ป็อบคอร์นสายเลือดอีสาน
การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จใช่ว่าจะมีสูตรสำเร็จที่ตายตัว แม้ว่าเราเองจะพยายามลอกเลียนแบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้วก็ตามที แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่เป็นไปดังตัวอย่างที่ก้าวตาม
นี่เป็นคำกล่าวของคุณฤกษ์วัส อินทะกนก เจ้าของธุรกิจ “ป็อบคอนเนอร์ (POP CONNER) ผู้ที่สร้างธุรกิจเป็นของตัวเองจากความชื่นชอบส่วนตัวกับการรับประทานป็อบคอร์น ประกอบกับได้พบเห็นกระแสความนิยมการบริโภคสินค้าดังกล่าวจากทั้งที่ผลิตในประเทศ และนำเข้ามาขายจากต่างประเทศ ทำให้ป็อบคอร์นสัญชาติอีสานได้ถือกำเนิดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่นเป็นแห่งแรก โดยสามารถสร้างยอดขายได้ถล่มทลาย ทำให้เกิดแนวคิดในการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชน์ และด้วยเวลาเพียงไม่นานป็อบคอนเนอร์ก็สามารถขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชน์ไปได้แล้วกว่า 170 สาขาทั่วประเทศ
ฉีกกฎการตลาดสร้างความต่าง
ด้วยแนวคิดทางการตลาดที่ไม่ต้องซับซ้อน โดยใช้หลักการง่ายๆ ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ เพื่อสลัดภาพลักษณ์ของป็อบคอร์นที่ส่วนใหญ่จะมีจำหน่ายกันในราคาที่สูง และหารับประทานยาก จะต้องเฉพาะเจาะจงเวลาไปชมภาพยนตร์เท่านั้น หรือหากจะซื้อยี่ห้อที่นำเข้ามาจากต่างประเทศราคาก็อาจจะเกินเอื้อมถึงสำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่สูงมากนัก ขณะที่หากจะหาแบบราคาถูกไปเลยก็จะเป็นแบบที่คั่วแล้วมัดถุงขายในราคา 10-20 บาท ซึ่งแพคเก็จจิ้งไม่ค่อยน่าสนใจนัก ดังนั้น โจทย์ที่มีของธุรกิจจึงค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่ต้นในการเป็นป็อบคอร์นระดับกลางที่สามารถซื้อหาได้สะดวกทุกเวลาที่ต้องการ
หลังจากนั้นจึงเริ่มศึกษาตลาดและแหล่งวัตถุดิบ ทำให้รู้ว่าสามารถจำหน่ายป็อบคอร์นในราคาที่ไม่สูงมากนักได้ด้วยวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากต่างประเทศแบบเดียวกัน ลำดับถัดไปจึงมองหาแนวทางที่จะสร้างความแตกต่างจากป็อบคอร์นที่มีจำหน่ายกันในตลาด ซึ่งจุดหนึ่งที่พบคือส่วนใหญ่จะตกแต่งร้านด้วยการกางโต๊ะขายธรรมดาและใช้โทนสีขาวแดงเสมือนเป็นกฎตายตัวที่ต้องปฎิบัติตาม ป็อบคอนเนอร์จึงฉีกกฎดังกล่าวด้วยการทำร้านในรูปแบบของการย่อขนาดรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยวมาใช้ในการขายป็อบคอร์น เพื่อความสะดวกสบายในการเคลื่อนย้าย โดยมีร่ม มีหลังคาและเลือกโทนสีเหลืองฟ้ามาใช้ในการตกแต่งร้าน และแพคเก็จจิ้งที่เป็นกล่องใส่ป็อบคอร์น เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ชัดเจนให้กับร้าน
“ด้วยความที่สินค้าและรูปลักษณ์ของร้านมีความแตกต่าง เมื่อเริ่มเปิดขายจึงขายดีมากเพราะตอนนั้นถือว่าเป็นของแปลกและราคาไม่แพงจนเกินไป จากสาขาแรกที่อำเภอเมืองขอนแก่นจึงขยายไปสู่อำเภออื่น ตำบลอื่น และจังหวัดอื่นในรูปแบบแฟรนไชน์อย่างรวดเร็ว เพราะขายในราคา 20-30 บาท เนื่องจากต้นทุนป็อบคอร์นไม่ได้สูงก็ดูว่าทำไมต้องขาย 80-100 บาทเหมือนโรงหนัง เราจึงขายแค่ราคาเท่านี้หากเป็นตามท้องตลาดทั่วไป แต่หากเป็นพื้นที่ในห้างก็อาจจะขาย 40-50 บาท แค่นี้ก็ขายได้สบายเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยที่รสชาติก็ไม่ได้แตกต่าง ส่วนวัตถุดิบก็เป็นการนำเข้ามาเช่นเดียวกัน ซึ่งการที่เรานำเข้ามาในปริมาณมากจึงทำให้ลดต้นทุนได้”
ชูรสชาติให้เลือกแบบอลังการ
จุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของป็อบคอนเนอร์คือรสชาติที่หลากหลาย ที่มาพร้อมกับวัตถุดิบนำเข้าชั้นดีจากต่างประเทศให้ลูกค้าได้เลือกในราคาที่สามารถจับต้องได้ จากเดิมที่ในตลาดขายอยู่จะมีแค่รสธรรมดา รสเค็ม รสบาร์บีคิว รสคาราเมล ดังนั้น เพื่อสร้างความแตกต่างตั้งแต่เริ่มต้น ป็อบคอนเนอร์จึงคิดรสชาติออกมาถึง 12 รสชาติเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้ลิ้มลอง ทั้งรสชาติทั่วไปอย่างรสเค็ม รสหวาน รสชีส รสคาราเมล และยังมีรสชาติที่แปลกใหม่ซึ่งไม่คิดว่าจะมาผสมอยู่ในป็อบคอร์นได้อย่างรสลาบ รสสาหร่าย รสซาวครีม รสพิซซ่า รสต้มยำ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีป็อบคอร์นแบบเมล็ดเห็ด ป็อบคอร์นรูปแบบเดียวกับแบรนด์กาเรตอีก 8 รสชาติที่ปรับปรุงสูตรให้เข้ากับผู้บริโภคชาวไทย อาทิ คาราเมล อัลมอลวินิลา แอปเปิ้ล ชอคโกแลต เป็นต้น เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ส่งผลให้ป็อบคอนเนอร์เป็นเจ้าเดียวที่มีป็อบคอร์นในรูปแบบของเมล็ดผีเสื้อแบบที่จำหน่ายในโรงหนัง หรือท้องตลาดทั่วไป และป็อบคอร์นแบบเมล็ดเห็ดดังกล่าว
“ข้อดีของเราหากมองในมุมของธุรกิจคือคุมคุณภาพง่าย และเราเป็นผู้บริหารร้านด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะขายเองก็ง่ายหรือให้ลูกน้องขายก็ง่ายไม่ต้องมีของเสีย ไม่เหนื่อยเรื่องสต็อก บางอย่างขายดีแต่เปลืองด้วยสต็อก แต่ป็อบคอร์นวัตถุดิบทุกอย่างเป็นของแห้งหมด โดยเราคิดสูตรเองซึ่งเนยสามารถเก็บได้โดยที่ไม่ต้องแช่เย็น เราไม่เคยต้องทิ้งของอะไรเลย วัตถุดิบทุกรายการสามารถเก็บได้ 6 เดือนขึ้นไป แปลว่าซื้อมาเท่าไหร่สามารถซื้อมากักตุนได้ เราไม่อยู่ให้พนักงานขายแทนก็สามารถตุนของไว้ล่วงหน้าได้ ไม่มีปัญหา ที่สำคัญเราได้เรื่องของสด และกำไรค่อนข้างสูง”
ต้นทุนต่ำกำไรสูง
อย่างไรก็ดี แม้ว่าป็อบคอนเนอร์จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในทางธุรกิจ แต่ด้วยแนวคิดที่ไม่หยุดนิ่งทำให้ป็อบคอนเนอร์ก่อประกายไอเดียในการต่อยอดธุรกิจตามแนวทางถนัดในไลน์สินค้าที่เกี่ยวกับขนม และพัฒนารูปแบบแฟรนไชน์เพิ่มเติมเป็นแบบ 2 in 1 หรือเรียกว่าเปิด 1 สาขาได้ 2 ธุรกิจ ภายใต้แบรนด์ “แคนดี้ป็อบ” (CANDY POP) โดยเพิ่มเติมในส่วนของขนมสายไหม เพื่อเป็นการเสริมทัพขนมเรียกลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในกลุ่มเด็กประถมไปจนถึงมัธยมและกลุ่มวัยรุ่น
สำหรับผลกำไรที่จะได้รับจากการขายนั้น หากเป็นในส่วนของป็อบคอร์นอัตรากำไรจะอยู่ที่ประมาณ 60-70% ต่อการขาย 1 กล่อง หรือเรียกว่าขายได้ 100 บาท กำไรจะอยู่ที่ประมาณ 60-70 บาท จากต้นทุนเพียง 30 บาท ขณะที่สายไหมจะมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 75-80% ต่อกาขาย 100 บาท เนื่องจากต้นทุนถูกกว่าป็อบคอร์น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กำไรที่ได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับทำเลที่ขายว่าจะสามารถบวกราคาเพิ่มขึ้นไปได้อีกประมาณเท่าใด
นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมขยายธุรกิจไปสู่รูปแบบของไอศครีมทั้งไอศครีมผัด และไอศครีมป็อบคอร์น ซึ่งเป็นสูตรที่บริษัทคิดค้นขึ้นเอง โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการ และคาดว่าจะสามารถออกจำหน่ายได้เร็วๆนี้ เรียกว่าเป็นการสร้างอนาจักรของขนมแผ่ขยายมากยิ่งขึ้น
“แนวคิดในการขยายธุรกิจของเราจะมองไปที่ความต้องการของกลุ่มลูกค้า ซึ่งเป้าหมายหลักก็คือกลุ่มเด็กประถมขึ้นไปจนถึงวัยรุ่น เพราะฉะนั้นเราจึงดูว่ายังมีอะไรที่ลูกค้าของเราชอบ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของธุรกิจเกี่ยวกับขนมหลากหลายรูปแบบ”.