42 เนอเจอรัลฯ ผลิตภัณฑ์จากน้ำยางพาราคุณภาพ
ทุกธุรกิจย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับว่าวันเวลาและสถานการณ์ดังกล่าวเหล่านั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่สำคัญก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของตลาดให้ได้ เพื่อต่อยอดของธุรกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน
“บริษัท 42 เนเจอรัลรับเบอร์ จำกัด” เป็นหนึ่งบริษัทที่ก่อกำเนิดขึ้นมาจากการต่อยอดธุรกิจเดิม ซึ่ง “คุณัญญา แก้วหนู” เล็งเห็นว่าไม่สามารถควบคุมตลาดได้ด้วยตนเอง จึงได้มองหาธุรกิจใหม่ที่ปรับประยุกต์วัตถุดิบให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จน Startup ธุรกิจรูปแบบใหม่ขึ้นมาได้ในที่สุด
ต่อยอดธุรกิจเดิมสู่ธุรกิจใหม่
คุนัญญา ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท 42 เนอเจอรัลรับเบอร์ จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปแห่งจุดเริ่มต้นประกายไอเดียในการสร้างธุรกิจ ว่า ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเดิมทีทำธุรกิจในการนำน้ำนางพาราจากสวนมาแปรรูปให้เป็นแผ่นยางดิบ เพื่อส่งให้กับโรงงานผลิตยาง แต่ด้วยความที่ราคาของน้ำยางพารามีราคาที่แกว่งตัวขึ้นและลงตามความต้องการของตลาด
ทั้งนี้ จากราคาของน้ำยางพาราที่ไม่เสถียร และหากวันหนึ่งที่ราคารับซื้อเท่ากับราคาขายคงจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพราะเราไม่สามารถควบคุมกลไกลของตลาดได้ด้วยตนเอง ตนจึงเริ่มมองหาธุรกิจอื่นนอกเหนือจากที่ทำอยู่ว่าจะแปรเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบใดได้บ้าง โดยความคิดที่ตกผลึกออกมาได้นำไปสู่การผลิตเป็นหมอนยางพารา และต่อยอดไปสู่การทำถุงมือเคลือบยางพารา
“หมอนยางพาราที่บริษัทผลิตออกมาทำตลาดในแบรนด์ ชาดา (CHADA) ส่วนถุงมือเคลือบยางพาราใช้ แบรนด์ แม็กซ์ โกลฟ (MAX GLOVES)”
เน้นตลาดต่างประเทศ
สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดของบริษัทปีนี้จะมุ่งเน้นการขยายตลาดในประเทศเป็นหลัก โดยในลำดับแรกจะพยายามทำให้การทำตลาดในประเทศจีนมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งล่าสุดบริษัทได้ดำเนินการจัดทำวิดีโอแนะนำสินค้า และทำบาร์โค้ด เพื่อสื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงประเทศผู้ผลิตช่วยตัวแทนจำหน่าย และลูกค้าปลีก โดยจะเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการซื้อผลิตภัณฑ์มากขึ้น เพราะผู้บริโภคในจีนมีความต้องการผลิตภัณณ์จากประเทศไทยเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี บริษัทยังมีแผนที่จะขยายตลาดไปยังประเทศในกลุ่มเออีซี (AEC) และอินเดียเพิ่มเติม โดยปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาทางธุรกิจกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศกัมพูชาอยู่ จากเดิมที่บริษัทมีการทำตลาดอยู่ในประเทศจีน และลาวเป็นตลาดหลัก ขณะที่ตลาดในประเทศจะมุ่งเน้นการออกงานแสดงสินค้าเป็นกลยุทธ์หลักในการเจาะตลาด เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง
“บริษัทได้ดำเนินการลงทุนเรื่องเทคโนโลยีเครื่องจักรในการผลิตถุงมือเคลือบยางพารา เพื่อรองรับการทำตลาดที่ขยายตัวมากยิ่งขึ้นในปีนี้ จากเดิมที่ใช้แรงงานคนซึ่งจะผลิตได้ประมาณ 10 โหลต่อ 1 สัปดาห์ แต่เมื่อใช้เครื่องจักรสามารถผลิตได้ 10 โหลต่อ 1 ชั่วโมง โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) ด้วยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ”
ตั้งเป้ารายได้แตะ 5-6 ล้านบาท
คุนัญญา บอกต่อไปอีกว่า ช่องทางการจำหน่ายในประเทศบริษัทจะยังคงมุ่งเน้นไปการออกงานแสดงสินค้า ซึ่งบริษัทมีตัวแทนในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้ โดยบริษัทจะทำการสนับสนุนการขายด้วยการมีผลิตภัณฑ์ออกใหม่ในทุกไตรมาส เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า และขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น ซึ่งล่าสุดบริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการวิจัย และพัฒนาอยู่อีก 2 ชิ้น โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอออกสู่ตลาดได้ภายในปีนี้ นอกจากนี้ บริษัทยังมองไปยังตลาดของกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นการต่อยอดตลาดของบริษัท
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทผลิตนั้น หากเป็นหมอนยาพาราแบรนด์ ชาดา จะอยู่ที่การเป็นหมอนที่ผลิตด้วยการทำมือ หรือแฮนด์เมด (Handmade) โดยจะมีความแข็งแรง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน อีกทั้งยังทำให้ยางพาราแห้งด้วยการเป่าลม ส่งผลให้หมดปัญหาเรื่องกลิ่นเวลาที่ใช้งาน ขณะที่ถุงมือเคลือบยางพาราแบรนด์ แม็กซ์ โกลฟ จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งทำให้มีคุณสมบัติในการป้องกันการลื่นได้เป็นอย่างดี แม้จะอยู่ในสภาพที่เปียกชื้น เพราะยางพารามีคุณสมบัติในการป้องกันการลื่นได้ดีที่สุด
“จากกลยุทธ์การทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 5-6 ล้านบาทในปีนี้ หรือเติบโตขึ้นประมาณ 30-50% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 3-4 ล้านบาท”
ด้านหลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น มองว่าอยู่ที่การเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) รายเล็ก ซึ่งทำให้บริษัทมีความได้เปรียบจากการที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ และการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างรวดเร็วเมื่อตลาดเดิมที่ทำอยู่มีอาการซบเซา เช่น จากเดิมที่ถุงมือเคลือบยางพาราของบริษัทจะผลิตออกมาแต่สีเหลือง บริษัทก็สามารถปรับเปลี่ยนสีได้ทันทีตามที่ตลาดต้องการ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมาจากปัจจัยทางด้านนวัตกรรมที่บริษัทนำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดยุคปัจจุบันได้