บันไดสู่ “อายุน้อยร้อยล้าน” รู้จักตนเอง-หาลูกค้าให้เจอ
วลีที่ว่า “อายุน้อยร้อยล้าน” ไม่ว่าใครก็ถวิลหา และอยากสัมผัสรสชาติของความหอมหวานนั้นสักครั้ง เพราะนั่นหมายถึงการประสบความสำเร็จบนเส้นทางแห่งการทำธุรกิจ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนที่จะสามารถทำได้ หากไม่มีการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดี เพื่อดึงดูดความสนใจ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
คอลัมน์ “Startup” ครั้งนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับเจ้าของฉายา “อายุน้อยร้อยล้าน” คนแรกของประเทศไทย ดำรงค์ พิณคุณ คือชื่อของผู้ชายผู้นั้น โดยความน่าสนใจก็คือ “ดำรงค์” ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดอย่างไรถึงสามารถทำให้ตนเองสร้างรายได้แตะหลัก 100 ล้านบาทจนได้
จาก 3 แสนสู่ 120 ล้าน
ดำรง บอกว่า ในปี 2540 เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาอย่างหนัก จนถึงขั้นที่เรียกได้ว่าทำให้ธุรกิจหลายธุรกิจต้องวินาศสันตะโรจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทของรัฐบาล ซึ่งมีผลทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจาก 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ไปอยู่ที่ 50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เจ้าของธุรกิจเสมือนถูกปืนยิง และถือว่าเป็นสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเป็นที่มาของวิกฤติต้มยำกุ้ง
สำหรับในช่วงเวลาและสถานการณ์ดังกล่าวนั้น เรียกว่าแทบจะไม่มีผู้ใดเลยที่หาญกล้าเข้ามาทำธุรกิจ แต่มีเด็กหนุ่มอยู่คนหนึ่ง ซึ่งก็คือตนเองในเวลานั้น โดยมีอายุประมาณ 26 ปี กลับเริ่มต้นทำธุรกิจของตนเองภายใต้เงินลงทุนประมาณ 3 แสนบาท ที่ไปหยิบยืมมาจากพ่อของภรรยา เพื่อนำมาลงทุนนำเข้าเก้าอี้นวดไฟฟ้าแบบหยอดเหรียญ ที่คุ้นเคยกันดีในห้างสรรพสินค้ามาจำหน่าย ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของผู้ใดเลย
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันเวลาผ่านไป 3 ปี ตนกลับสามารถสร้างได้ให้กับตนเองได้ประมาณปีละ 120 ล้านบาท ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยเป็นคำถามที่สะท้อนกลับมา ซึ่งหลายคนต่างก็สงสัยว่าสามารถทำได้อย่างไร แม้กระทั่งตนเองที่ทำลงไปจนสำเร็จ และจึงเป็นที่มาที่ทำให้สนใจไปค้นคว้าศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งการศึกษาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนในที่สุดก็สามารถหาคำตอบได้ว่ามนุษย์ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยกระบวนการทางความคิดที่เป็นระบบ
“จากการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ตนได้รับสมญานามว่าอายุน้อยร้อยล้านคนแรกของไทย”
ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้
จากการศึกษาหาข้อมูลจนได้ความรู้มากมาย ในช่วงอายุ 35 ปี ตนจึงได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับแนวคิดและกระบวนการที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ โดยภายในระยะเวลา 8 ปี ตนสามารถออกหนังสือได้ทั้งหมด 60 ปก เพื่อนำไปจำหน่ายที่ต่างประเทศ จนได้เป็นคนไทยคนแรกที่มีหนังสือของตนเองที่แปลเป็นถาษาต่างประเทสแล้วกว่า 10 ภาษา เช่น จีน สเปน ไต้หวัน โปรตุเกส เป็นต้น เพื่อจำหน่ายใน 50 ประเทศทั่วโลก
“ในปี 2551 ได้จัดตั้ง สำนักพิมพ์ ดำรงค์ พิณคุณ นำเสนอผลงานหนังสือ 2 รูปแบบ คือ 1. แนวทางการบริหารธุรกิจ ทั้งการบริหารจัดการ การวางกลยุทธ์ และการตลาด (Business) 2. แนวทางการพัฒนาตนเอง การพัฒนาแนวคิด และเพิ่มศักยภาพในตนเอง (Self Improvement)”
“ดำรงค์” บอกว่า ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ในการทำธุรกิจ และมีความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวเอง เพียงแต่ต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าจนเองเป็นคนประเภทไหน และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการเข้าถึงเป็นอย่างไร เพื่อกำหนดกลยุทธ์การขายได้อย่างถูกวิธี และตรงจุดความสำคัญ เพื่อปิดการขาย การทำอะไรที่ไม่ใช่ตัวตน แต่พยายามจะลอกเลียนแบบผู้อื่นที่ประสบความสำเร็จ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคนทุกคนไม่เหมือนกัน วิธีการไปให้ถึงจุดที่ประสบความสำเร็จจึงแตกต่างกัน
คำถามที่ว่า เอสเอ็มอี (SMEs) ยังขาดอะไรที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ คงต้องมองไปตั้งแต่จุดเริ่มต้น ซึ่งบางรายยังไม่ทราบตัวตนของตนเอง หรือผลิตสินค้าออกมาเพื่อจำหน่ายให้กับผู้ใด หรือเรียกว่ายังมองหาตลาดของตนเองไม่พบ ไม่รู้จักวิธีการบริหารจัดการ โดยหากเอสเอ็มอีต้องการประสบความสำเร็จ จะต้องรู้จักการมองการณ์ไกลกว่าที่เคยรู้ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายจากการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม โดยจะทำให้มองเห็นอนาคต และนำไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้บริโภค หรือเรียกว่า เอสเอ็มอีจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีความฉลาดกว่าที่เคยเป็นทุกอย่าง
“สังเกตุง่ายๆโดยให้ลองมองย้อนกลับไปดูว่าจาก 10 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน มีอะไรที่ดีขึ้นบ้าง หากยอดขายยังเท่าเดิม ธุรกิจยังเล็กเหมือนเดิม ยังมีหนี้สินเหมือนเดิม ยังต้องหมุนเงินเหมือนเดิม หมายความว่า ชีวิตไม่ได้ดีขึ้น ดังนั้นจะต้องทำทุกอย่างที่ไม่เหมือนเดิม และหวังจะให้ผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงไป โดยจะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ระบบความคิด เพราะคนเราคิดอย่างไรก็จะทำแบบนั้น หรือพูดอย่างนั้น”
หากลุ่มลูกค้าให้เจอ
ดำรงค์ บอกอีกว่า กลยุทธ์การทำตลาดให้ประสบความสำเร็จนั้น ไม่มีวิธีการที่สลับซับซ้อนมาก เพียงแต่ต้องหากลุ่มลูกค้าให้เจอเท่านั้น โดยมีสูตรสำเร็จก็คือ สินค้าคูณลูกค้าเท่ากับรายได้ หรือจะกล่าวก็คือ หากสินค้าห่วยเมื่อลูกค้ามาพบเจอก็จะไม่มีการซื้อสินค้า แต่ก็อาจจะทำให้เกิดการซื้อขายได้หากได้พบกับกลุ่มลูกค้า หรือหากสินค้าดีในระดับปานกลาง แต่หาลูกค้าไม่เจอก็ขายไม่ได้ เช่นเดียวกับกรณีที่สินค้าดีมาก แต่หาลูกค้าไม่เจอก็ขายไม่ได้ ดังนั้น สมการจะต้องสมดุลกัน
ยกตัวอย่างเช่น การที่ตนมีอาชีพขายหนังสือ และวิเคราะห์แล้วว่าไทยมีจำนวนของผู้ที่อ่านหนังสือน้อย จึงทำการหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ใดที่มีคนอ่านหนังสือมากที่สุด ทำให้ได้พบคำตอบว่าประเทศอังกฤษเป็นประเทศที่คนนิยมอ่านหนังสือมากที่สุด ตนจึงตัดสินใจไปยังแหล่งที่จะทำให้ได้พบกับลูกค้า โดยเป็นงานสัปดาห์หนังสือที่ขายเฉพาะลิขสิทธิ์งานเขียน ซึ่งการไปครั้งแรกเมื่อปี 2557 ตนสามารถขายลิขสิทธิ์เพื่อจำหน่ายได้ 24 ประเทศทั่วโลก
“สิ่งที่ตนทำก็คือ การสร้างความแตกต่าง ไม่ทำหนังสือเหมือนแบบทั่วไป โดยนำเสนอในรูปแบบใหม่ ด้วยการออกแบบรูปเล่ม และปกด้วยตนเอง ใช้ภาพสื่อความหมายมากกว่าตัวหนังสือ เนื่องจากผู้อ่านส่วนมากจะเกิดอาการเบื่อหรือง่วงนอนเมื่อต้องเจอกับตัวหนังสือปริมาณมาก
อย่างไรก็ดี ดำรงค์ ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น Damrong Pinkoon เพื่อรองรับตลาดในยุคดิจิทัล ซึ่งจะมีหนังสือรูปแบบ e-book ทั้งภาษาไทย, อังกฤษ, จีน และ ญี่ปุ่น เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่นิยมการอ่านหนังสือผ่านทางสมาร์ทโฟนมากกว่าแบบรูปเล่มเหมือนในอดีต