“จีฟินน์ รับเบอร์เทค” ต่อยอดงานวิจัยแปรรูปยางพารา
งานวิจัยในประเทศไทยมีอยู่มากมาย แต่ส่วนใหญ่มักจะได้ถูกหยิบจับนำมาใช้ประโยชน์เท่าใดนัก จนถูกเรียกขานกันว่าเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง เพราะได้แต่ถูกวางอยู่บนชั้นเก็บหนังสือ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วหลายงานวิจัยสามารถนำมาต่อยอดให้กลายเป็นธุรกิจได้
บริษัท จีฟินน์ รับเบอร์เทค จำกัด Start up ธุรกิจขึ้นมาจากงานวิจัย โดยนำมาต่อยอดจนกายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับ และได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่แตกต่างออกไปจากผลิตภัณฑ์เดิม
–งานวิจัยสู่ธุรกิจ
“ณัฐวี บัวแก้ว” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีฟินน์ รับเบอร์เทค จำกัด บอกถึงจุดเริ่มต้นของไอเดียในการทำธุรกิจ ว่า มาจากงานวิจัยของตนเองเกี่ยวกับการแปรรูปยางพาราที่ถูกนำมาต่อยอดจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย โดยผลิตภัณฑ์แรกที่นำเสนอออกมาได้แก่ ถุงเพาะชำย่อยสลายได้ภายใต้แบรนด์ “Greensery” โดยเป็นถุงที่ทำจากยางพารา และสามารถย่อยสลายได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน – 1 ปี ซึ่งสามารถดูดซับน้ำได้ และมีสารอาหาร N ,P และK โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงโรงงาน หลังจากที่มีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมากจนไม่สามารถผลิตได้ทัน และล่าสุดได้พาสเนอร์รายใหม่ที่จะเข้ามาร่วมทำธุรกิจเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี บริษัทยังได้ต่อยอด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่การทำรองเท้าเพื่อสุขภาพโคนมภายใต้แบรนด์ “Deeco” โดยเป็นวัสดุที่ใช้ในทางการแพทย์ เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บที่กีบเท้าโค เนื่องจากทางกายวิภาคของโคจะมีกีบเท้า 2 กีบ ซึ่งจะมีการรับหน้ำหนักไม่เท่ากัน โดยที่ปัจจุบันเจ้าของฟาร์มเองก็มีความต้องการรีดนมโคให้ได้ปริมาณที่มาก จึงได้มีการอัดอาหารให้โคเพื่อทำน้ำหนัก ซึ่งทำให้กีบเท้าของโคต้องแบกรับน้ำหนัก อีกทั้งพื้นที่ใช้เลี้ยงโคส่วนใหญ่ก็จะเป็นพื้นซีเมนส์ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาด ขณะที่โคเองต้องยืนตลอด จึงกลายเป็นปัญหาจากน้ำหนักต่อตัวที่ประมาณ 400-700 กิโลกรัม
ทั้งนี้ ในการแก้ไข หรือรักษาปัญหาดังกล่าวจะต้องใช้รองเท้าโคมาช่วยรองกีบด้านที่ไม่เจ็บ เพื่อยกกีบโคให้สูงขึ้น กีบที่บาดเจ็บจะได้ไม่ต้องสัมผัสกับพื้นและเชื้อโรค ทำให้อากาศถ่ายเทสะดวก จะช่วยให้การบาดเจ็บหายเร็วขึ้น แต่ปัจจุบันประทศไทยต้องนำเข้ารองเท้าโคจากต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งที่ผลิตจากพีวีซี หรือพอลิยูริเทน และค่อนข้างแข็ง ทั้งยังราคาแพง ตกข้างละประมาณ 1,500 บาท และต้องสั่งซื้อครั้งละมากๆ จึงมีใช้แต่เฉพาะในฟาร์มขนาดใหญ่เท่านั้น ขณะที่เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถหาซื้อได้ ซึ่งบางรายอาจนำเศษไม้ที่มาดัดแปลงเพื่อใช้รองกีบโคแทนรองเท้าโค
–ผลิตภัณฑ์ในประเทศ
ณัฐวี บอกต่อไปว่า รองเท้าโคแบบไม้นั้น จะมีปัญหาที่จะต้องยึดติดด้วยกับกาว ซึ่งกาวมีราคาที่แพงมาก อักทั้งรองเท้ายังมี่ความแข็งกระด้าง โคจะเจ็บเท้าเมื่อสวมใส่ กระจายแรงได้ไม่ดี ใช้งานได้เพียงครั้งเดียว และมีค่าใช้จ่ายประมาณ 300-400 บาท/ครั้ง ขณะที่รองเท้าโคแบบพลาสติกจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และจีน เป็นต้น โดยรองเท้าโคดังกล่าวจะสามารถกระจายแรงได้ดี แต่ก็มีราคาที่ค่อนข้างสูงประมาณ 1,500-2,000 บาท/ข้าง ใช้งานได้หลายครั้งขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา
ส่วนผลิตภัณฑ์รองเท้าโคจากยางพาราแบรนด์ Deeco จะสวมใส่ง่ายไม่ต้องใช้กาวยึด สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง อีกทั้งยังสามารถกระจายแรงได้ดี ลดอาการบาดเจ็บของกีบเท้า ส่งผลให้แผลหายเร็วขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราไทย ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ และมีราคาประมาณ 699 บาท/ชิ้นเท่านั้น โดยนวัตกรรมรองเท้าโคนมจากยางพาราจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งทำให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงรองเท้าโคนมที่มีประสิทธิภาพและราคาถูกมากยิ่งขึ้น
“ปัจจุบันเราได้ทดลองนำรองเท้าโคจากยางพาราให้ฟาร์มขนาดเล็กนำไปทดลองใส่ให้กับโค เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการใช้งาน และได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อให้เกษตรกรที่มีปัญหาดังกล่าวที่เข้ามารักษาได้มีโอกาสนำไปทดลองใช้”
–เปิดโอกาสให้รายย่อยเข้าถึง
ณัฐวี บอกอีกว่า บริษัทได้วางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ไว้ถึง 3 เฟส โดยเฟสแรกที่กำลังดำเนินการอยู่จะมีความแข็ง 1 ระดับ ส่วนเฟสที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะออกมาประมาณอีก 6-8 เดือนข้างหน้าจะมีความแข็งเป็น 2 ระดับ และเฟส 3 จะมีการนำนวัตกรรมซิลเวอร์นาโนมาปรับใช้ เพื่อให้มีความสามารถต้านทานเชื้อแบคทีเรียได้ด้วยการเคลือบที่รองเท้า เพราะอาการเจ็บกีบมีปัจจัยจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จากพื้นคอกที่อับชื้น สกปรก
“นวัตกรรมรองเท้าโคจากยางพารา เข้ามาเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยสามารถเข้าถึงรองเท้าโคนมที่มีประสิทธิภาพและราคาถูกมากยิ่งขึ้น เพื่อใช้ทดแทนรองเท้าโคที่ผู้ประกอบการฟาร์มโคนมไทยต้องเสียดุลจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ส่งเสริมให้มีความตระหนักในการใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศคือยางพาราให้เกิดประโยชน์สูงสุด และออกแบบรองเท้าโคให้สามารถใช้งานได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่หลุดง่าย”
ด้านแนวทางในการทำตลาดนั้น จะมีลักษณะคล้ายกับการจำหน่ายยาให้กับร้านขายยาทั่วไป โดยบริษัทจะดำเนินการผ่านทางสัตว์แพทย์ หรือแพทย์ที่รักษากีบเท้า ซึ่งจะเป็นผู้ที่คอบแนะนำผลิตภัณฑ์ให้กับเกษตรกร โดยมองว่าจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างการยอมรับในตัวผลิตภัณฑ์ได้สูงกว่าการทำตลาดรูปแบบอื่น ซึ่งบริษัทจะไม่ลงไปทำตลาดด้วยตนเอง
“แนวโน้มของตลาดเชื่อว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยทั่วโลกมีจำนวนโคนม 148 ล้านตัว ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีปริมาณความต้องการของน้ำนมในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ธุรกิจการเลี้ยงโคนมมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ประเทศไทยมีฟาร์มโคนม 17,925 ฟาร์ม จำนวนโคนมทั้งสิ้นประมาณ 670,000 ตัว ซึ่งปัญหาหลักของฟาร์มโคนม คือการเจ็บของกีบเท้า ปัญหาการเจ็บกีบเท้า เป็นปัญหาที่ทุกฟาร์มเจอ”.