“Veganic” ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป 100 ล้าน
ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของพืชผัก และผลไม้ไม่แพ้ชาติในโลก จนบางครั้งอาจทำให้สินค้าทางการเกษตรเหล่านี้มีราคาลดลง จากผลผลิตที่ออกมาล้นเกินความต้องการของตลาด เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเหล่านั้น
แบรนด์ “Veganic” (เวกานิกส์) ภายใต้การนำของ “ภัทรพร จิรัญญกุล” ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท พี เอส เอ็น อินเตอร์ฟู้ด จำกัด ได้ Startup ธุรกิจขึ้นมาจากความอุดมสมบูรณ์ของพืชผักผลไม้ในประเทศไทย จนสามรถวางรากฐานธุรกิจไปสู่อนาคตได้
เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร
ภัทรพร บอกถึงที่มาที่ไปของไอเดียในการสร้างธุรกิจว่า มาจากความต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทย โดยดำเนินการทำให้มีแพคเกจจิ้งที่สวยงาม มีอายุของผลิตภัณฑ์ที่ยาวนาน เพื่อให้สามรถแข่งขันกับตลาดโลกได้ โดยนำจุดแข็งทางด้านพืชผลทางการเกาตรของไทยมาทำให้เกิดเป็นการเพิ่มมูลค่า ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการดำเนินการในระยะแรก ตัวเธอต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายร่วมกับน้องสาว
ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญในการสร้างธุรกิจในระยะเริ่มต้นก็คือเรื่องการเข้าแข่งขันในตลาด เพราะผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในตลาดนั้นมากมาย โดยที่ตัวเธอจะต้องทำอย่างไรให้สามารถเข้าไปมีพื้นที่อยู่ในตลาดให้ได้ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งจากผู้บริโภค ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายไอเดียความคิดสร้างสรรค์ในการตีโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยจะต้องคำนึงถึงรสชาติของความอร่อยและแพจคเกจจิ้งที่สวยงาม ซึ่งสามารถดึงดูดสายตา และที่สำคัญทำให้ตัดสินใจในการเลือกซื้อให้ได้ นอกจากนี้ยังต้องมองถึงช่องทางการขายว่าควรจะต้องอยู่ที่ใดบ้าง อย่างไร
“ผลิตภัณฑ์ลำดับแรกของแบรนด์ Veganic คือการแปรรูป มันหวานหลากหลายสีทอดกรอบทั้งมันม่วงมันส้ม มันเหลืองและเผือก โดยเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่ผลิตและจำหน่าย อีกทั้งยังครองส่วนแบ่งในตลาดมากที่สุดในปัจจุบัน และต่อยอดไปสู่ถั่วรวมอบกรอบ“
ต่อยอดกลยุทธ์ทางการตลาด
ภัทรพร บอกต่อไปอีกว่า กลยุทธ์ในการทำตลาดของบริษัทในระยะต่อไปจะมีการดำเนินการทั้งในรูปแบบที่เป็นผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เอง ซึ่งจะเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นการต่อยอดไปสู่การทำผักทอดในรูปแบบสแนคเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีใยอาหารสูง เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าและขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น พร้อมกันนี้ก็จะดำเนินการเรื่องการนำผลิตภัณฑ์เข้าไปจำหน่ายในโรงแรมหรือที่พักต่างๆ เพื่อนำไปจัดวางไว้ในห้องพัก โดยจะเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เห็น รวมถึงรู้จักผลิตภัณฑ์ และได้ทดลองรสชาติ ซึ่งเมื่อเดินทางไปที่ไหนและได้เห็นแบรนด์ Veganic จะได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้แบบไม่ลังเล
“เดิมทีผลิตภัณฑ์ของแบรนด์จะมีวางจำหน่ายที่ร้านสะดวกซื้อต่างๆทั่วประเทศ รวมถึงผ่านทางตัวแทนจำหน่าย และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยในระยะต่อไปแบรนด์จะมุ่งเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีการผสมผสานนวัตกรรม รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ และแนวโน้มของตลาดโลก”
อย่างไรก็ดี ยังจะมุ่งเน้นเรื่องของการรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับผู้ประกอบการรายอื่นได้นำไปสร้างแบรนด์เพิ่มมากขึ้น โดยมองว่ากลยุทธ์ดังกล่าวนี้จะช่วยเรื่องการควบคุมต้นทุน เพราะบริษัทเป็นโรงงานผลิตหากทำ OEM ก็จะสามารถควบคุมราคาของวัตถุในตลาดได้ อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็น OEM ก็จะไม่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ เนื่องจากบริษัทจะผลิตให้มีความแตกต่างกันในเรื่องของรูปแบบการนำเสนอ และรสชาติที่เป็นจุดเด่น ซึ่งจะทำให้บริษัทผู้ว่าจ้างได้ประโยชน์สูงสุดทางการตลาดเท่าๆกัน หรือวินวิน (Win-Win)
“เมื่อลูกค้าโตบริษัทก็จะเติบโตตามไปด้วย ที่สำคัญตลาดก็จะไม่มีทางมาชนกันเอง โดยการทำ OEM นั้นเราต้องการให้ผู้ประอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ของตนเองได้ โดยที่ไม่ต้องลงทุนเรื่องการสร้างโรงงานผลิต ซึ่งเปรียบเสมือนการเดินจูงมือไปด้วยกัน โดยเรามีหน้าที่ในการผลิตและผู้ประกอบการเหล่านั้นมีหน้าที่ในการหาตลาด เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค”
ขณะที่การทำตลาดต่างประเทศนั้น ขณะนี้แบรนด์กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาตลาดใหม่เพื่อนำผลิตภัณฑ์เข้าไปทำตลาด โดยมองที่กลุ่มประเทศในโซนแอฟริกา ซึ่งเห็นแล้วว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและน่าสนใจ โดยคาดว่าจะสามารถเข้าไปทำตลาดในปี 63 ซึ่งเป็นการต่อยอดจากตลาดเดิม ซึ่งบริษัทมีพันธมิตรทางธุรกิจกว่า 20 ประเทศ เช่น จีน ,เกาหลี ,ญี่ปุ่น ,สวิสเซอร์แลนด์ ,ออสเตรีย และฝรั่งเศส เป็นต้น
เป้ารายได้ 100 ล้านบาท
ภัทรพร บอกอีกว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ของปีนี้ไว้ที่ประมาณ 100 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งบริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 50-60 ล้านบาท โดยบริษัทมีข้อได้เปรียบตรงที่การไม่มีพนักงานทางด้านการขาย แต่ตัวเธอจะเป็นผู้ติดต่อหรือเจรจาธุรกิจเองทั้งหมด ส่งผลให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีในเรื่องของความรวดเร็วในการตัดสินใจ ซึ่งทำให้ปิดการเจรจาการขยายได้เร็วขึ้น
ด้านจุดเด่นของผลิตภัณฑ์แบรนด์ Veganic นั้น อยู่ที่เรื่องของรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ โดยพยายามผสมผสานความเป็นไทยเข้ามา พร้อมปรับรสชาติให้ถูกปากคนไทย รวมถึงรูปแบบของแพคเกจจิ้งที่ดูทันสมัย และได้การรับรองมาตรฐานระดับสากล ทำให้สามารถนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายที่ต่างประเทศได้
ขณะที่แนวโน้มของตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะในรูปแบบของสแนคเชื่อว่ายังเติบโตได้อีกมาก ซึ่งอาจจะสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน หากสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ถูกทาง ก็จะมีกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพยินดีที่จะจ่าย อีกทั้งกระแสการรัก และดูแลสุขภาพก็มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“แบรนด์ต้องการลบภาพความน่าเบื่อของผลิตภัณฑ์เผือกและมันฉาบของประเทศไทยให้ดูมีความทันสมัยมากขึ้น ขณะที่ชื่อแบรนด์ก็เป็นการผสมคำที่ทำให้ลูกค้าต่างประเทศรู้ได้ทันทีว่านี่คือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ”
ด้านหลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ มองว่าอยู่ที่เรื่องความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า เช่น หากบริษัทรับทำ OEM ให้กับผู้ประกอบการรายใดไปแล้ว จะไม่มีการทำ OEM ให้กับเจ้าอื่นอีกในลักษณะที่เป็นผลิตภัณฑ์เดียวกัน หรือหากบริษัทให้ตัวแทนจำหน่ายรายใดได้รับสิทธิ์ในพื้นที่บริเวณนั้นไปแล้ว จะไม่มีการให้มีตัวแทนจำหน่ายซ้ำซ้อนอีก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความรวดเร็วในการผลิตตามที่ได้รับออเดอร์ และการพัฒนาผลิตใหม่ที่ไหยุดนิ่งตามแนวโน้มของตลาด ซึ่งช่วยให้ตอบโจทย์ของลูกค้าได้มากขึ้น และไม่เกิดความน่าเบื่อ