พระนครคีรี ห้ามพลาด
จังหวัดเพชรบุรี เป็นเมืองที่มีภูมิประเทศแบบทั้งที่เป็นที่สูงและติดกับทะเล ทำให้มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจกระจายอยู่ทั่วจังหวัด
ไม่ว่าจะเป็นชายหาด เขื่อน เขา หรือแม้แต่วัดวาอารามที่เก่าแก่อยู่คู่เมืองมาช้านาน และ หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นดั่งแลนด์มาร์คของเมืองเพชรบุรีนี้ คงไม่พ้น “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เขาวัง” โบราณสถานเก่าแก่ที่อยู่บนยอดเขาสูง ที่หากมาเมืองแห่งนี้แล้วเป็นต้องขอเดินทางขึ้นไปแวะเยี่ยมชมให้ได้
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เป็นโบราณสถานเก่าแก่กว่า 100 ปี ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ 3 ยอด ที่มีความสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 80 – 90 เมตร ซึ่งยอดที่สูงที่สุดมีความสูงประมาณ 95 เมตร เดิมภูเขาลูกนี้มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นว่า เขาสมน โดยเขาลูกนี้เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในการสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐาน จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองก่อสร้าง ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2403 และพระองค์ทรงพระราชทานนามว่า “พระนครคีรี” อันประกอบไปด้วยพระตำหนัก พระที่นั่ง วัด และกลุ่มอาคารต่างๆ โดยส่วนใหญ่ก่อสร้างในแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เรียกว่า “นีโอคลาสสิค (Neo-Classic)” ผสมกับสถาปัตยกรรมแบบจีน
สำหรับสิ่งปลูกสร้าง และสถานที่สำคัญที่อยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรีแห่งนี้ประกอบไปด้วย
บริเวณยอดเขาทิศตะวันออก เป็นที่ตั้งของ “วัดพระแก้วน้อย” วัดในเขตพระราชฐาน ภายในวัดประกอบไปด้วย เจดีย์แดง ปรางค์จัตุรมุข ที่ทาสีแดงทั้งองค์ “พระสุทธเสลเจดีย์” เจดีย์หินอ่อน สีเทาอมเขียว ที่สร้างขึ้นจากการสลักหินอ่อนเป็นชิ้น จากนั้นประกอบขึ้นที่เกาะสีชัง เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงรื้อลงเรือเพื่อนำมาประกอบใหม่ที่อุทยานฯแห่งนี้ “พระอุโบสถ” ที่ส่วนของหน้าบันมีลายปูนปั้น รูปตราพระมหาพิชัยมงกุฎ อันเป็นตราสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 4 ซึ่งถือเป็นงานปูนปั้นที่มีชื่อเสียงของเมืองเพชรบุรี นอกจากนี้บริเวณไหล่เขายังเป็นที่ตั้งของ “วัดมหาสมณาราม” ซึ่งเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้เป็นที่ประทับเมื่อครั้งทรงผนวช ซึ่งวัดแห่งนี้มักเรียกกันโดยทั่วไปว่า “วัดเขาวัง” โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ภาพเขียนฝาผนังภายใน ฝีมือการเขียนของขรัวอินโข่ง จิตกรไทยคนแรกที่ใช้วิธีการเขียนภาพแบบตะวันตกในแบบ perspective หรือการเขียนภาพที่ให้ความรู้สึกดูมีมิติ มีความลึก ระยะใกล้-ไกล และภาพแบบ Birds-eyes view หรือภาพมุมสูง ซึ่งภาพเขียนเหล่านี้ต่างบอกเล่าถึงการไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา
บริเวณยอดเขากลาง ประกอบไปด้วยพระธาตุจอมเพชร เจดีย์สีขาวที่มองเห็นได้แต่ไกล ซึ่งเป็นเจดีย์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้บูรณะขึ้นจากเจดีย์เก่าที่มีอยู่ก่อนแล้ว จากนั้นอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ และพระราชทานนามเจดีย์นี้ว่า “พระธาตุจอมเพชร”
บริเวณยอดเขาทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของพระราชวังพระนครคีรี ซึ่งประกอบไปด้วย “พระที่นั่งสันถาคารสถาน” เป็นสถานที่ใช้สำหรับต้อนรับแขกที่จะมาพักบนพระนครคีรี มีห้องรับแขกอยู่ตรงกลาง สองข้างเป็นห้องนอน และมีมุขหน้ายื่นออกมา “พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท” อันเป็นปราสาทจัตุรมุขยอดปรางค์ 5 ยอด ตัวปราสาทประดับด้วยลายปูนปั้น ภายในประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หล่อด้วยทองสำริด “พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ ที่ภายในประกอบไปด้วยพระแท่นบรรทมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระที่นั่งนี้ตั้งอยู่ติดกับพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ ที่ภายในจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ อาทิ พระแท่นบรรทม ตุ๊กตาโลหะฝีมือช่างยุโรป เครื่องถ้วยชาม เป็นต้น “หอชัชวาลเวียงชัย” หอที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาและสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ โดยหอแห่งนี้สามารถชมทิวทัศน์ของเมืองเพชรบุรีได้โดยรอบ ในอดีตเวลากลางคืนจะจุดโคมไฟแขวนไว้ภายในโดมกระจก ซึ่งสามารถมองเห็นได้ไกลแม้มองจากทะเล ทำให้ชาวเรือที่ต้องการเทียบเรือเข้าอ่าวบ้านแหลมจะใช้การสังเกตหอชัชวาลเวียงชัยในการกำหนดที่หมาย
นอกเหนือจากสิ่งปลูกสร้าง และอาคารต่าง ๆ ที่กล่าวถึงไปแล้วนั้นอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี ยังประกอบไปด้วยอาคารสถานที่ต่าง ๆ ที่สำคัญและเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวอีกมากมาย อาทิ หอพิมานเพชรมเหศวร์ หอจตุเวชปริพัจน์ ศาลาทัศนานักขัตฤกษ์ และพระที่นั่งราชธรรมสภา เป็นต้น รวมถึงเอกลักษณ์ของที่นี่ที่จะมีบรรดาลิงน้อยใหญ่อาศัยอยู่ การเดินขึ้นมายังอุทยานฯจึงต้องพบกับบรรดาลิงเหล่านี้ซึ่งค่อนข้างดุ ทำให้ต้องมีป้ายเตือนนักท่องเที่ยวให้ระวัง โดยอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.00 น. มีค่าธรรมเนียมในการเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ส่วนชาวต่างชาติ 150 บาท (ไม่รวมค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์) ซึ่งหากนักท่องเที่ยวต้องการเดินทางโดยรถรางไฟฟ้าสามารถซื้อตั๋วไป-กลับ ได้ในราคาผู้ใหญ่ 30 บาท และเด็ก 10 บาท
ผู้ที่สนใจอยากสัมผัสความสวยงามของพระราชวังบนยอดเขาสูงของไทยแห่งนี้ สามารถเดินทางมาที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี โดยการขับรถจากกรุงเทพฯมาตามทางหลวงหมายเลข 35 หรือถนนสายธนบุรี-ปากท่อ จากนั้นแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ไปจังหวัดเพชรบุรี โดยอุทยานฯ จะตั้งอยู่บริเวณริมถนนเพชรเกษมสายเก่า หรือถนนเข้าตัวเมือง ส่วนการเดินทางโดยรถสาธารณะ สามารถนั่งรถโดยสารประจำทาง หรือรถตู้สายที่มุ่งสู่ตัวเมืองเพชรบุรี เมืองหัวหิน ซึ่งระหว่างทางจะผ่านอุทยานฯแห่งนี้