“บ้านฉัน ณ ฝาง” ไอเดียเพิ่มมูลค่าของดีภาคเหนือ
จากประสบการณ์ในการทำงานที่บ้านเกิด ณ โรงพยาบาลฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ได้พบกับเส้นทางในการสร้างธุรกิจอย่างไม่คาดฝัน ประกอบกับช่วงเวลาที่เหมาะเจาะลงตัว ส่งผลทำให้ “ชนัญธิดา รอบคอบ” Startup ธุรกิจของตนเองขึ้นมาได้
ของดีเมืองฝางสู่ธุรกิจ
ชนัญธิดา ในฐานะเจ้าของกิจการ บริษัท บ้านฉัน ณ ฝาง บอกถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นไอเดียในการทำธุกิจว่า เดิมทีตัวเธอเองเคยทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ในตำแหน่งประชาสัมพันธ์ขององค์กรหนึ่ง โดยมีโอกาสได้ไปเดินเที่ยวชมงานสินค้าโอท็อป (OTOP) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองทองธานี โดยที่นิสยัส่วนตัวก็เป็นคนที่ชอบเดินเที่ยวชมงานประเภทดังกล่าวนี้อยู่แล้ว และตัวเธอเองก็คิดว่าสักวันหนึ่งจะต้องกลับไปทำธุรกิจที่บ้านเกิด เมื่อเดินเที่ยวชมงานเลยทำให้คิดตามไปด้วยว่าที่อำเภอฝางบ้านเกิดมีอะไรที่เป็นจุดเด่น
สิ่งที่นึกถึงก็คือ ส้มสายน้ำผึ้ง ซึ่งถือว่าเป็นของขึ้นชื่อที่ผู้มาเยือนจะต้องซื้อกลับไปเป็นของฝากกันแทบทุกราย อีกทั้งตัวเธอเองก่อนที่จะมาทำงานในกรุงเทพฯ ก็เคยทำงานเป็นประชาสัมพันธ์ที่โรงพยาบาลฝางมาก่อน และเคยได้รับการติดต่อให้หาของฝากให้ โดยสิ่งที่นึกถึงเป็นลำดับแกรก็คือ ส้มสายน้ำผึ้ง แต่ด้วยระยะทางจากอำเภอฝางมาถึงตัวเมืองเชียงใหม่มีระยะทางที่ค่อนข้างไกล ทำให้การขนส่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก ตนจึงนึกถึงวิธีที่จะทำให้ส้มสายน้ำผึ้งสามารถเดินทางขนส่งไปได้ทั่วประเทศ
ขณะที่ในช่วงนั้น ส้มสายน้ำผึ้ง เองก็มีค่อนข้างมากจนทำให้เกิดอาการล้นตลาด ตนจึงคิดหาวิธีเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยการนำมาแปรรูปในรูปแบบของการอบแห้ง ซึ่งตอบโจทย์แนวความคิดของตนได้ดีที่สุด ทำให้สามารถขนส่งส้มสายน้ำผึ้งจากภาคเหนือไปยังภาคใต้ได้ จากเดิมที่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้จะมีโอกาสรับประทานส้มสายน้ำผึ้งได้น้อยมาก ด้วยอุปสรรคทางด้านระยะทาง โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า “บ้านฉัน ณ ฝาง” ซึ่งตั้งใจที่จะบ่งบอกว่านี่คือของขึ้นชื่อประจำท้องถิ่น เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนได้รู้จักเป็นวงกว้าง
“สั้มสดจำนวน 20 กิโลกรัม เมื่อแปรรูปออกมาแล้วจะได้เป็น 1 กิโลกรัมของส้มอบแห้ง โดยกระบวนการอบจะต้องใช้เวลาประมาณ 16-17 ชั่วโมง เมื่อรับประทานจะได้รสชาติและกลิ่นส้มสายน้ำผึ้ง”
ผสานเอกลักษณ์จากภาคเหนือ
ชนัญธิดา บอกต่อไปอีกว่า ช่องทางการจำหน่ายเดิมของแบรนด์นั้น เนื่องจากเพิ่งเริ่มทำตลาดได้ไม่นานนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการออกงานแสดงสินค้าร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ,จุดจำหน่ายที่บ้าน และร้านขายของฝาก โดยหลังจากที่ได้รับรางวัลมาตรฐาน SME Start up จากการประกวด SME Start up ครั้งที่ 2 และรางวัล SME Provincial Champions ในการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ปี 2561 ภายใต้โครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด จาก สสว. ทำให้บริษัทได้มีโอกาสได้เจรจาทางธุรกิจกับห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น เช่น ริมปิง เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัท
ส่วนกลยุทธ์ในการทำตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้า และเพิ่มรายได้ปีนี้นั้น บริษัทจะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด โดยจะเป็นการผสมผสานผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากภาคเหนือเข้ากับผลไม้ที่แบรนด์นำมาอบแห้งทำตลาดอยู่ เพื่อให้กลายเป็นเครื่องดื่มในรูปแบบที่เรียกว่า ชาผลไม้
“ชาที่บริษัทเลือกใช้จะเป็นชาอัสสัม (Assam Tea) ซึ่งจะนิยมปลูกกันมากบริเวณใกล้ดอยของภาคเหนือ โดยเป็นไปตามคอนเซ็ปป์ของบริษัทที่ต้องการนำเสนอเอกลักษณ์ของภาคเหนือให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะอยู่ที่ความหอมของชา และรสชาติของผลไม้อบแห้งตามกระบวนการผลิตของบริษัท ที่จะไม่มีการผสมน้ำตาล และผสมสีในผลไม้ โดยจะใช้หญ้าหวานเป็นวัตถุดิบในการให้ความหวานของรสชาติชา”
นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมนำเสนอผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่เรียกว่า “Water Dried Fruit” ซึ่งจะเป็นการนำผลไม้อบแห้งรวมมาผสมกับน้ำ โดยที่ผู้ดื่มจะได้รับความสดชื่นและความหอมแบบธรรมชาติ ซึ่งบริษัทถือเป็นรายแรกที่ทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในประเทศไทย เนื่องจากส่วนใหญ่ที่มีวางจำหน่ายจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งจะมีราคาที่ค่อนสูง แต่ของบริษัทจะมีราคาที่ย่อมเยากว่ามาก เพราะวัตถุดิบหลักทั้งหมดจะอยู่ในประเทศ
“ทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะมุ่งเน้นการเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนรักสุขภาพ และกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นหลัก โดยมองว่าตลาดดังกล่าวกำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค และน่าจะเป็นตลาดที่ยังสามารถเติบโตไปได้อีกในระยะยาว”
เจาะตลาดกลุ่มผู้ชอบหวาน
ชนัญธิดา บอกอีกว่า ช็อกโกแลตบาร์ผสมผลไม้อบแห้งยังเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่บริษัทโดยนำเสนอ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้จะขยายตลาดไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่ชอบรับประทานของหวาน ไม่ได้เน้นสุขภาพมากนัก โดยจะเป็นการนำผลไม้อบแห้งมาผสมผสานกับช็อกโกแลตให้เกิดเป็นรสชาติใหม่สำหรับผู้บริโภค
“ทั้งหมดเป็นการเตรียมการเพื่อการออกงานแสดงสินค้า “ล้านนา เอ็กซ์โป”ประจำปีนี้ โดยงานดังกล่าวถือเป็นงานที่ทำให้แบรนด์บ้านฉัน ณ ฝาง เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค จากผลิตภัณฑ์ส้มสายน้ำผึ้งอบแห้ง และสับปะรดอบแห้ง หลังจากนั้นแบรนด์จึงมีผลิตภัณฑ์อื่นทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลไม้อบแห้งทั้งหมด 9 ชนิด ซึ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาได้แก่ แก้วมังกรอบแห้ง ,แตงโมอบแห้ง ,แอปเปิ้ลอบแห้ง ,แคนตาลูปอบแห้ง ,สตอเบอรี่อบแห้ง ,กล้วยหอมทองอบแห้ง และมะม่วงน้ำดอกไม้อบแห้ง”
ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ออกมาจะมีการจำหน่ายบนช่องทางออนไลน์ด้วย ทั้งไลน์ ,เพจเฟสบุ๊ก ,อินสตราแกรม (IG) ,ลาซาด้า (Lazada) และช็อปปี้ (Shopee) โดยล่าสุดมีลูกค้าออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม บริษัทยังดำเนินธุรกิจในรูปแบบของการรับจ้างผลิต (OEM) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นนำไปสร้างแบรนด์เป็นของตนเองด้วย โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ บ้านฉัน ณ ฝาง อยู่ที่การเป็นผลไม้อบแห้งที่ไม่ผสมน้ำตาล และไม่มีการผสมสี อีกทั้งยังเป็นรายแรกที่ผลิตส้มสายน้ำผึ้งอบแห้งเพื่อจำหน่าย