ATM Tea bar ชานมไข่มุกแบรนด์ไทยสร้างจุดขายด้วยไอเดีย
ปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันในการสร้างธุรกิจเป็นอย่างดีส่วนใหญ่จะมาจากความชื่นชอบ หรือความหลงใหล โดยจะทำให้เกิดความพยายามในการเข้าไปศึกษาหาความรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรและทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความสุข ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
“ธนวัฒน์ ทองเจริญเกียรติ” และ “ณิชา วงษ์หล่อกุลสัก” 2 หุ้นส่วนทางธุรกิจ เจ้าของแบรนด์ “ATM Tea bar” ชานมไข่มุกที่สร้างความแตกต่างในตลาดอย่างมีสไตล์จนกลายเป็นกระแสฮอตฮิตบนโลกอินเตอร์เน็ต และเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ก็คือผู้ที่ Startup ธุรกิจขึ้นมาด้วยปัจจัยดังกล่าว
-สร้างธุรกิจจากความชอบ
ธนวัฒน์ บอกถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นไอเดียในการทำธุรกิจว่า มาจากความชื่นชอบรสชาติของชานม โดยหากย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน ธุรกิจชานมยังมีไม่มาก หรือบูมเท่ากับในปัจจุบัน ซึ่งจากประสบการณ์ของตนและแฟนซึ่งก็คือคุณณิชาที่เป็นหุ้นส่วนธุรกิจได้มีโอกาสไปศึกษาที่ต่างประเทศ ทำให้ได้พบเห็นแนวคิดที่หลากหลาย โดยเรา 2 คนมีความคิดที่ต้องการนำเสนอชานมไข่มุกในมุมมองที่แตกต่างออกไปให้ผู้บริโภคคนไทยได้ลองรับประทาน ซึ่งแบรนด์เลือกที่จะไม่ใช้ครีมเทียมเป็นส่วนผสม และคัดสรรวัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติแบบ 100% ไม่ว่าจะเป็นนมสด หรือใบชามาเสริฟ์สำหรับผู้ที่รักสุขภาพ
อย่างไรก็ดี เมื่อมองถึงหลักในการทำตลาดแล้วคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงที่จะทำให้ร้านเป็นที่รู้จัก เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการเพิ่มเติมความน่าสนใจเข้าไป โดยนำประสบการณ์จากการสั่งออเดอร์ ซึ่งบางครั้งจะมีความเขินอายจากความไม่รู้มาต่อยอดสร้างเป็นเครื่องสั่งออเดอร์ในรูปแบบคล้ายกับตู้เอทีเอ็ม ซึ่งผสมผสานมาจากชื่อเต็มของร้าน “A Tea Moment” ให้กลายเป็นตัวย่อ เพื่อช่วยให้ร้านมีเอกลักษณ์
ณิชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตู้เอทีเอ็มสำหรับสั่งออเดอร์ของร้านจะมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันทุกสาขา ด้วยความที่ธุรกิจชานมเป็นธุรกิจที่ผู้ให้บริการจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนำไลฟ์สไตล์มาผสมผสานเท่าใดนัก จะมองเพียงแค่เป็นธุรกิจที่ผู้บริโภคมาซื้อแล้วจากไป แต่จากการที่เรา 2 คนชอบการนั่งดื่มด่ำกับบรรยากาศของร้านในรูปแบบคาเฟ่ จึงต้องการนำสิ่งเหล่านั้นมารวมกับร้านชานมให้กลายเป็นร้านที่ดูไม่ธรรมดา เสมือนเป็นการเพิ่มลูกเล่นให้เป็นที่จดจำของผู้บริโภคได้บอกต่อกันไป
“ต้องไม่ลืมว่ายุคสมัยใหม่คนชอบถ่ายรูป และแชร์ออกไปให้ผู้อื่นได้รับรู้ เนื่องจากโลกของโซเชี่ยลมีเดียได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน ดังนั้น แบรนด์จึงต้องการให้การมาซื้อชาเป็นมากกว่าแค่การซื้อชาเพียงแก้วเดียว จะต้องได้อะไรกลับไปมากกว่านั้น ทั้งเรื่องของคุณภาพ ความสนุก ความสุขจากการแชร์รูปภภาพ และการสั่งออเดอร์ที่ไม่เหมือนที่อื่น”
-ใช้โซเชี่ยลให้เกิดประโยชน์
ธนวัฒน์ กล่าวอีกว่าปัจจุบันร้าน ATM Tea bar มีทั้งหมด 7 สาขา ประกอบด้วย 1.สยามสแควร์ ,2.เซ็นทรัลลาดพร้าว ,3.ไอคอนสยาม ,4.เซ็นทรัลเอ็มบาสซี ,5.เซ็นทรัลพระราม 9 ,6.เซ็นทรัลเวิร์ล (CTW) และ7.ฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต อย่างไรก็ดี นอกจากเอกลักษณ์ของตู้เอทีเอ็มแล้ว แบรนด์ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของภาพจำ โดยจะเห็นได้จากโลโก้ของร้านที่แบรนด์เลือกสื่อสารด้วยสัญลักษณ์ที่ผู้บริโภคเห็นแล้วจะรู้ได้ทันทีว่าเป็นร้าน ATM Tea bar เช่น รูปสามเหลี่ยมแทนตัวเอ รูปแก้วแทนตัวที รูปใบชาแทนตัวเอ็ม และรูปลูกโป่งแทนไข่มุก เพราะหากให้จำแค่ตู้เอทีเอ็มก็จะดูธรรมดาเกินไป ร้านจึงเพิ่มลูกเล่นให้สามารถจดจำได้หลายมุม เพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป
“การตลาดสมัยใหม่จะเน้นเรื่องโซเชี่ยลมากหน่อย เพราะกลุ่มลูกค้าอยู่ในนั้น คนจะใช้เวลาในโซเชี่ยลค่อนข้างสูง ทำให้การทำตลาดง่ายมากขึ้นในการสื่อสารถึงลูกค้า เราจึงนำช่องทางดังกล่าวนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ แม้ว่าธุรกิจของเราจะไม่ใช่ธุรกิจออนไลน์ แต่ก็สามารถสร้างการรับรู้ได้เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของร้าน ทั้งการเปิดสาขาใหม่ หรือการมีเมนูใหม่ให้ลิ้มลอง”
ณิชา กล่าวว่า ด้วยความที่ตนจบการศึกษาทางด้านแฟชั่นจึงได้มีการปรับประยุกต์ไอเดียสร้างสรรค์ลงไปในเครื่องดื่ม โดยเป็นแบรนด์แรกที่นำเสนอเครื่องดื่มที่มีสีสันสวยงาม ซึ่งฉีกแนวจากชานมไข่มุกทั่วไป อีกทั้งยังมีการนำเสนอเมนูใหม่ที่ไม่มีผู้ใดทำมาก่อนออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การนำมันม่วงมาทำเป็นเครื่องดื่ม โดยถือว่าเป็นที่แรกของโลก อีกทั้งยังมีการนำชามัชฉะมาผสมผสานเข้ากับสตอร์เบอร์รี่ ซึ่งเมื่อรับประทานจะรู้สึกเหมือนขนม เป็นต้น โดยเน้นเครื่องดื่มที่ไม่หนักจนเกินไป ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเบาสบายดื่มได้เรื่อยๆ จะไม่เน้นการนำทุกอย่างใส่ลงไปในเมนูให้ดูแน่นเกินไป
“เมนูที่เป็นโปสเตอร์ของร้านจะเป็นเหมือนการรวมเอาแฟชั่นเข้ามาใส่ในเครื่องดื่มให้ดูมีความแตกต่าง รวมถึงน่าสนใจ และดูทันสมัย เราจะมีการพัฒนาเครื่องดื่มออกมานำเสนออย่างต่อเนื่องให้ลูกค้าได้ลองรับประทานเป็นซีซั่น”
-ขยายออกต่างจังหวัดและต่างประเทศ
ธนวัฒน์ กล่าวต่อไปอีกว่า เป้าหมายของร้านจะไม่ได้มุ่งเน้นการมองเปอร์เซ็นต์ในการเติบโต แต่จะมองเรื่องของการขยายธุรกิจมากกว่าว่าในแต่ละปีจะดำเนินการอย่างไร ปีนี้จะขยายไปต่างจังหวัดเท่าไหร่ และปีหน้าจะขยายไปต่างประเทศที่ไหนบ้าง โดยจะมองเป็นเป้าหมายในระยะยาวมากกว่า เพื่อการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ซึ่งร้าน ATM Tea bar ไม่ได้ต้องการเป็นแบรนด์ตลาดทั่วไป (Mass) แต่ต้องการให้ร้านดูมีเอกลักษณ์ที่ผู้บริโภคจะต้องมาใช้บริการ ให้ลูกค้ามีช่วงเวลาดีๆ ในการดื่มชา ถือเครื่องดื่มของร้านแล้วมีความภูมิใจ ไม่ทำลายสุขภาพ
“ในระยะต่อไปแบรนด์จะดำเนินการขยายสาขาออกต่างจังหวัดเริ่มต้นที่เซ็นทรัล ขอนแก่นในเดือนสิหาคม และมีแผนที่จะขยายสาขาไปยังพื้นที่อื่นเป็นลำดับต่อไป โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเจรจาธุรกิจ และสำรวจทำเลอีกหลายแห่ง เนื่องจากตลาดใน กทม. มีคู่แข่งมาก จึงต้องการขยายไปยังจังหวัดอื่นเพื่อขยายฐานลูกค้าและวางรากฐานธุรกิจให้แข็งแกร่ง เพื่อนำไปสู่แผนการขยายตลาดในระดับต่อไป”
ณิชา กล่าวเสริมว่า ในปี 2563 แบรนด์จะขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศในรูปแบบแฟรนไชน์ โดยขณะนี้มีลูกค้าที่ต้องการร่วมทำธุรกิจกว่า 100 รายจากทั่วโลก เช่น มาเลเซีย ,สิงคโปร์ ,อินโดนีเซีย ,กัมพูชา ,เวียดนาม ,ฮ่องกง ,เกาหลี ,ไต้หวัน ,ดูไบ ,โอมาน ,ซาอุ ,ตุรกี และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
“การสร้างธุรกิจจะต้องไม่ใช่เป็นการทำตามกระแส เพราะอาจจะทำให้ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควร เนื่องจากเป็นการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตลาด เพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดที่เล็กน้อย ซึ่งส่งผลทำให้การขยายธุรกิจต่อไปทำได้ยากลำบาก ดังนั้นการจะสร้างธุรกิจเป็นของตนเองจะต้องคิดให้รอบด้าน และมีไอเดียสร้างสรรค์ที่จะสร้างความแตกต่างให้ตลาด”.