“ปาป้าเปเปอร์” กระดาษสาเจ้าเดียวในไทย
พื้นฐานทางธุรกิจที่มั่นคงถือเป็นต้นทุนที่มีคุณค่า แต่สิ่งที่สำคัญก็คือการจะดำเนินการอย่างไรให้สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน และแผ่ขยายไปได้มากกว่าที่ผ่านมา “ธนากร สุภาษา” คือชายหนุ่มที่ได้รับการสืบทอดธุรกิจการทำกระดาษสา โดยนำมาปรับปรุงพัฒนาด้วยการใส่ไอเดียทางธุรกิจ
เพื่อเพิ่มจำนวนฐานลูกค้า และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกที่ต่างประเทศให้ความสนใจ พร้อมกับ Startup ธุรกิจในรุ่นของตนเองขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “ปาป้า เปเปอร์ แฟคตอรี่” (PAPA PAPER FACTORY)
สืบทอดธุรกิจ
ธนากร ในฐานะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซิมพลิเด็คคอร์ จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปแห่งจุดเริ่มต้นไอเดียในการทำธุรกิจครั้งนี้ ว่า มาจากการที่ตนได้มีโอกาสสืบทอดธุรกิจของคุณพ่อ ที่เริ่มต้นด้วยการทำกระดาษสาที่หมู่บ้านต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมกระดาษสา เพื่อส่งกระดาษสาให้กับหมู่บ้านบ่อสร้างนำไปผลิตร่ม และพัด
เมื่อมาถึงยุคที่ตนเข้ามาบริหารจึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ และพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยมุ่งเน้นการดีไซน์ มาใช้ทำเป็นของที่ระลึก และของชำร่วยเพื่อทำตลาดส่งออก ซึ่งมีนโยบายในการทำร่วมกับสังคม และสิ่งแวดล้อม มีการกระจายรายได้ในชุมชน โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า ปาป้า เปเปอร์ แฟคตอรี่
สำหรับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์แบรนด์ “ปาป้า แฟตตอริ่ง” นั้น อยู่ที่การเป็นโรงงานกระดาษทำมือ หรือแฮนด์เมด (Handmade) เจ้าเดียวในประเทศไทยในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นกระดาษสาเขียนเทียนบาติกเจ้าเดียวในประเทศไทย จากการที่คุณพ่อซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและก่อตั้งธุรกิจได้เคยถวายงานให้กับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และการทำงานในรูปแบบแฮนด์เมดซึ่งมีการนำเครื่องจักรขนาดเล็กเข้ามาช่วยในการผลิต เพื่อรองรับตลาดรายใหญ่ทางด้านการส่งออก โดยสามารถผลิตได้เดือนละ 1 แสนแผ่นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องของวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตกระดาษซึ่งนำมาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น เส้นใยจากต้นหมาก ,มะพร้าว ,กล้วย ,กาแฟ และตะไคร้ เป็นต้น โดยจากจุดดังกล่าวนี้สามารถช่วยดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้เป็นอย่างดี
รุกออนไลน์และออฟไลน์
ธนากร บอกต่อไปว่า กลยุทธ์การทำตลาดของแบรนด์ในปีนี้จะดำเนินการผ่านช่อทางออนไลน์ และออฟไลน์ควบคู่กันไป โดยในส่วนของออนไลน์นั้น จะมีทั้งในรูปแบบของเพจเฟสบุ๊ก (Facebook) ,ไลน์แอด (LINE@) ,อินสตราแกรม (Instagram : IG) ,เว็บไซด์ช็อปปี้ (Shopee) และลาซาด้า (Lazada) ขณะที่หากเปิดค้นหาคำว่ากระดาษสาบนกูเกิ้ล (Google) ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะถูกเรียกขึ้นมาอยู่ที่หน้าแรกทันที
ขณะที่ช่องทางทางด้านออฟไลน์นั้น ส่วนใหญ่บริษัทจะเน้นการออกงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยร่วมมือกับองค์กรภาครัฐอย่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) เช่นที่ประเทศฮ่องกง เป็นต้น ขณะที่ในประเทศก็จะมีการออกงานแสดงสินค้าที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ด (CTW) และที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นต้น
“ลูกค้าหลักของแบรนด์ส่วนใหญ่กว่า 99% จะมาจากการส่งออก โดยประเทศหลักได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในแถบทวีปยุโรป (EU) ส่วนในประเทศจะเป็นการจำหน่ายผ่านหน้าร้านที่จังหวัดเชียงใหม่ และบนช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยที่บริษัทมีแนวคิดที่ต้องการให้คนไทยได้มีโอกาสใช้กระดาษสา หลังจากที่พบว่าส่วนใหญ่จะได้ใช้แต่กระดาษอุตสาหกรรม”
ยึดหลัก SEED นำธุรกิจ
ธนากร บอกต่อไปอีกว่า จากกลยุทธ์ในการทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้บริษัทมียอดรายได้อยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาทในปี 61 หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 ล้านบาท แต่ตลาดส่งออกในช่วงเดือนธันวาคมถือว่าเป็นช่วงโลว์ซีซั่น ทำให้ไม่มีคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เข้ามารายได้ของบรัทจึงหายไปส่วนหนึ่ง ส่วนในปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้อยู่ที่ 9 ล้านบาทจากเดิมที่ก่อนหน้านั้นในปี 59 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท เนื่องจากช่วงนั้นยังไม่มีเงินทุนมากพอในการขยายตลาดไปสู่ลูกค้ารายใหญ่
“SME Development Bank มีสวนช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจของบริษัทให้ขยายตัวได้มากยิ่งขึ้น ผ่านทางการให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการต่อยอดธุรกิจ โดยเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ซึ่งทำให้บริษัทได้มีโอกาสในการปรับปรุงธุรกิจทางด้านของผลิต ส่งผลให้มีฐานลุกค้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างในปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยเป็นที่ปรึกษาของธุรกิจ ทางด้านต่างๆ เติมเต็มส่วนที่ขาดของธุรกิจให้สมบูรณ์มากขึ้น”
ด้านหลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น บริษัทเลือกดำเนินการตามคำว่า “SEED” โดยที่ตัว S มาจากคำว่า Sustainable ซึ่งหมายความถึง การสร้างความยั่งยืน เช่น การอยู่ร่วมกับสังคม ชุมชน หารใช้พลังงาน และการรักษาสิ่งแวดล้อม ,E คือ Ethic หมายถึงการมีจริยธรรม ,E คือ Encouragement หมายถึง ส่งเสริมและสนับสนุน เช่น การสร้างอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต และ D คือ Development หมายถึง การพัฒนา เช่น การถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง องค์ความรู้ ภูมิปัญญา และนวัตกรรม