“Moddii” ขนมไทยจิ๋วใส่ไอเดียเสิร์ฟผู้บริโภค
ขนมไทยมีมากมายหลากหลายชนิด โดยที่แต่ละภูมิภาคก็มีของขึ้นชื่อประจำท้องถิ่นที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือเรื่อของรสชาติความอร่อยที่ไม่ว่าใครได้ลิ้มลองเป็นต้องติดใจทั้งผู้บริโภคที่เป็นคนไทยด้วยกันเอง และชาวต่างชาติ ด้วยส่วนผสมที่ลงตัวของขนมนั้นๆ
แบรนด์ “Moddii” (มดดิ๊) Startup ธุรกิจขึ้นมา โดยการนำขนมไทยขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี มาใส่ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอรูปแบบใหม่ ที่ผู้บริโภคต้องร้อง ว๊าว ด้วยความน่ารัก รวมถึงน่ารับประทาน และรสชาติที่คงไว้ในแบบดั้งเดิม
-ตำนานขนมไทยเพชรบุรี
“ณัฐดนัย รุจิรา” ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ณัฐดนัย มินิฟู้ด จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจ ว่า เมืองเพชรบุรีเป็นแหล่งผลิตขนมหวานที่มีชื่อเสียงมาช้านาน ด้วยความพร้อมของวัตถุดิบในการทำขนม อาทิ น้ำตาลโตนด ไข่ แป้ง และมะพร้าว ที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในท้องถิ่น ผนวกกับฝีไม้ลายมือและภูมิปัญญาแต่ดั้งเดิมจากรุ่นสู่รุ่น จึงทำให้ ชื่อเสียงดังกล่าวยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน
กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมหวานเกิดขึ้นจากแนวคิดของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการต่อยอดขนมหวานที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดให้ก้าวทันกับยุคสมัย และสามารถแข่งขันได้ในตลาดที่กว้างขึ้น ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มสินค้าประเภทของฝาก แต่วางตำแหน่งทางการตลาดใหม่ ให้ขนมไทยกลายเป็นสินค้าที่สามารถบริโภคได้ตลอดเวลา ในทุกสถานที่ โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เพื่อยืดอายุในการเก็บรักษา รวมถึงการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามแบบสไตล์ญี่ปุ่น พกพาสะดวก และรับประทานได้ง่าย ตามวัฒนธรรมสมัยนิยม โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางรสชาติให้คงเดิม ซึ่งขนมที่ว่านั้น เป็นขนมที่รู้จักกันดีทั่วไป อาทิ ฝอยทอง อาลัว วุ้นกรอบ ขนมผิง กลีบลำดวน สัมปันนี ซึ่งแต่ละชนิดมีตำนานเฉพาะตัว ที่น่าสนใจ สามารถบอกเล่าเรื่องราวแต่ครั้งอดีต มาสู่คนรุ่นปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมหวานเพชรบุรี ได้ดำเนินกิจการรวมสมาชิกเพื่อตั้งกลุ่มขึ้นมาปี พ.ศ.2555 และเริ่มทำการศึกษาและทดลองเพื่อยืดอายุขนมไทย และได้ลงทะเบียนเป็นผู้ผลิตชุมชน (OTOP) และสมัครเข้าคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ได้ระดับ 5 ดาว จากนั้นมากลุ่มฯ ได้รับการพัฒนาจากภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้เข้าฝึกอบรมด้านการบริหารจัดการ การผลิต การตลาด การจัดการทุนและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ทำให้กลุ่มฯ สามารถพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน รูปแบบของผลิตภัณฑ์ และสีสันของผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย จนทำให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และได้รับความนิยมแพร่หลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“ปัจจุบันกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมหวานเพชรบุรี ได้ดำเนินกิจการโดยการสืบสานภูมิปัญญาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมไทย พัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาให้มีพร้อมทั้งคุณภาพ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย มีแบรนด์เป็นของตนเอง คือ MODDII ซึ่งเป็นการนำเสนอในรูปแบบขนมไทยขนาดจิ๋ว หรือมินิ”
-แตกแบรนด์ใหม่
ณัฐดนัย บอกต่อไปอีกว่า ปัจจุบันแบรนด์ได้มีการต่อยอดการทำตลาดให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วยการสร้างแบรนด์ขึ้นมาภายใต้ชื่อ “เพชรบุรา” โดยแบรนด์ดังกล่าวจะเป็นแบรนด์ที่เน้นจำหน่ายขนมไทยโดยเฉพาะ เช่น ขนมหม้อแกง ทองเอก ทองหยอด เสน่ห์จันทน์ เป็นต้น ส่วนแบรนด์ มดดิ๊ จะจำหน่ายขนมประเภทอื่น เช่น เยลลี่ ลูกกวาด อมยิ้ม เป็นต้น เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้บริโภคแสดงความคิดเห็นว่าแบรนด์ดูเป็นเด็กเกินไปไม่น่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ดี ในปี 63 แบรนด์ยังจะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ขนมหม้อแกงแบบที่ผู้บริโภคนำกลับไปทำรับประทานเองที่บ้าน (D.I.Y) โดยที่ภายในถุงจะมีแป้งขนมหม้อแกง และถ้วยฟอยล์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้นำแป้งเทใส่ลงไปในถ้วยฟอยล์ แล้วเติมน้ำเปล่าลงไป เพื่อนำไปใส่ไมโครเวฟนึ่งให้ขนมสุกแล้วรับประทาน ถือเป็นการนำเสนอรูปแบบใหม่ที่ทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับการทำขนม และได้ความรู้สึกแปลกใหม่ของการรับประทาน
นอกจากนี้ แบรนด์ยังมีแผนที่จะสร้างหน้าร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภค และยังเป็นสถานที่นำเสนอผลิตภัณฑ์จริงเพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็น ซึ่งจะช่วยเรื่องความน่าเชื่อถือได้อีกด้วย โดยคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จช่วงประมาณปลายปี 63 จากเดิมที่ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์จะมีจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ช๊อปปี้ (Shopee) รวมถึงเว็บไซด์ และการออกงานแสดงสินค้าเป็นหลัก
“ ในปีหน้าแบรนด์ยังเตรียมนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งเป็นการนำนวัตกรรมเข้ามาผสมผสานกับขนมไทย เพื่อให้เกิดเป็นรูปแบบใหม่ในการนำเสนอที่จะสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ในการทำตลาด ”
-บุกตลาดต่างประเทศ
ณัฐดนัย บอกอีกว่า การทำตลาดต่างประเทศนั้น แบรนด์ก็ยังคงมีแผนที่จะขยายตลาดออกไป โดยอาจจะต้องดูช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมของการทำตลาด และเงินทุน เพื่อต่อยอดช่องทางเดิมที่เคยทำตลาดอยู่แบบไม่เป็นรูปธรรมเท่าใดนักที่ประเทศญี่ปุ่น กัมพูชา เวียนาม และลาว
“ จากกลยุทธ์ในการทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้นประมาณ 30% จากปี 62 โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทผลิตและจำหน่ายอยู่ที่ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน เช่น อาลัวที่มีให้เลือกประมาณ 10 รสชาติ รวมถึงอายุในการเก็บรักษาได้นาน ซึ่งมาจากการนำนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การอาหารมาใช้ในการพัฒนา อีกทั้งยังมีบรรจุภัณฑ์ที่มีความสวยงาม และผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น”
สำหรับวัตถุประสงค์ของการสร้างแบรนด์นั้น ก็เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคคนไทยได้รับประทานขนมไทย และขนมประเภทอื่นที่อร่อยมีคุณภาพ รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศเพื่อให้คนไทยในต่างประเทศได้รับประทาน และที่สำคัญก็คือให้ผู้บริโภคที่เป็นชาวต่างชาติได้สัมผัส และลิ้มลองรสชาติของขนมไทยแบบดั้งเดิมอย่างแท้จริง โดยปัจจุบันขนมของแบรนด์จะผลิตและจำหน่ายในรูปแบบของกระป๋องโลหะ และกระป๋องพลาสติก.