“กิโลทอง” ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปร้อยล้าน
ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศแห่งเกษตรกรรม มีประชากรส่วนใหญ่ที่ทำอาชีพเกี่ยวกับการเกษตร มีผลผลิตมากมายออกสู่ตลาด ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ จนบางครั้งถึงขั้นเกิดภาวะที่เรียกว่าผลผลิตล้นตลาด เกินความต้องการของผู้บริโภค ผลกระทบที่ตามมาก็คือ ราคาที่ตกต่ำลง และขายไม่ได้ราคา
เช่นเดียวกับที่จังหวัดศรีสะเกษในปี 2554-2555 ซึ่งเกิดวิกฤติหอมแดงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ในอำเภอยางชุมน้อย และอำเภอใกล้เคียงมีการปลูกหอมแดงกันเป็นจำนวนมากทำให้ราคาหอมแดงตกต่ำ และรัฐบาลได้มีการช่วยเหลือโดยการรับซื้อวัตถุดิบเก็บไว้ตามสถานที่ราชการ วัด โรงเรียน ทำให้เกิดการเน่าเสีย จึงได้มีการรวมกลุ่มกันขึ้นเป็นกลุ่มพัฒนาอาชีพสตรีหอมแดงอำเภอยางชุมน้อยขึ้น
จุดเริ่มต้นธุรกิจ
“สุจิตตา ทองอินทร์” ผู้บริหาร บริษัท ดีมาฟู้ดส์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ได้มีสมาชิกกลุ่มจำนวนมากได้คิดแปรรูปหอมแดงขึ้น โดยการนำมาเจียว ส่วนพื้นที่ได้ขออนุญาตใช้หอประชุมเก่าภายในอำเภอยางชุมน้อยเป็นที่ทำการกลุ่ม โดยรับออเดอร์แรกจากบริษัทที่ส่งออกไปญี่ปุ่น เดือนละ 500 กิโลกรัมและมีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นทุกเดือน ในปลายปี 2555 เนื่องจากสถานที่อยู่ในแหล่งชุมชนส่งกลิ่นรบกวน และในรูปแบบกลุ่มทำให้การบริหารจัดการลำบากทั้งในเรื่องใบกำกับภาษี และรายละเอียดการบริหารงาน จึงได้มาจัดตั้งเป็นบริษัทดีมาฟูดส์ในปัจจุบัน
“ในการดำเนินธุรกิจความมุ่งหวังพัฒนาธุรกิจให้เติบโตแบบยั่งยืนและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพด้วยคุณภาพวัตถุดิบในพื้นที่ และที่สำคัญต้องการให้หอมแดงในพื้นที่และสินค้าเกษตรในพื้นที่ได้มีแหล่งจำหน่ายที่ยั่งยืนและพยุงราคาได้ เนื่องจากเราอยู่ในพื้นที่แหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของประเทศ”
สุจิตตา บอกต่อไปว่า ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ทั้งหมดของบริษัทจะแบ่งเป็นการส่งออก 80% และจำหน่ายภายในประเทศ 20% โดยมีผลิตภัณฑ์หลักประกอบด้วย หอมเจียว ,กะเทียมเจียว ,พริกเผา ,พริกผัดน้ำมันหอมเจียว และน้ำมันน้ำพริกเผา เป็นต้น โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้แบรนด์ “กิโลทอง” ซึ่งผลิตภัณฑ์หอมเจียวมียอดเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
ขณะที่กลยุทธ์ในการขยายตลาด เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าและรายได้ของบริษัทในระยะถัดไปนั้น จะมุ่งเน้นการเข้าทำตลาดผ่านร้านขายอาหารทั่วไปในประเทศ พร้อมทั้งขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังบิ๊กซี ,โลตัส และแมคโคร ให้ได้ทุกผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่มีผลิตภัณฑ์เพียงบางประเภทเท่านั้นที่วางจำหน่ายอยู่ในช่องทางดังกล่าว และฟู้ดแลนด์
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพบนช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการผ่านทางเฟซบุ๊ก ,เว็บไซด์ และไลน์แอด (Line@) เนื่องจากเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความนิยม และยังสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างครอบคลุม โดยที่มีต้นทุนในการดำเนินการไม่มากเท่าใดนัก ซึ่งอาจจะเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ พร้อมกับจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการจำหน่ายให้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ออเดอร์ผ่านช่องทางดังกล่าวจะเป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร และโรงแรมเป็นหลัก
หน่วยจักรยานยนต์เคลื่อนที่
สุจิตตา บอกอีกว่า กลยุทธ์การทำตลาดต่อเนื่องในปี 63 บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการสั่งซื้อ และดัดแปลงรถจักรยานยนต์ให้เป็นรถพ่วง เพื่อทำเป็นหน่วยรถจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคลื่อนที่ไปยังอำเภอต่างๆของจังหวัดศรีสะเกษ และพื้นที่ละแวกใกล้เคียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม โดยเชื่อว่าจะเป็นช่องทางในการกระจายการรับรู้ไปยังชุมชนต่างๆให้ได้รู้จักแบรนด์มากขึ้น หลังจากนั้นก็จะดำเนินการต่อยอดไปสู่จังหวัดต่างๆเช่น อุบลราชธานี โดยจัดตั้งเป็นศูนย์ประจำแต่ละจังหวัด จากเดิมที่บริษัทจะมีรถปิกอัพประมาณ 9 คันให้บริการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสาน
ด้านตลาดต่างประเทศนั้น ล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ของบริษัทส่งออกไปจำหน่ายแล้วหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ,ญี่ปุ่น ,อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยเป็นการดำเนินการผ่านบริษัทผู้ส่งออกทั้งหมด ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะปรับกลยุทธ์ทางด้านส่งออกให้บริษัทเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยล่าสุดกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเรื่องของบุคลากร ,ภาษา และเอกสารสำคัญที่จะต้องใช้ ขณะที่เรื่องของคุณภาพ และการรับรองมาตรฐานต่างๆผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับการยอมรับอยู่แล้วจากต่างประเทศ
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ กิโลทอง อยู่ที่การขั้นเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพจากความได้เปรียบที่บริษัทตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งเพาะปลูกหอมแดงมากที่สุดในประเทศที่อำเภอยางชุมน้อย อีกทั้งยังมีขั้นตอนการผลิตที่ไม่เหมือนผู้ผลิตรายใดในตลาด เช่น หอมเจียว ที่จะมีขั้นตอนการผลิตถึง 9 ขั้นตอน โดยหอมเจียวที่ทำตลาดส่งออกจะเป็นแบบ 100% ไม่มีการผสมแป้ง ขณะที่รสชาติก็จะมีความแตกต่าง ซึ่งบริษัทใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ประมาณ 1-2 ปีกว่าจะสามารถทำได้ โดยบริษัทต้องใช้หอมแดงประมาณ 4.7-5.2 กิโลกรัม เพื่อให้ได้หอมเจียว 1 กิโลกรัม
“นอกจากบริษัทจะมีรายได้จากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ กิโลทอง แล้ว ยังมีรายได้จากการส่งผลผลิตทางการเกษตรอย่างหอมแดงสด พริกสด พริกแห้ง กะเทียมแบบแกะกลีบ ให้กับผู้ประกอบการรายอื่นด้วย”
สุจิตตา บอกปิดท้าย ว่า หลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จของตนนั้น ตนจะไม่ได้มุ่งเน้นการมองทุกอย่างให้กลายเป็นธุรกิจมากจนไป แต่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงให้มีรายได้มากขึ้นด้วยการแปรรูป จากปัญหาราคาที่ตกต่ำจากผลผลิตที่ล้นเกินความต้องการ หลังจากนั้นรายได้ของธุรกิจก็จะตามมาเอง โดยปัจจุบันบริษัทมีการใช้หอมแดงสดประมาณ 50,000 กิโลกรัมต่อวัน
“บริษัทตั้งเป้ารายได้ของปีนี้ไว้ที่ 100 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมามีรายได้แล้วประมาณ 48 ล้านบาท และรายได้จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 ล้านบาทในปี 63 จากกลยุทธ์การทำตลาดที่บริษัทวางแผนเอาไว้”