“เชียงคาน” เมืองเล็กๆ ริมแม่โขง
ช่วงนี้หนุ่มสาวชาวกรุงต่างนิยมการท่องเที่ยวแบบทำชีวิตให้ช้าลง ไม่เร่งรีบ หรือสโลว์ไลฟ์ (Slow life) ด้วยการไปเที่ยวต่างจังหวัด ทำกิจกรรมที่สามารถใกล้ชิดกับธรรมชาติ ย้อนวันวาน
ลืมความวุ่นวายและเร่งรีบแบบเมืองกรุงทิ้งไป เพราะเหตุนี้จึงทำให้เมืองที่มีวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ และเมืองเก่าแบบอนุรักษ์กลายเป็นที่นิยมขึ้นมาทันที ซึ่งเชียงคานก็เป็นหนึ่งในชื่อของสถานที่ที่เหล่าหนุ่มสาวผู้รักการท่องเที่ยวแบบสโลไลฟ์ต่างลิสต์ไว้ในรายการเมืองที่ต้องมาเที่ยวให้ได้สักครั้ง
เชียงคานเป็นหนึ่งในอำเภอของจังหวัดเลย และตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ชื่อของเชียงคานมาจากคำว่า “เชียง” เป็นคำนำหน้าชื่อเมืองตามธรรมเนียมของล้านนา ล้านช้าง ส่วนคำว่า “คาน” นั้น มาจากชื่อของผู้สร้างเมือง คือ ขุนคาน กษัตริย์แห่งเมืองเชียงของ เมืองเชียงคานในปัจจุบันเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เสื่อมคลายมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งขนบธรรมเนียบประเพณี และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม รวมถึงชุมชนยังพยายามอนุรักษ์ไม่ต่อเติมเปลี่ยนแปลงสภาพบ้านเมืองให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมอีกด้วย โดยเมืองแห่งนี้พึ่งได้มีการจัดงานฉลอง 100 ปี ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2552 แต่ละฟากฝั่งถนนของเมืองเชียงเต็มไปด้วยที่พัก ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึก โดยบ้านเรือนฝั่งที่อยู่ชิดริมแม่น้ำโขงมักนิยมดัดแปลงบ้านให้เป็นโฮมสเตย์ เนื่องจากมีจุดขายอยู่ที่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ตามแนวแม่น้ำโขงที่ทอดยาวสุดลูกหูลูกตา ซึ่งถนนในเมืองเชียงคานที่เป็นถนนหลัก เรียกว่า “ถนนศรีเชียงคาน” เป็นถนนที่มีซอยย่อยเล็ก ๆ ทะลุไปยังถนนคู่ขนานที่เรียกว่า “ถนนชายโขง” ซึ่งเป็นเส้นที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินเล่นชมบรรยากาศริมแม่น้ำโขง และแวะถ่ายรูป มีระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร โดยซอยเหล่านี้มีตั้งแต่ ซอยถนนศรีเชียงคาน 1 ไปจนถึงซอยถนนศรีเชียงคาน 24
นอกจากการเดินทอดน่องไปตามถนนในเมือง และนั่งจิบกาแฟชิล ๆ ดื่มด่ำกับห้วงเวลาที่ดูเหมือนจะหมุนช้าลงในเมืองแห่งนี้แล้ว กิจกรรมยอดฮิตที่เมื่อมาถึงที่นี่ก็คือ การปั่นจักรยาน ที่หากใครไม่มีจักรยานมาด้วยก็สามารถหาเช่าได้ง่าย ๆ ในเมืองนี่เอง เนื่องจากเมืองแห่งนี้มีขนาดเล็ก การปั่นจักรยานเที่ยวเลาะเลี้ยวไปตามตรอกซอกซอยเพียงไม่นานก็ได้เห็นภาพรวมทั่วทั้งเมือง ซึ่งคนในเมืองแห่งนี้นั้นแสนจะเป็นมิตร พร้อมที่จะส่งยิ้ม และคอยทักทายนักท่องเที่ยวไปตลอดทาง สร้างรอยยิ้มกับความอบอุ่นใจให้กับผู้มาเยือน อีกทั้งยังเป็นออกกำลังกายที่ผ่อนคลายสุด ๆ เพราะอากาศในเมืองนั้นช่างเย็นสบาย และห่างไกลจากมลพิษฝุ่นควัน
ตักบาตรข้าวเหนียวยามเช้า เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่พลาดไม่ได้ เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมแต่ช้านานของชาวเมืองเชียงคาน ที่จะตื่นกันมาแต่เช้าตรู่ปูเสือเรียงต่อ ๆ กันหน้าบ้านริมถนน เพื่อตักบาตรข้าวเหนียว โดยส่วนใหญ่โฮมสเตย์มักจะมีการเตรียมกระติ๊บข้าวเหนียวไว้ให้ผู้เข้าพักได้ร่วมทำบุญในตอนเช้าด้วย
ซื้อของเพลินๆ ถนนคนเดินเชียงคาน ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ 09.00 – 21.00 น. ซึ่งเริ่มตั้งแต่ซอย 5 ไปจนถึงซอย 20 มีสินค้าแฮนด์เมดและอาหารการกินให้เลือกมากมาย รวมถึงมีการตกแต่งหน้าร้านให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกได้อีกด้วย
หากยังมีเวลาเหลือสถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบเชียงคานก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น ภูทอก จุดชมทัศนียภาพของเมืองเชียงคานและทะเลหมอกในยามเช้า นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางจากตัวเมืองเชียงคานมายังภูทอกด้วยรถสองแถวในราคาประมาณ 25 บาทต่อคน แต่ถ้าใครมั่นใจในความฟิตของตัวเองก็สามารถปั่นจักรยานมาเที่ยวได้
แก่งคุดคู้ แก่งหินขนาดใหญ่จำนวนมากกลางลำน้ำโขง อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงคานประมาณ 3 กิโลเมตร พื้นที่กว้างเกือบจรดสองฝั่งโขง มีกระแสน้ำเชี่ยวกรากไหลผ่าน ช่วงที่น้ำแห้ง ราวเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม จะสามารถมองเห็นเกาะแก่งได้อย่างชัดเจน
วัดพระพุทธบาทภูควายเงิน อยู่ที่บ้านผาแบ่น ตำบลบุฮม อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงคาน ประมาณ 8 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวนิยมมาสักการะพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ที่เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน และรอยพระพุทธบาทที่มีขนาดกว้าง 65 เซนติเมตร และยาว 120 เซนติเมตร ประดิษฐานบนหินลับมีด ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปีพ.ศ. 2478 วัดแห่งนี้เปิดให้เข้าไปเยี่ยมชมสักการะได้ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น.
นอกเหนือจากสถานที่ข้างต้น เชียงคานและพื้นที่โดยรอบยังมีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมาก อาทิ วัดศรีคุณเมือง วัดภูช้างน้อย วัดท่าแขก วัดท่าคก วัดสันติวนาราม พระใหญ่ภูคกงิ้ว และหมู่บ้านวัฒนธรรมไทยดำ เป็นต้น และที่ขาดไม่ได้เมื่อมาที่นี่ คือการลิ้มลองอาหารขึ้นชื่อที่หากไม่ได้ลองจะเหมือนมาไม่ถึงเชียงคาน ได้แก่ ข้าวเปียกเส้น หรือก๋วยจั๊บญวน เกาเหลาเลือดหมู ข้าวจี่ร้านเด็ดระหว่างซอย 6 กับซอย 7 และแหนมคลุกข้าวทอดสูตรเด็ดแม่แห่ว ที่ครองใจนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นมาช้านาน รวมถึงข้าวปุ่นน้ำแจ่ว หรือขนมจีนน้ำใส อาหารพื้นเมืองที่หาได้เฉพาะที่เชียงคานที่เดียวเท่านั้น
การเดินทางมายังเชียงคาน หากขับรถยนต์ส่วนตัวมาก็สามารถเลือกใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านจังหวัดขอนแก่นแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 201 มายังจังหวัดเลย ใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง หรือจะโดยสารรถประจำทางซึ่งขึ้นรถมายังเชียงคานได้จากต้นทางที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 มีให้บริการทั้งรถธรรมดา และรถปรับอากาศแบบ VIP สำหรับรถไฟให้นั่งมาลงจังหวัดอุดรธานี หรือหนองคายก่อน จากนั้นต่อรถประจำทางเพื่อไปยังเชียงคาน และหากเลือกโดยสารเครื่องบิน ก็สามารถมาลงที่สนามบินอุดรธานี แล้วค่อยต่อรถประจำทางไปยังเชียงคานได้เช่นกัน
หลายต่อหลายคนที่ได้มาพักผ่อนสูดอากาศบริสุทธิ์ และใช้ชีวิตสโลไลฟ์ย้อนบรรยากาศวันวานที่เมืองเชียงคาน มักเล่ากันว่า การมาที่นี่เหมือนเป็นการชาร์จแบตให้กับตัวเอง ซึ่งหากคุณอยากรู้ว่าจริงหรือไม่ เมืองเล็กๆ สุดชายแดนไทยแห่งนี้มีดีอย่างไร คงต้องลองมาสัมผัสด้วยตัวเอง ไม่แน่คุณอาจจะหลงรักเมืองแห่งนี้ไปเลยก็ได้.