สะพานอูเบ็ง สะพานไม้ที่ยาวที่สุดในโลก

หากใครเคยมีโอกาสได้ไปสัมผัสกับสะพานไม้ชื่อดังในเมืองไทย อย่างสะพานมอญ เมืองสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี หรือสะพานซูตองเป้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ต่างก็รู้สึกทึ่งกับความงามของสะพานที่แสดงให้เห็นถึงความศรัทธา สามัคคี และวิถีชีวิตที่แสนเรียบง่ายของประชาชนสองฝั่งสะพาน แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากสะพานไม้สองแห่งนี้แล้ว ยังมีสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในโลกอยู่ไม่ไกลเท่าไรอีกด้วย นั่นก็คือ “สะพานไม้อูเบ็ง” สะพานไม้ที่อยู่ในประเทศพม่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเรานี่เอง
สะพานอูเบ็ง (U Bein Bridge) เป็นสะพานที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองอมรปุระ ประเทศพม่า จุดเด่นของสะพานแห่งนี้คือ เป็นสะพานไม้อายุกว่า 200 ปี ที่ยาวที่สุดในโลก ด้วยความยาวที่มากถึง 2 กิโลเมตร ตัวสะพานทำจากไม้สักจำนวน 1,208 ต้น เพื่อใช้เป็นเสา โดยเป็นไม้สักที่รื้อมาจากพระราชวังเก่าแห่งกรุงอังวะ เมื่อครั้งที่มีการย้ายเมืองหลวงจากเมืองหลวงเดิมคือเมืองอมรปุระ เพื่อไปสร้างราชธานีใหม่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ในรัชสมัยของพระเจ้ามินดัง ที่ครองราชย์สมบัติระหว่างปีพ.ศ. 2396 -2421 สะพานไม้อูเบ็งนี้ เป็นสะพานที่ทอดข้ามทะเลสาบตองตะมาน เพื่อมุ่งไปยังเจดีย์เจ๊าต่อที่อยู่อีกฝากหนึ่งของทะเลสาบ โดยชื่ออูเบ็งมาจากชื่อของขุนนางที่มีนามว่า “อูเบียน” ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับหน้าที่แม่กองงานในการสร้างสะพาน

ไฮไลท์ของสะพานไม้อูเบ็งอยู่ที่ ทัศนียภาพที่สวยงามยามพระอาทิตย์ตกดิน ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวพม่าและชาวต่างชาตินิยมมาที่นี่เพื่อชื่นชม นอกจากทิวทัศน์แล้วเมื่อเดินไปตามสะพานนี้จะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของคนพม่าที่อยู่ในบริเวณนี้ ทั้งชาวบ้านที่สัญจรไปมาด้วยเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ พ่อค้าแม่ขายที่นำสินค้าต่าง ๆ มาขายให้กับนักท่องเที่ยว จิตรกรที่นั่งวาดรูป และเสนอขายผลงานของตัวเองที่มีราคาไม่แพงนัก รวมถึงสามารถพบเห็นพระภิกษุบนสะพานแห่งนี้ เนื่องจากไม่ไกลจากสะพานอูเบ็งเป็นที่ตั้งของวัดมหากันดายน วิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในพม่า
บนสะพานอูเบ็งจะมีศาลาที่พักสำหรับพักเหนื่อย หลบแดดหลบฝนเป็นระยะ ๆ และหากมาที่นี่แล้วยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นการนั่งเล่นชิล ๆ ณ ร้านขายเครื่องดื่มริมทะเลสาบชมทัศนียภาพเบื้องหน้า ที่นอกจากจะมีบริการเครื่องดื่มเพื่อดับกระหายแล้ว ยังมีอาหารทะเลสดจากทะเลสาบที่ทอดร้อนพร้อมเสิร์ฟให้กับนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นปลาหรือกุ้ง และที่ขาดไม่ได้เลยคือการนั่งเรือพายออกไปกลางทะเลสาบ หันหน้าไปสู่ทิศตะวันตกเพื่อรอชมช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ตกที่สวยงามน่าทึ่ง หรือจะมองกลับมายังสะพานอูเบ็งที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาก็เข้าที
การเดินทางมายังสะพานอูเบ็ง หากเริ่มจากประเทศไทย สามารถเดินทางได้โดยนั่งเครื่องบินจากประเทศไทยมายังสนามบินมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นสนามบินที่มีขนาดใหญ่ และทันสมัยที่สุดของประเทศพม่า ห่างจากตัวเมืองมัณฑะเลย์ประมาณ 45 กิโลเมตร การเดินทางโดยเครื่องบินใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ส่วนการเดินทางเข้าเมืองสามารถใช้บริการรถบัส หรือแท็กซี่ได้ ซึ่งบางสายการบินอาจมีการให้บริการผู้โดยสารด้วยการจัดรถรับ-ส่งไปยังตัวเมืองอีกด้วย จากตัวเมืองมัณฑะเลย์มายังสะพานอูเบ็ง ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 20 นาที นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถแท็กซี่ ที่มีทั้งแบบเหมาซึ่งต้องตกลงราคากันให้ดี และแบบมีมิเตอร์ที่ค่าบริการอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 25,000 จ๊าด (Kyat) หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 800 กว่าบาท แต่หากเดินทางมาเป็นหมู่คณะ แนะนำให้ใช้วิธีการเหมารถตู้จากตัวเมืองมัณฑะเลย์มา ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับการตกลง

หากมายังประเทศพม่าสิ่งที่ควรทำอย่างแรกคือการปรับเวลาให้ตรงกับท้องถิ่น เนื่องจากประเทศพม่าเวลาช้ากว่าประเทศไทย 30 นาที การแลกเงินเพื่อใช้จ่ายในประเทศพม่า จะต้องแลกจากเงินบาทเป็นเงินสกุล USD ก่อนแล้วจึงค่อยแลกเป็นเงินจ๊าด เนื่องจากเงินบาทไม่สามารถแลกเป็นเงินจ๊าดได้โดยตรง และไม่ควรแลกเงินกับชาวบ้านที่มาเสนอขอแลกเงิน เนื่องจากผิดกฎหมาย รวมถึงอาจได้รับเงินปลอมหรือเงินที่ถูกยกเลิกการใช้งานไปแล้วอีกด้วย สำหรับการแต่งกายเมื่อมาเที่ยวประเทศพม่าควรแต่งกายด้วยชุดสุภาพ รองเท้าที่สามารถถอดและใส่ได้ง่าย ๆ ไม่พกเครื่องประดับที่มีค่ามามากนัก พร้อมกับพกถุงสำหรับใส่รองเท้าติดตัวไปด้วย เพราะหากแวะไปยังศาสนสถานจะได้สะดวก ปลอดภัย และไม่ขัดกับข้อห้ามของสถานที่นั้นๆ ส่วนการรับประทานอาหารหากมายังพม่าควรลองดื่มชาพม่า ซึ่งขึ้นชื่อในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนเครื่องดื่มโดยทั่วไปให้สังเกตวันหมดอายุทุกครั้ง และพยายามเลือกเครื่องดื่มที่มีฝาปิดมิดชิด
ปัจจุบันนี้การเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในกลุ่มอาเซียนสามารถเดินทางได้สะดวกสบาย มีสายการบินและบริษัทนำเที่ยวให้เลือกใช้บริการมากมายหลากหลาย ซึ่งหากผู้ใดที่มีโอกาสมาเที่ยวหรือทำธุระยังเมืองมัณฑะเลย์ ไม่ควรพลาดที่จะแวะเยี่ยมชมสะพานไม้อูเบ็งแห่งนี้ เนื่องจากความงามของทิวทัศน์ยามพระอาทิตย์ตกของสะพานไม้นี้ ไม่ว่าจะกี่ร้อยกี่พันเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ก็ไม่เท่าได้มาเยือนและเห็นด้วยตาตัวเอง เพราะภาพความงามอันน่าประทับใจที่เห็นอยู่เบื้องหน้าจะติดตาตรึงใจไปอีกนานแสนนาน