“บัซซี่บีส์”แบรนด์ไทยกระหึ่มเออีซี
ในช่วงนี้ ถ้าได้ติดตามข่าวสาร วงการไอที จะได้ยินคำว่า Startup อยู่บ่อยมาก ซึ่ง Startup ในที่นี้ หมายถึง บริษัทเปิดใหม่ โดยมากจะใช้ในบริษัทวงการไอที ซึ่งมีที่มาจากสถานที่แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า Silicon Valley เป็นแหล่งรวมตัวของบริษัทด้านไอทีชั้นนำต่าง ๆ มากมาย บริษัทไอทีดัง ๆ ระดับโลกหลายแห่งก็ผ่านการเป็น Startup มาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google, Zynga และอีกหลายบริษัท
สำหรับประเทศไทย Startup เหมือนเป็นสิ่งใหม่ แต่คุณเชื่อหรือไม่ว่า วันนี้ เรามี Startup คนไทย ที่ประสบความสำเร็จและสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศ กว่า 7 ประเทศ และยอดขายมากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเรากำลังพูดถึง “บัซซี่บีส์” (Buzzebees) ผู้ให้บริการ ด้านซอฟแวร์ แอพลิเคชั่นแบบครบวงจรบนโทรศัพท์มือถือ โดยการเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างร้านค้าและรับสิทธิประโยชน์จากร้านค้าแบบง่ายๆ ซึ่ง เปิดตัวครั้งแรก ในเดือนธ.ค.2555 ด้วยการออกแบบพัฒนา CRM Platform แบบ Tailor-made ให้กับองค์กรต่างๆ ปัจจุบันมีผู้เข้าใช้งานถึง 15 ล้านคน ถือว่าเป็นฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“บัซซี่ส์” ซอฟแวร์อัจฉริยะ
นางณัฐธิดา สงวนสิน กรรมการผู้จัดการ ฃบริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมา ลักษณะการให้บริการของ ของบัซซี่บีส์ คือ ร้านค้าและแบรนด์สามารถออแบบรูปแบบการใช้งานต่างๆ ได้ทันที อาทิ 1. สร้างสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าของแบรนด์ 2. สร้างแบรนด์ Loyalty 3. เพิ่มการมีส่วนร่วมของลูกค้า และ 4. การเพิ่มขึ้นของการตระหนักรับรู้แบรนด์ ด้วยรูปแบบนี้ทุกคนก็จะสามารถบันดาลร้านค้าหรือแลกรับสิทธิประโยชน์ให้เกิดขึ้นสมบูรณ์
โดยผ่านการพัฒนาซอฟแวร์ ระบบบริหารจัดการลูกค้า แบบอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้ง่ายดาย สะดวก รวดเร็ว และคุ้มค่า อย่างครบวงจร เหมาะสำหรับทุกธุรกิจ ซึ่งการให้บริการจะแบ่งออกเป็น 5 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1. CRM Mobile Privilege 2.Privilege Marketplace (E-Commerce) 3.Online Survey & Digital Media 4. E-Wallet 5.Application Installation
สำหรับลูกค้าบัซซี่บีส์ ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจปัจจุบันมีกว่า 20 องค์กร ได้แก่ SOL, ซัมซุง, เอไอเอส, มี๊ด จอห์นสัน, ปตท., เมืองไทยประกันชีวิต, กรุงไทยแอกซ่า, กสิกรไทย และเพลย์บอย เป็นต้น ตั้งเป้าไว้ในปี 2559 จะมีลุกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 30 องค์กร และมีรายได้กว่า 390 ล้านบาท โดยมีลุกค้าใหม่เข้ามาใช้บริการเพิ่มเดือนละ 2 ราย ปัจจุบัน บัซซี่บีส์ มีรายการพรีวิลเลจและบริการ 20,000 แคมเปญ และมีสมาชิกเข้ามาชมสิทธิพิเศษต่างๆ 20 ล้านครั้งต่อเดือน และมีผู้เข้าชมมากกว่า 200,000 คนต่อวัน ที่ผ่านมามีสมาชิกนำคะแนนสะสมมาแลกสิทธิพิเศษไปแล้วกว่า 1 พันล้านแต้ม นอกจากนี้ยังได้มีการให้บริการ โดยการขยายตัวออกไปยังตลาดต่างประเทศผ่านพันธมิตรทางธุรกิจอีกกว่า 7 ประเทศ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา แอฟริกา กาน่า แคมมารูน ไอวอรี่โคสต์
ตั้งเป้าขึ้นแทนเบอร์1 ในเออีซี
ทั้งนี้ระบบแพลตฟอร์มของบัซซี่บีส์ถือเป็นแอพพลิเคชั่นอันดับ 1 ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่ชื่นชอบการแลกของรางวัล และได้รับการจัดอันดับให้เป็นแอพฯ อันดับ 1 ของ iTunes และ Google Play Store ในหมวด Lifestyle หลายครั้ง ระบบได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ การันตีได้จากรางวัลที่ได้รับได้แก่ รางวัลชนะเลิศ Thailand ICT Awards 2015 และThailand ICT Awards 2012, รางวัล Microsoft Partner Award 2015 และ Microsoft Partner Award 2013,รางวัล ASEAN ICT Silver Awards 2013 โดยคัดเลือกจาก 10 ประเทศในอาเซียน และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย
“เราคือผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาและบริการสำหรับธุรกิจทุกประเภท ตั้งแต่การทำโฆษณาแนะนำสินค้าใหม่ การเปิดร้านค้าออนไลน์ ไปจนถึงการส่งมอบสินค้าและบริการให้ถึงมือลูกค้า โดยเราถือคติว่า “หากเราสามารถผลักดันส่งเสริมให้คู่ค้าของเราไปถึงยังเป้าหมายได้ นั่นแหละคือความสำเร็จของเรา” ณัฐธิดา กล่าว
สำหรับบัซซี่บีส์ ถือว่า เป็น Startup ที่เป็นผู้ประกอบการคนไทยที่ประสบความสำเร็จ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี โดยมีรายได้ตั้งแต่หลัก ร้อยล้านบาท ตั้งแต่ ปีแรกที่เปิดให้บริการ ส่วนหนึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ มาจาก “ณัฐธิดา” และ “ไมเคิล เชน” หุ้นส่วน มองเห็นโอกาส ทางการตลาดประกอบกับ มีพื้นฐานด้านการพัฒนาซอฟแวร์อยู่แล้ว จากการเป็นบริษัท ผู้ผลิตซอฟแวร์ให้กับองค์กรด้านความปลอดภัยมาก่อน และการตัดสินใจเข้ามาทำตรงนี้ จึงไม่ใช่เรื่องยากในการพัฒนาซอฟแวร์ มาใช้กับ บัซซี่บีส์ในครั้งนี้
“ณัฐธิดา” เล่าว่า ปัญหาของเราไม่ใช้เรื่องการพัฒนาระบบซอฟแวร์ แต่ปัญหา เรื่องการตลาด และการติดต่อสื่อสารกับเอสเอ็มอี ที่ให้เข้ามาร่วมรายการกับเรา รวมถึง บริการจัดส่ง และการสต็อกสินค้า แต่ทุกอย่างก็ค่อยคลีคลายไปเรื่อย หลังจากได้พยายามทำทุกอย่าง เพื่อให้บริการของเราครบวงจร เพื่อที่จะเป็นรายแรก และตัวเลือกเดียวของประเทศไทยในขณะนี้ ที่มีบริการดังกล่าว ลดขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยาก และให้กับลูกค้าได้ สุดท้ายประสบความสำเร็จ เพราะสามารถให้บริการต่างๆ ตามที่ลูกค้าต้องการได้อย่างครบถ้วน และมีบริษัทชั้นนำของประเทศไทย เข้ามาใช้บริการกับเราส่วนอัตราค่าบริการ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน รายได้หลัก มาจาก พันธมิตรธุรกิจ จ่ายเป็นค่าบริการที่มาใช้บริการแอพลิเคชั่น ค่าใช้จ่ายส่วนนี้มีตั้งแต่หลักแสน ไปจนถึงหลักล้านบาทต่อเดือน และรายได้อีกส่วน มาจากค่าบริการเช่าพื้นที่ของผู้ประกอบการรายย่อย หรือ เอสเอ็มอีที่เข้ามาร่วมรายการ โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย ตามข้อตกลงของแต่ละรายไม่เหมือนกัน
เจาะตลาดใหม่ฟิลิปปินส์-อินโดนีเซีย
“ณัฐธิดา” เล่าถึง แผนในอนาคตวางไว้ คือ การขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่ม ประเทศ AEC นั้น ว่า เดิมมีการเปิดตลาดในต่างประเทศ อยู่แล้ว ผ่านลูกค้าที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ โดยเฉพาะประเทศ ลาว กัมพูชา และพม่า เช่น ซัมซุง ลูกค้าทั้ง 3ประเทศ ใช้หลักการแลกของรางวัล ผ่านแอพลิเคชั่น เดียวกับเรา ซึ่งส่วนใหญ่ ลูกค้าฝั่งลาว กัมพูชา หรือ พม่า ที่อยู่ติดชายแดน มีการเดินทางข้ามมาซื้อสินค้าที่ประเทศไทย อยู่แล้ว ก็จะมาแลกของรางวัล ที่บ้านเรา แต่บางส่วนมีการติดต่อกับเอเย่นต์ในประเทศนั้น ช่วยดิวกับเจ้าของสินค้าในประเทศนั้น ช่วยจัดส่งสินค้าให้ ส่วนลูกค้าที่เป็นท้องถิ่น ใน 3 ประเทศ นั้น มีไม่มากนัก หลักจะมีที่ประเทศลาว สินค้า คือ เบียร์ลาว เพราะเบียร์ลาวมีการจัดโปรโมชั่น สั่งซื้อเบียร์และแลกของรางวัล พอเขารู้ว่าเรามีบริการตรงนี้ เขาก็เลยเรียกเราเข้าไปช่วยจัดการให้ โดยปัญหาหลักของการบริการในต่างประเทศ ที่ผ่านมา คือ การจัดส่งสินค้า ซึ่งเราก็ยังคงใช้เอเย่นต์ในประเทศนั้น ช่วยจัดส่ง และปัญหา อีกอย่างหนึ่ง ของการทำตลาดในต่างประเทศ คือ ภาษา ตรงนี้ ในอนาคตมีแผนที่จะทำแอพลิเคชั่น เป็นภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศด้วย สำหรับ 3 ประเทศ เรายังคงไม่ได้ไปทำตลาดอย่างจริงจังในช่วงนี้ อาศัยพันธมิตรทางธุรกิจไปก่อน เนื่องจากตลาดที่เล็งไว้ และเร่งเข้าไปทำตลาด ก่อน คือ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่เลือกทั้ง 2 ประเทศนี้ เพราะมีอัตราการเติบโต และไลฟ์สไตล์การใช้โทรศัพท์มือถือ ในการทำกิจกรรมนั้นสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน และมีประชากรอยู่จำนวนมาก ที่สำคัญ ยังไม่คู่แข่ง น่าจะทำตลาดได้ไม่ยาก และอัตราค่าบริการบัซซี่บีส์ ก็ไม่แพง เมื่อเทียบกับ บริษัทชั้นนำในต่างประเทศ
“การที่เราเริ่มต้นทำตลาด AEC ในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบกับ เรามีความพร้อมและเชื่อว่า เรามีประสบการณ์ในการทำตลาดในต่างประเทศ ผ่านการทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้ว มองไปที่ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เพราะทั้ง 2 ประเทศ มีไลฟ์สไตล์การใช้โมบายโทรศัพท์มือถือที่คล้ายกับประเทศไทย และมีธุรกิจท้องถิ่น ที่มีการจัดแคมเปญสะสมคะแนน แลกของขวัญ เหมือนกับประเทศไทยที่สำคัญ ยังไม่มีบริการครบวงจรแบบบัซซี่บีส์ในประเทศนั้น จึงมีแผนที่จะเข้าไปทำตลาดอย่างจริงจังในประเทศนั้นๆ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเข้าไปศึกษาตลาดก่อน คาดว่าจะนำระบบเข้าไปให้บริการได้ในเร็วๆ นี้ ส่วนสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับทั้ง 2 ประเทศนี้ เพราะเป็นประเทศเล็ก มีประชากรน้อย และที่สำคัญเขามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยอยู่แล้ว น่าจะมีตัวเลือกอื่นๆ แต่ถ้ามีโอกาส เราคงจะเข้าไปเช่นกัน แต่ในช่วงแรกที่วางแผนไว้ขอเป็นที่ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก่อน” กล่าวในที่สุด.