โอ้! เวจจี้ สร้างธุรกิจจากช่องว่างทางการตลาด
โจทย์ในการสร้างธุรกิจคือการพยายามมองหาช่องว่างทางการตลาดที่ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าถึง ที่สำคัญจะต้องสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด เพียงเท่านั้นฟากฝั่งของความสำเร็จก็เปิดประตูรอที่จะต้อนรับ
“วุฒิชัย เจริญศุภกุล” คือชายหนุ่มผู้มองเห็นโอกาสจากการสังเกตผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาด ซึ่งยังมีช่องว่างให้สามารถนำไอเดียมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อนำเสนอให้กับผู้บริโภค การ Startup ธุรกิจจึงเกิดขึ้นภายใต้แบรนด์ “Oh! Veggies” (โอ้! เวจจี้)
สบช่องสร้างธุรกิจ
วุฒิชัย ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท พลังผัก จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปของไอเดียในการสร้างธุรกิจ ว่า ด้วยความที่ตนต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่ฝ่ายการตลาด เงินเดือนหลักแสนบาท แม้ว่าครอบครัวจะไม่เห็นด้วย เพราะมีลูกเล็กที่ต้องดูแล และภรรยาไม่ได้ทำงาน แต่ก็ยอมเสี่ยงโดยนำต้นทุนความรู้ในงานประจำ และความเชื่อว่าสินค้าเพื่อสุขภาพมีอนาคตไกลแน่ เลยไม่รอช้าที่จะเร่งหาผลิตภัณฑ์ป้อนตลาด
“โจทย์ของตนคือมองหาผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อเสิร์ฟให้กับผู้บริโภคในเมือง โดยตนได้ลองเดินดูในซุบเปอร์มาร์เก็ตจึงพบว่าผักสลัดมีจำหน่าย แต่ผักสลัดในรูปแบบพร้อมรับประทานยังไม่มีจำหน่าย อีกทั้งผักเกือบทั้งหมดเป็นการปลุกแบบไฮโดรโปนิกส์ยังไม่มีแบบผักออร์แกนิก เลยมองเห็นโอกาสในการทำผักสลัดออร์แกนิกบรรจุกล่องพร้อมรับประทาน ซึ่งเน้นความสะดวกสบายบุกตลาดร้านค้าเพื่อสุขภาพ และเข้าร้านสะดวกซื้อ”
ทั้งนี้ ตนตั้งชื่อบริษัทว่า บริษัท พลังผัก จำกัด เพราะมีวิสัยทัศน์ว่าต้องการเป็นผู้นำตลาดผักสลัดพร้อมรับประทาน ส่วนพันธะกิจ คือ นำเสนออาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพในรูปแบบที่รับประทานได้ทันที เงินลงทุนตั้งต้นในธุรกิจนี้ 1 ล้านบาท โดยช่วงแรกเน้นออกบูธ และขายในร้านค้าเพื่อสุขภาพ ผ่านไปประมาณ 3 เดือน เริ่มวางในซูเปอร์มาร์เก็ตห้างสรรพสินค้า ซึ่งปรากฎว่าผลตอบรับดีมาก โดยนับว่ามาถูกทาง หลังจากนั้นประมาณปี 55 จึงไปเสนอขายในร้านสะดวกซื้อ เพราะเห็นว่ายังไม่มีสลัดผักพร้อมกินวางขาย
ขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มสินค้าใหม่ คือ มะม่วงน้ำปลาหวาน โดยได้ไอเดียมาจากการสังเกตผลไม้ที่ขายตามรถเข็น ส่วนใหญ่จะมีน้ำจิ้มแค่พริกกับเกลือ แต่ยังไม่มีน้ำปลาหวานประมมณปี 57 ตามด้วยฝรั่งจิ้มน้ำตาลปี๊บ ปี 58 ยำมะม่วงพร้อมทานรสชาติจัดจ้านไทยๆ ปี 59 มะเขือเทศเชอร์รี่จิ้มพริกเกลือ
ยึดหัวหาดตลาดในประเทศ
วุฒิชัย บอกต่อไปอีกว่า กลยุทธ์ในการทำตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้าของบริษัทปีนี้จะยังคงมุ่งเน้นการทำตลาดในประเทศเป็นหลัก โดยจะเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้กับผู้บริโภคในกลุ่มของผัก และผลไม้ ซึ่งจะมีความหลากหลายมากขึ้น จากรูปแบบการนำเสนอ รวมถึงการเป็นผัก และผลไม้ชนิดใหม่
ล่าสุดได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์มะม่วงกะปิทรงเครื่องเข้าสู่ตลาด จากเดิมที่แบรนด์จะมีผลิตภัณฑ์มะม่วงน้ำปลาหวาน ขณะที่ส่วนของกลุ่มผัก ก็จะเป็นการแยกผักกับน้ำสลัดออกจากกัน เพื่อตอบสนองคามต้องการของผู้บริโภคทั้ง 2 กลุ่ม โดยบางกลุ่มต้องการเพียงผัดสดอย่างเดียว เพื่อนำไปรับประทานกับน้ำสลัดที่ตนเองมีอยู่ ส่วนบางกลุ่มก็ต้องการเพียงน้ำสลัด สำหรับนำไปรับประทานกับผักที่ตนเองเป็นผู้เลือกซื้อมา จากเดิมที่สลัดผักของแบรนด์จะมีผักและน้ำสลัดอยู่ในแพคเกจจิ้งเดียวกัน
“การปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น ที่สำคัญยังเป็นการตอบโจทย์ให้กับผู้บริโภคได้เกือบทุกความต้องการ และเป็นการทลายข้อจำกัดในการรับประทานจากผลิตภัณฑ์ที่เคยมีนำเสนออยู่เดิมก่อนหน้านี้ โดยจะยังคงยึดช่องทางการจำหน่ายเดิมผ่านทางเซเว่นอีเลฟเวน (7-11 eleven) และห้างโมเดิร์นเทรด”
อย่างไรก็ตาม บริษัทเองก็กำลังศึกษาหาช่องทางการทำตลาดเพิ่มเติมในรูปแบบของออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ให้มีมากขึ้น รวมถึงเป็นการตอบสนองวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบของดิจิตอล ซึ่งผู้บริโภคนิยมสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านทางออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทเคยทดลองทำตลาดผ่านทางเฟสบุ๊กมาแล้วบ้าง แต่ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง
ขณะที่ตลาดต่างประเทศนั้น บริษัทยังไม่มีแผนที่จะเข้าไปทำตลาดอย่างจริงจังด้วยบริษัทเอง มีเพียงตัวแทนจำหน่ายที่นำผลิตภัณฑ์ไปทำตลาดต่อที่ประเทศฮ่องกงเท่านั้นในปัจจุบัน เนื่องจากมองว่าตลาดในประเทศยังมีช่องว่างทางการตลาดอยู่อีกมาก อีกทั้งข้อจำกัดในเรื่องของอายุการรับประทานของผลิตภัณฑ์ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะบริษัทต้องการให้ผลิตภัณฑ์ให้มีความสด เสมือนเพิ่งปลอกแล้วรับประทานทันที่เมื่ออยู่ในมือของผู้บริโภค
ผลไม้พร้อมทานโอกาสมีอีกมาก
นายวุฒิชัย บอกอีกว่า ตลาดในประเทศยังมีโอกาสอีกมาก ความต้องการยังคงมีอยู่ เช่น ในตลาดผลไม้พร้อมรับประทานนั้น ในประเทศไทยยังมีวัตถุดิบอีกอย่างหลากหลายที่สามารถนำมาทำตลาดได้ โดยปัจจุบันบริษัทมีผลไม้ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนา (R&D) และจะออกสู่ตลาดอยู่ประมาณ 3-4 ชนิด ซึ่งความท้าทายในการทำตลาดก็คือการจะทำอย่างไรให้สามรถยืดอายุการรับประทานผลิตภัณฑ์ให้ได้มากที่สุดแบบมีคุณภาพ และได้มาตรฐานเสมือนปลอกสดๆก่อนรับประทาน
จากกลยุทธ์ในการทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาทในปีนี้ หรือเติบโตขึ้นประมาณ 70% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท ด้านหลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น อยู่ที่การมองหาโอกาสทางการตลาดให้พบ หลังจากนั้นก็จะต้องหาผลิตภัณฑ์เพื่อมาตอบสนอง โดยที่สำคัญหากจะให้ดีที่สุดต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่มีผู้ใดนำเสนอ เพื่อเป็นผู้นำทางการตลาด