ข้าวกรอบสยาม สู่ไอเดียธุรกิจเงินล้าน
อายุไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของโลกธุรกิจ เป็นเพียงแค่หลักฐานยืนยันว่าได้อยู่บนโลกมาเป็นระยะเวลานานแค่ไหนเท่านั้น เพราะไอเดียความคิดสร้างสรรค์สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศทุกวัย ขึ้นอยู่กับว่าจะมองเห็นโอกาส หรือช่องทางในการสร้างธุรกิจของตนเองหรือไม่
“บิ๊ก ผุยมาตย์” คืดเด็กหนุ่มที่ยืนยันคำพูดข้างต้นดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะด้วยวัยเพียงแค่ 17 ปี เด็กหนุ่มคนนี้ก็สามารถสร้างธุรกิจที่เป็นของตนเองได้แล้ว จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว และปัญหาที่ตนเองประสบพบเจอจากสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ จนต้องหาวิธีขจัดปัญหา เพื่อให้ได้มาซึ่งความสะดวกสบาย และคิดว่าน่าจะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับผู้อื่นด้วยเช่นเดียวกัน
Startup ธุรกิจ
บิ๊ก ผู้จัดการ บริษัท ข้าวกรอบสยาม จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นไอเดียในการทำธุรกิจว่า มาจากการที่ตนเองต้องเดินทางไปเรียนต่อที่ต่างประเทศตั้งแต่ยังเล็ก โดยที่คุณแม่ชอบส่งขนมกระยาสารทมาให้รับประทาน ซึ่งเป็นขนมที่ตนเองชื่นชอบ แต่ตนเองมีปัญหาเวลารับประทาน เพราะขนมกระยาสารทค่อนข้างเหนียว และทำให้ติดฟัน เวลารับประทานแล้วไม่สะดวก
จากปัญหาดังกล่าวทำให้ตนเองมีแนวคิดว่าน่าจะทำให้ขนมกรอบ เพื่อให้รับประทานได้สะดวกสบายมากขึ้น โดยใช้เวลาอยู่พักใหญ่ในการวิจัย และพัฒนา (R&D) ซึ่งตนโชคดีที่มีเพื่อนชาวจีนที่มีธุรกิจเกี่ยวกับโรงงานอุตสากรรมทำเครื่องจักรแปรรูปอาหาร โดยช่วยผลิตเครื่องจักรสำหรับทำขนมที่ตนเองต้องการให้โดยเฉพาะ ซึ่งตนเลือกใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบหลักมาใช้ในการผลิต จนได้เป็นขนมข้าวอบกรอบที่เป็นเอกลักษณ์ และ Startup ธุรกิจของตนเองขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “ข้าวกรอบสยาม” (SIAMCRISPYRICE)
“ตนเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อยมาก โดยมีคนที่ไม่เห็นอยู่มาก เพราะเห็นว่ายังเด็กเกินไปไม่น่าจะนำพาธุรกิจให้ไปรอดได้ แต่ก็มีพ่อแม่ที่คอยให้กำลังใจและสนับสนุนมาโดยตลอด”
ขยายตลาดสู่โมเดิร์นเทรด
บิ๊ก บอกต่อไปอีกว่า ขนมของตนเริ่มทำตลาดครั้งแรกในปี 2556 ที่ประเทศมาเลเซียประมาณ 1 ปี ภายใต้แบรนด์ “ไรซ์ครั้นซ์” เนื่องจากคุณพ่อเป็นชาวมาเลเซีย หลังจากนั้นจึงเริ่มนำผลิตภัณฑ์เข้ามาทำตลาดที่ประเทศไทยในช่วงปี 2557 ภายใต้แบรนด์ “ข้าวกรอบสยาม” อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกก็ยังขายไม่ดีเท่าใดนัก เพราะมีรูปลักษณ์ที่คล้ายกับขนมทั่วไปในตลาด ทำให้ขาดความน่าสนใจ ตนจึงต้องใช้กลยุทธ์ในการให้ลูกค้าได้ชิมรสชาติขนม ทำให้ลูกค้าได้รู้จักและซื้อขนมกลับไปรับประทาน
นอกจากนี้ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของแบรนด์ในช่วงแรกก็คือแพคเกจที่เป็นถุงพลาสติกธรมดา และขนาดที่ใหญ่เกินไป จนทำให้ขนมมีราคาจำหน่ายที่ค่อนข้างสูง และรับประทานไม่สะดวก ตนจึงต้องทำการปรับเปลี่ยนแพคเกจ และขนาดของขนมใหม่ จนได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่องทางการทำตลาดด็ยังคงมุ่งเน้นการเข้าหาผู้บริโภคโดยตรงตามตลาดต่างๆ
“ข้าวกรอบสยามยังมีหน้าร้านจำหน่ายที่ถนนแจ้งวัฒนะซอย 14 ,ห้างสรรพสินค้ามาร์บุญครอง (MBK) และบนช่องทางออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก และไลน์”
ส่วนทิศทางการทำตลาดของบริษัทในปีนี้ จะดำเนินการเรื่องการขยายช่องทางการจำหน่าย เพื่อเพิ่มจำนวนฐานลูกค้าให้มีมากขึ้น โดยการนำผลิตภัณฑ์เข้าจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าแบบโมเดิร์นเทรด ซึ่งล่าสุดได้นำ ข้าวกรอบสยาม ไปวางจำหน่ายแล้วที่เลมอนฟาร์ม (Lemon Farm) ทุกสาขา
นอกจากนี้ ยังเริ่มนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายแล้วที่บิ๊กซี (Big C) เบื้องต้นประมาณ 10 สาขา หลังจากนั้นจะทยอยเพิ่มจำนวนสาขาวางจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังจะมุ่งเน้นการออกงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อให้ได้เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งบริษัทมั่นใจในรสชาติ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ว่าหากผู้บริโภคได้ลิ้มลองจะต้องซื้อกลับไปรับประทาน และเกิดการซื้อซ้ำ
ขณะที่ช่องทางด้านออนไลน์บริษัทก็มีการจำหน่ายผ่านทางเฟซบุ๊ก และไลน์ด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ทุกเพศทุกวัยอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ในปีนี้บริษัทยังแผนที่จะขยายตลาดในต่างปะเทศเพิ่มเติม โดยปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาทางธุรกิจกับตัวแทนจำหน่ายที่ประเทศลาวอยู่ จากเดิมที่ผลิตภัณฑ์มีวางจำหน่ายแล้วที่ประเทศมาเลเซีย
“ปัจจุบันข้าวอบกรอบสยามมีจำหน่าย 3 ประกอบด้วย รสถั่วลิสงงาขาว ,รสงาขาว และรสมะม่วงหิมพานต์งาดำ โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ข้าวอบกรอบอยู่ที่การเป็นขนมที่ไม่แข็ง ไม่เหนียว รับประทานแล้วไม่ติดฟัน ที่สำคัญยังเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเจ ซึ่งตอบโจทย์ของผู้ที่รักสุขภาพ”
ต่อยอดผลิตภัณฑ์
นายบิ๊ก บอกอีกว่า บริษัทจะมีการดำเนินการต่อยอดธุรกิจไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ประเทศซีเรียลที่ทำจากข้าวไรซ์เบอรี่กับข้าวหอมมะลิสู่ตลาด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และความสะดวกสบายในการรับประทาน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเด็กที่รับประทานอาหารได้ยาก ซึ่งคาดว่าผลิตภัณฑ์น่าจะวางจำหน่ายได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยจะจำหน่ายผ่านทางโมเดิร์นเทรด และช่องทางอื่นๆที่ข้าวอบกรอบวางจำหน่ายอยู่ เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าให้มีเพิ่มมากขึ้น
“ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank)มีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจให้ขขยายตัวผ่านทางสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อนำมาลงทุนในการซื้อเครื่องจักร และการพาออกไปหาตลาดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น”
ด้านหลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น สำหรับตนจะไม่มีภาคทฤษฎี แต่จะป็นภาคปฏิบัติล้วน ไม่มีวิชาการ มีแต่การลงมือทำ และลุยไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว เรียกว่ากล้าที่จะลอง เพราะหากไม่ลองก็จะไม่รู้