะที่ผ่านสะพานรถไฟจะชะลอความเร็ว เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากโครงสร้างของสะพานเป็นโครงไม้ ซึ่งในระหว่างนี้ผู้โดยสารสามารถชมวิวที่อยู่เบื้องหน้าได้อย่างเต็มอิ่ม
นอกเหนือจากการนั่งรถไฟแล้ว บริเวณถ้ำกระแซยังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในการขับรถยนต์ส่วนตัวมาเที่ยวยังบริเวณนี้ เพราะสามารถเดินชมทิวทัศน์ตามทางรถไฟ และแวะสักการะพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำกระแซ รวมถึงบริเวณสถานีรถไฟถ้ำกระแซยังเต็มไปด้วยร้านอาหาร ร้านค้า และร้านขายของที่ระลึกต่างๆ มากมาย นอกจากนี้สำหรับผู้ที่มาพักรีสอร์ทใกล้กับถ้ำกระแซยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างการนั่งรถราง ซึ่งเป็นการนำรถสำหรับช่างซ่อมทางรถไฟมาดัดแปลงเป็นรถรางเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว ชมบรรยากาศทางรถไฟสายมรณะอีกด้วย
สำหรับการเดินทางตามเส้นทางรถไฟสายมรณะ ที่เต็มไปด้วยความสวยงามสะกดตาและความหวาดเสียวนี้ สายที่ได้รับความนิยมอย่างสายกรุงเทพฯ – น้ำตก สามารถติดต่อซื้อตั๋วรถไฟได้ที่สถานีรถไฟกรุงเทพในอัตราค่าบริการ รถนั่งธรรมดาชั้น 3 ราคา 120 บาทต่อคน ส่วนรถนั่งปรับอากาศชั้น 2 ราคา 240 บาทต่อคน ซึ่งรถไฟจะออกจากสถานีกรุงเทพฯในเวลา 06.30 น. จากนั้นแวะจอดที่นครปฐมประมาณ 40 นาที เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถแวะนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ หรือเลือกสินค้าของฝากต่าง ๆ ในบริเวณนั้น และเมื่อถึงกาญจนบุรีจะมีจุดจอดที่สำคัญ ได้แก่ บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแควที่จะจอดให้ผู้โดยสารถ่ายภาพบริเวณดังกล่าวตามอัธยาศัย ถ้ำกระแซ หนึ่งในเส้นทางรถไฟที่สวยสะกดตาของประเทศไทย จอดพักที่น้ำตกไทรโยคเป็นเวลา 3 ชั่วโมง และพาผู้โดยสารแวะเยี่ยมชมสุสานทหารพันธมิตร ก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยรถไฟขบวนนี้จะกลับถึงกรุงเทพฯในเวลาประมาณ 19.30 น. โดยนักท่องเที่ยวคนใดที่สนใจ สามารถเข้าไปศึกษากำหนดการในการจอดแวะพักสถานที่ต่าง ๆ ในทริปได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ www.railway.co.th
ทางรถไฟสายมรณะ แม้วันวานจะเต็มไปด้วยเรื่องราวที่โหดร้าย ชวนให้หดหู่ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นสถานที่ที่สร้างรอยยิ้มและความประทับใจให้กับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลก สร้างรายได้ให้กับทั้งภาครัฐและชุมชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ท่องเที่ยวดังกล่าวเป็นจำนวนมาก สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และธรรมชาติ หากมาลองนั่งรถไฟสายนี้ รับรองว่าได้ภาพความทรงจำดี ๆ และและรูปถ่ายติดไม้ติดมือกลับบ้านด้วยอย่างแน่นอน.