รอยัล เซรามิคส์ ล้ำด้วยเทคโนโลยีสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์
การมีต้นทุนทางธุรกิจที่ดีถือเป็นข้อได้เปรียบ ยิ่งหากได้รับการพัฒนาต่อยอดด้วยไอเดียแนวคิดที่สร้างสรรค์ ผสมผสานกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะยิ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้อย่างมหาศาล เมื่อสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้
บริษัท รอยัล เซรามิคส์ จำกัดถูกก่อตั้งขึ้นมาได้เพียง 2 ปี แต่ผลิตภัณฑ์ที่ทำขากเซรามิกของที่นี่ได้รับการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลของผู้บริหาร ซึ่งมีการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานทดแทนแรงงานจากมนุษย์ ทำให้สามารถออกแบบ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ออกมาได้อย่างมีคุณภาพ จนการ Startup ธุรกิจครั้งนี้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
ต่อยอดธุรกิจครอบครัวสามี
“อรัญญา เชาว์กิตติโสภณ” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท รอยัล เซรามิคส์ จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปขอจุดเริ่มต้นไอเดียในการทำธุรกิจ ว่า มาจากการที่ครอบครัวของสามีเธอทำธุรกิจเกี่ยวกับเซรามิกอยู่แล้วที่จังหวัดลำปาง เมื่อเห็นว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจและน่าจะนำมาต่อยอดเพื่อขยายฐานลูกค้าและตลาดต่อได้ เพราะยังมีอีกหลายห้างสรรพสินค้าในเมืองไทยและต่างประเทศที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ จึงออกมาตั้งบริษัทอีกบริษัทหนึ่ง เพื่อทำผลิตภัณฑ์จำหน่ายให้
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะมุ่งเน้นไปที่ความแตกต่างตั้งแต่เรื่องการขึ้นรูปด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยซึ่งนำเข้ามาจากประเทศเยอรมัน โดยสามารถขึ้นรูปได้โดยไม่ต้องใช้แรงงานมนุษย์ หลังจากนั้นก็จะมีหุ่นยนต์เข้ามาช่วยสานงานต่อ ทำให้บริษัทเป็นเอสเอ็มอีที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือเรียกว่าว่าเป็น 4.0 ได้ แม้จะเป็นเพียงผู้ประกอบการายเล็กเท่านั้น
“ระบบการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เซรามกในประเทศไทยนั้น หากไม่ใช่โรงงานขนาดใหญ่ จะเป็นลักษณะการปั้นด้วยมือไม่ว่าจะใช้เครื่องแบบออโต้ หรือเครื่องปั้นแบบเซมิ แต่เครื่องจักรของบริษัทจะทำให้ได้รูปทรงที่พิเศษที่แตกต่าง หรือแบบที่ไม่สามารถปั้นด้วยมือได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางการตลาด อีกทั้งยังมีข้อดีในเรื่องของการลดระยะเวลาในการทำงานด้วย”
สำหรับการปั้นเซรามิกในสมัยโบราณจะใช้ดินเปียกมาเป็นวัตถุดิบในการปั้น หลังจากนั้นก็จะต้องรอให้ดินแห้ง หรือหากโรงงานใดที่มีตู้อบก็จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง หรือ 1 วันในการผลิต แต่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะใช้เวลาในการผลิตรวมทั้งหมดประมาณ 5 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรอการอบแห้ง และไม่ต้องใช้ดินเปียก
รุกตลาดในและต่างประเทศ
อรัญญา บอกต่อไปว่า ช่องทางการทำตลาดของบริษัทมีทั้งในประเทศ ซึ่งจะเป็นการจำหน่ายผ่านห้างค้าส่งขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กซี โลตัส และห้างสรรพสินค้าระดับพรีมี่ยม ขณะที่ตลาดส่งออกก็จะมีประเทศสหรัฐอเมริกา แม็กซิโก ,บราซิล ทางฝั่งยุโรปก็จะมีประเทศโปแลนด์ ฝรั่งเศส
ส่วนการทำตลาดของบริษัทปีนี้ หากเป็นตลาดในประเทศบริษัทยังคงมุ่งเน้นการออกงานแสดงสินค้า เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ซึ่งจะเป็นกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้งาน และความต้องการของบริโภคที่นำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้อีกด้วย นอกจากนี้จะยังคงรักษาตลาด และฐานลูกค้าเดิมบนช่องทางการจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด
เช่นเดียวกับการทำตลาดต่างประเทศที่จะมุ่งเน้นที่การออกงานแสดงสินค้ายังประเทศต่างๆ อาทิ ประเทศฮ่องกง ,เมืองกวางเจา ,เยอรมัน และที่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี ในปีนี้บริษัทยังได้รับการคัดเลือกให้นำผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่างวอลล์มาร์ท (Walmart) ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศทั่วโลก
“ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อที่จะวางจำหน่ายบนห้างดังกล่าว และยังเตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกหลายรูปแบบเพื่อนำเสนอตามข้อตกลงในการทำธุรกิจร่วมกัน ซึ่งบริษัทสามารถผ่านขั้นตอนของการตรวจสอบมาตรฐาน 3 อย่างได้เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าจะเพิ่งเปิดโรงงานผลิตได้ไม่ถึง 2 ปี”
แตกไลน์ผลิตภัณฑ์
อรัญญา บอกต่อไปด้วยว่า บริษัทกำลังดำเนินการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่การทำกระเบื้องหลังคาบ้าน หรือหลังคาวัด และอะไรก็ตามที่เป็นเซรามิก โดยอาศัยความได้เปรียบทางด้านเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีความคงทน สีสันสวยงามตลอดอายุการใช้งาน เพราะเป็นการเผาเซรามิกด้วยไฟที่กำลังแรงมาก ซึ่งจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากดินเปียก หรือคอนกรีต
“การผลิตแบบนี้ในประเทศไทยมีทำกันอยู่น้อยมาก เพราะต้องมีการลงทุนเครื่องจักรที่ทันสมัย โดยบริษัทเริ่มดำเนินการแนวคิดดังกล่าวมาได้ประมาณ 2 เดือน และมีออเดอรคำสั่งซื้อเข้ามาเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทจะค่อนข้างเปิดกว้างสำหรับลูกค้าทุกรายที่เข้ามาหรือปรึกษางาน ซึ่งหัวใจสำคัญก็คือความรับผิดชอบต่องานของตนเอง และของลูกค้า”
อย่างไรก็ตาม เดิมทีปีนี้บริษัทตั้งเป้าที่จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 120 ล้านบาท แต่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าที่จะจับจ่ายใช้สอย บริษัทจึงได้ดำเนินการปรับเป้ารายได้ลงเล็กน้อยเหลืออยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท โดยมีกลยุทธ์การทำตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้าและรายได้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
“จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทผลิตนั้น อยู่ที่การขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยี ซึ่งสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ระบบดินแห้ง รวมถึงการขึ้นรูปได้อย่างหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งยังเป็นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย และใช้หุ่นยนต์ หรือโรบอท (Robot) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และลดต้นทุนในการผลิต โดยข้อดีของ การใช้โรบอท คือสามารถขึ้นรูปเซรามิกในรูปแบบที่แรงงานคนอาจจะทำไม่ได้ และยังไม่มีโรงงานในจังหวัดลำปางทำได้ อย่างเช่น จานรูปวงรี และจานสี่เหลี่่ยม รวมถึงดีไซน์ใหม่ ที่ยังไม่เคยมีในเมืองไทย ที่สำคัญสามารถทำตามแบบที่ลูกค้าต้องการได้ โดยไม่มีข้อจำกัด”