ปราสาทเขาพระวิหาร
หากเอ่ยชื่อของโบราณสถานที่กลายเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก “ปราสาทเขาพระวิหาร” โบราณสถานที่อยู่บริเวณพื้นที่ทับซ้อนชายแดนไทย-กัมพูชา จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องยื่นฟ้องศาลโลกเพื่อตัดสินหาประเทศผู้ได้สิทธิ์ในการครอบครอง
ซึ่งในปัจจุบันตกอยู่ภายใต้การครอบครองดูแลของกัมพูชา แม้ทางขึ้นจะขึ้นได้ทั้งฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชา ทว่านักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้จากเฉพาะทางฝั่งกัมพูชาเท่านั้น
ปราสาทเขาพระวิหาร หรือที่ในภาษาเขมร เรียกว่า เปรียะวิเหียร ซึ่งมีความหมายว่า สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ปราสาทโบราณแห่งนี้ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงเร็ก ซึ่งเป็นแนวเขาที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทย และประเทศสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ลักษณะของปราสาทมีความยาว 800 เมตร จากพื้นราบถึงยอดปราสาทสูง 547 เมตร โดยสูง 657 เมตรจากระดับน้ำทะเล ปราสาทเขาพระวิหาร มีรูปแบบของศิลปะแบบบันทายศรี ซึ่งบางส่วนคล้ายคลึงกับปราสาทนครวัด การก่อสร้างใช้หินทรายและดินดาน ด้วยเทคนิคการนำก้อนศิลาทรายตัดเป็นแท่งสี่เหลี่ยมให้มีขนาดไล่เลี่ยกันจากนั้นค่อยๆวางซ้อนกันขึ้นไป และจากรูปแกะสลักที่พบเห็นบนปราสาท สันนิษฐานได้ว่า เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ซึ่งให้ความเคารพนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุดของศาสนา ดังจะเห็นได้จากลักษณะการก่อสร้างปราสาทที่เปรียบเหมือนกับการค่อย ๆ ก้าวไปสู่ที่ประทับของพระศิวะบนยอดเขาไกรลาส
ปราสาทแห่งนี้ ประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ ได้แก่ ปราสาทประธาน ระเบียงคด โคปุระ อาคารรูปกากบาท วิหาร บรรณาลัย และบันไดนาค โดยมีทางเดินและอาคารสร้างเรียงกัน 4 ระดับ โดยก่อนเข้าสู่ตัวปราสาทนั้น จะมีโคปุระ หรือซุ้มประตูคั่นอยู่ถึง 5 ชั้น ซึ่งแต่ละโคปุระจะประกอบด้วยบันไดหลายขั้นที่เพิ่มระดับความสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ
บริเวณด้านหน้าของปราสาท จะเป็นบันไดทางเดินขนาดใหญ่ลาดไปตามไหล่เขา ซึ่งเกิดจากการสกัดหินลงไปในภูเขา มีจำนวน 162 ขั้น สองข้างบันไดมีฐานตั้งรูปสิงห์ทวารบาล เพื่อเป็นผู้ดูแลรักษาเส้นทาง ทางทิศใต้ของบันไดจะปรากฏสะพานนาคราช หรือลานนาคราช ขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 31.80 เมตร สองข้างสะพานสร้างเป็นฐานเตี้ย ๆ โดยมีนาค 7 เศียร จำนวน 2 ตัว อยู่บนฐานทั้งสองข้าง ซึ่งนาคราชที่อยู่บนฐานนี้จะมีลักษณะคล้าย ๆงู ตามลักษณะของศิลปะขอม แบบปาปวน
ในส่วนของโคปุระทั้ง 5 ชั้น ประกอบไปด้วย ชั้นที่ 1 ตั้งอยู่บนไหล่เขา มีลักษณะเป็นศาลาจัตุรมุข รูปทรงกากบาท สร้างอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ลักษณะของทางขึ้นชั้นที่ 1 ด้านทิศตะวันออกจะคล้ายกับบันได แต่ค่อนช้างชัน และมีส่วนที่ชำรุดอยู่หลายจุด เส้นทางนี้เป็นทางที่ใช้สำหรับขึ้น-ลงสู่ที่ราบในกัมพูชา ส่วนด้านทิศใต้เป็นทางเดินขนาดใหญ่ ปูด้วยหินศิลาทราย มีขนาดยาว 275 เมตร กว้าง 11.10 เมตร ขอบทั้งสองข้างทำเป็นเขื่อนยกสูงขึ้นเล็กน้อย บนสันเขื่อนปักเสาศิลาทราย ก่อนถึงโคปุระชั้นที่ 2 จะมีสระน้ำอยู่ทางตะวันออก ชื่อว่า สระทรง ซึ่งเป็นสระสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 16.80 เมตร ยาว 37.80 เมตร โดยสระนี้ใช้สำหรับชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อนทำพิธีทางศาสนา ชั้นที่ 2 มีลักษณะเป็นศาลาจัตุรมุข ที่มีกำแพงด้านทิศใต้เพียงด้านเดียว สองข้างทางขึ้นลง จะพบรอยหลุมสำหรับใส่เสาเพื่อเป็นปะรำพิธี ชั้นที่ 3 เป็นโคปุระขนาดใหญ่และมีความสมบูรณ์ที่สุด ลักษณะในการสร้างไม่ต่างจากโคปุระชั้นที่ 1 และ2 เพียงแต่มีผนังล้อมรอบ ซึ่งนักโบราณคดีถือว่าโคปุระชั้นนี้เป็นดั่งปราสาท ชั้นที่ 4 เป็นส่วนที่ได้รับความเสียหายค่อนข้างมากจากแผ่นดินทรุดและกาลเวลา ในส่วนของชั้นที่ 4 จะประกอบไปด้วยส่วนที่สำคัญ ได้แก่ มนเทียรหน้า เฉลียงซ้ายและขวา มนเทียรกลาง และบรรณาลัย โดยที่ชั้นนี้มีร่องรอยของตัวหนังสือขอมโบราณสลักอยู่บนกรอบประตูทางทิศเหนือของปรางค์ประธาน และชั้นที่ 5 ประกอบด้วย ระเบียงคด ปรางค์ประธาน มนเทียรตะวันออก และมนเทียรตะวันตก
นอกเหนือจากตัวปราสาทแล้ว จุดที่นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมมาเยี่ยมชม ก็คือ บริเวณ เป้ยตาดี ซึ่งเป็นชะง่อนผา ที่เคยมีรอยสลักฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ สลักว่า 118-สรรพสิทธิ์ แต่ได้ถูกกะเทาะทำลายไปแล้ว และจุดเป้ยตาดีนี้แต่ก่อนเคยมีธงไตรรงค์ของไทยอยู่ที่บริเวณนี้อีกด้วย แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ฐานธงเท่านั้น ส่วนการเดินทางมายังปราสาทเขาพระวิหาร จากจังหวัดศรีสะเกษนักท่องเที่ยวสามารถใช้เส้นทางด่านชายแดนช่องสะงำได้ ระหว่างเวลา 07.00 – 20.00 น. โดยการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในกัมพูชา เพื่อความสะดวกแนะนำให้ใช้การเช่ารถ หรือซื้อบริการจากบริษัททัวร์
ระหว่างที่เกิดข้อพิพาทเรื่องสิทธิ์ในการเป็นผู้ครองปราสาทเขาพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา ปราสาทแห่งนี้ได้ปิดทางขึ้นทางฝั่งประเทศไทย ทำให้นักท่องเที่ยวจากฝั่งไทยต้องอาศัยวิธีการใช้กล้องส่องทางไกลส่องดูจากผามออีแดง อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งล่าสุดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 กัมพูชาได้อนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นปราสาทเขาพระวิหารได้ แต่จะต้องขึ้นจากฝั่งกัมพูชาเพียงทางเดียวเท่านั้น ดังนั้นใครที่สนใจอยากสัมผัสปราสาทเขาวิหารและกำลังรอให้กลับขึ้นไปเที่ยวได้อีกครั้งก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่ไม่ควรพลาด