ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่บ้านแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่
เชียงใหม่ เมืองท่ามกลางขุนเขา สายหมอกและละอองแห่งอากาศบริสุทธิ์ เปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์เมืองเหนือที่ไม่ว่าใครได้มาเยือนเป็นต้องประทับใจในความงามยากลืมเลือน
นอกจากเชียงใหม่จะมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามตระการตาไม่ว่าจะเป็นศาสนสถานและสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในตำบลเล็ก ๆ ท่ามกลางเทือกเขาสูงและอากาศหนาวเย็นที่รอให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัส นั่นก็คือหมู่บ้านแม่กำปอง
ชมทัศนียภาพท่ามกลางเทือกเขาสูง ดอยแม่กำปองสูงจากระดับน้ำทะเลมากถึง 1300 เมตร เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งอยู่ในตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ รายล้อมไปด้วยภูเขาสูง นอกจากจะมีอากาศที่หนาวเย็นแล้ว ยังเต็มไปด้วยป่าไม้เขียวชะอุ่มอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญในเมืองเชียงใหม่ โดยทิศเหนือของหมู่บ้านจะติดกับแม่น้ำลาย ส่วนทิศใต้ติดกับบ้านแม่รวม จุดเด่นที่ทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจ ได้แก่สภาพอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีและมีภูมิทัศน์รายล้อมสวยงามชวนประทับใจ
บ้านแม่กำปองนามนี้มีที่มา หมู่บ้านแห่งนี้มีอายุร่วมร้อยกว่าปี โดยประชากรในหมู่บ้านล้วนแล้วแต่อพยพมาจากอำเภอดอยสะเก็ด และต่างก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อมาทำสวนเมี่ยง พร้อมเลือกชัยภูมิในการตั้งหมู่บ้านเป็นละแวกที่ใกล้เคียงกับลำห้วย ทั้งนี้ ในช่วงที่มาก่อตั้งหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านพบดอกไม้สีเหลืองแดงขึ้นอยู่ริมห้วยสวยงามชวนประทับใจ ซึ่งดอกไม้ดังกล่าวนั้นมีชื่อว่าดอกกำปอง ชาวบ้านที่อพยพมา จึงตั้งชื่อหมู่บ้านด้วยการผสมชื่อของดอกไม้และแม่น้ำลำธารอันมีบุญคุณและเป็นแหล่งให้กำเนิดชีวิตของพวกเขา หมู่บ้านนี้จึงมีชื่อว่า บ้านแม่กำปอง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ชิมเมี่ยงอาหารหลักของชาวบ้านแม่กำปอง สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเยือนดอยแม่กำปอง ได้แก่ การศึกษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำเมี่ยงหมัก ซึ่งชาวบ้านจะเริ่มต้นจากการเก็บใบเมี่ยงที่ปลูกไว้บริเวณไร่ของตนเองบนภูเขา การเก็บใบเมี่ยงจะต้องเริ่มเก็บในตอนเช้า กว่าจะกลับมาก็เป็นช่วงย่ำค่ำ จากนั้น ชาวบ้านจะเตรียมนึ่งและหมัก ว่ากันว่า เมี่ยงที่หมักนาน ๆ รสชาติของเมี่ยงจะยิ่งทวีความอร่อยและกลมกล่อมมากขึ้น แต่ทว่า ด้วยจำนวนของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เมี่ยงใช้เวลาหมักระหว่าง 15 วันถึงราว ๆ 1 เดือนก็ต้องรีบนำออกจำหน่ายแล้ว เมี่ยงที่ชาวบ้านนิยมทำไว้รับประทาน จะเป็นเมี่ยงรสเปรี้ยวที่จะมีวิธีการรับประทานแบบง่าย ๆ นั่นก็คือการนำเมี่ยงมาอมกับเกลือและเคี้ยวในยามว่าง รสชาติจะค่อนข้างคล้ายคลึงกับเมี่ยงคำของคนไทยในภาคกลาง สำหรับผู้ที่ไม่เคยรับประทานมาก่อนก็อาจจะไม่คุ้นลิ้นเท่าใดนัก สิ่งที่ทำให้ชาวบ้านที่นี่ยังคงรับประทานเมี่ยงสืบต่อกันมา เพราะในใบเมี่ยงมีสารบางอย่างที่เมื่อทานแล้วช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า และสามารถทำงานได้นานมากขึ้น
สักการะศูนย์รวมจิตใจของบ้านแม่กำปอง ที่หมู่บ้านแม่กำปองแห่งนี้ มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจแห่งหนึ่ง ชื่อวัดกันธาพฤกษา ซึ่งมีอายุเก่าแก่เทียบเท่ากับจุดเริ่มก่อตั้งชุมชนเลยทีเดียว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่วัดแห่งนี้จะเป็นวัดที่ชาวบ้านเคารพและศรัทธา สำหรับลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบล้านนาสะท้อนให้เห็นจุดเด่นจากพระอุโบสถซึ่งสร้างขึ้นมาจากน้ำ นอกจานี้ บริเวณวิหารหลังเก่าสวยงามอลังการก็ก่อสร้างขึ้นจากการใช้ไม้ทั้งหลัง สำหรับหน้าจั่วได้รับการแกะสลักเป็นลวดลายวิจิตรตระการตา สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้เข้าชมและเห็นได้ชัดเจนถึงความศรัทธาที่ชุมชนมีต่อวัดคู่หมู่บ้านแห่งนี้
ชีวิตเรียบง่ายที่สัมผัสได้เพียงเอื้อมมือ บ้านแม่กำปอง โดดเด่นด้วยการจัดสรรค์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระเบียบ พร้อมกันนั้นก็ยังมีการรักษาความสะอาดและความสวยงามไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคุณภาพของหมู่บ้านนี้เกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจและการระดมพลังความคิดของคนในหมู่บ้าน ซึ่งแกนนำสำคัญ ได้แก่ พ่อหลวงพรมมินทร์ พวงมาลา ที่สำคัญ หลักการดำเนินชีวิตของคนในหมู่บ้านนี้ จะยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นที่ตั้งและประยุกต์รวมเข้ากับการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด ไม่ไหลไปตามกระแสทุนนิยม แต่จะคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ในการดำเนินวิถีชีวิตอันเรียบง่าย ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงหมูหลุมที่ชาวบ้านจะได้ทั้งเนื้อสุกรและปุ๋ยอินทรีย์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรต่อไป
กรุ่นกลิ่นกาแฟดอยแม่กำปอง นอกจากจะทำการเพาะปลูกเมี่ยงแล้ว ผลิตผลด้านเมล็ดกาแฟจากบ้านแม่กำปองก็เลืองลือเรื่องรสชาติไม่ต่างกัน ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการเพาะปลูกที่ระดับความสูง 1,200 – 1,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ทำให้ต้นกาแฟสามารถเจริญงอกงามได้เป็นอย่างดี สำหรับนักท่องเที่ยวที่หลงใหลในกลิ่นหอมและรสชาติกาแฟเข้มข้น การเลือกชิมกาแฟที่ดอยแม่กำปองคือสิ่งที่ไม่ควรพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้นั่งจิบกาแฟพร้อมชมความงามของทัศนียภาพเทือกเขาสลับซับซ้อนเบื้องหน้าท่ามกลางสายหมอกแห่งความหนาวเย็น นับเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่จะทำให้รสชาติกาแฟเพิ่มดีกรีความประทับใจได้ไม่รู้ลืม
บ้านแม่กำปองตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ไปเพียง 50 กิโลเมตรโดยประมาณ การเดินทางมาสัมผัสความงามที่นี่ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเดินทางได้ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยขับมาตามถนนหมายเลข 1317 ซึ่งจะเชื่อมระหว่างอำเภอเมืองเชียงใหม่และอำเภอแม่ออน สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนหมู่บ้านแม่กำปองจะประทับใจในวิถีชีวิตเรียบง่าย นาฬิกาเคลื่อนคล้อยไปอย่างช้า ๆ ราวกับได้หยุดจังหวะเร่งรีบของชีวิตไว้กับธรรมชาติที่แสนงดงาม ห้วงเวลาอ่อนโยนที่จะเปลี่ยนความเหนื่อยล้าจากการทำงานในเมืองหลวงมาพบกับความสงบเงียบแสนงาม ความจริงใจและมิตรภาพที่มีให้อย่างล้นเหลือจากชาวบ้าน นับเป็นช่วงเวลาล้ำค่าที่หาไม่ได้ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน.