“แอรี่”สบู่เอกลักษณ์ผลไม้ไทยกลิ่นหอมยั่วยวนใจ
ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องของผลไม้ที่หลากหลาย และมีรสชาติที่อร่อยเป็นที่ถูกใจทั้งผู้บริโภคในประเทศ และผู้มาเยือนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวต่างประเทศส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะนำผลไม้จากไทยกลับไปยังประเทศของตน เพื่อเป็นของฝาก แต่ติดปัญหาเรื่องของการขนส่ง ซึ่งไม่สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้ในปริมาณมาก
ชุติกาญจน์ กาญจนพัชร คือหญิงสาวที่มองเห็นโอกาสจากจุดเด่นดังกล่าว โดยนำมาผสมผสานกับสิ่งที่ตนเองชอบ จนเกิดเป็นไอเดียในการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อนำเสนอสู่ผู้บริโภค และ Startup ธุรกิจของตนเองขึ้นมาจากความกล้าภายใต้แบรนด์ “แอรี่” (Airy)
-จากประสบการณ์สู่ธุรกิจ
ชุติกาญจน์ ในฐานะผู้จัดการ และที่ปรึกษาประธานบริษัท บริษัท สบู่ผลไม้ แอรี่ จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นแนวคิดในการสร้างธุรกิจของตนเอง ว่า มาจากช่วงที่ตนเป็นผู้นำเที่ยว หรือมัคคุเทศก์ หรือไกด์ของบริษัทจากประเทศจีน ซึ่งเมื่อช่วง 20 ปีก่อนมีนักท่องเที่ยวจากจีนเป็นจำนวนมาก โดยตนได้มีการฝึกภาษาบนรถนำเที่ยว จนสามารถสื่อสารและนำเสนอสิ่งต่างๆได้เป็นภาษาจีน แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป อายุที่เพิ่มขึ้นบวกกับลักษณะของงานที่ต้องตื่นก่อน และได้นอนที่หลัง ตนจึงมีความคิดที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้นตนได้ผันตัวเองมาเป็นผู้จัดการบริษัทอยู่ประมาณ 2 ปี ซึ่งด้วยหน้าที่และลักษณะงานที่ไม่มีความจำเป็นต้องออกไปทำหน้าที่นำเที่ยวทุกวัน ทำให้ตนพอจะมีเวลาในการกลับมานั่งทบทวนแนวคิดในการสร้างธุรกิจของตนเอง ซึ่งเกิดมาจากการได้รับรู้ว่าผลไม้ไทยเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวได้ โดยตนจะพบเจอปัญหาอยู่บ่อยครั้งจากการที่นักท่องเที่ยวพยายามซื้อผลไม้จากไทยเพื่อนำกลับไปยังประเทศของตนไปเป็นของฝาก แต่ไม่สามารถนำขึ้นเครื่องกลับไปได้ และต้องเรียกให้เธอมานำกลับไปอยู่บ่อยครั้ง เพราะหากจะทิ้งก็เสียดาย
จากปัญหาดังกล่าวทำให้ตัวเธอกลับมาคิดว่าน่าจะทำอะไรกับผลไม้ไทย และด้วยความที่ชอบดูทีวี หรือคลิปยูทูปจากต่างประเทศ ทำให้เกิดแนวคิดที่จะนำผลไม้ไทยมาทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์สบู่ โดยทำไปก็เรียนรู้และศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการทำอย่างต่อเนื่องจนได้สูตรที่เหมาะสม หลังจากนั้นจึงนำไปฝากขายที่ร้านขายของฝากที่อยู่ตามสถานที่ท่องเที่ยวที่ตนเองรู้จัก และเคยทำธุรกิจร่วมกัน ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์ได้รับความสนใจและขายได้ดีเป็นอย่างมาก ซึ่งในขณะนั้นยังทำในรูปแบบของอุตสาหกรรมในครัวเรือนอยู่ และทำแบบไม่ได้ออกตัวอย่างเต็มที่
-ความกล้าสู่ความสำเร็จ
ชุติกาญจน์ บอกต่อไปอีกว่า ออเดอร์แรกจากอยู่ที่ประมาณ 2 พันก้อน หลังจากนั้นปริมาณก็เริ่มเพิ่มมากขึ้น จากการขยายในวงกว้างด้วยเครือข่ายร้านค้าที่ตนเองมีอยู่ตอนที่ทำหน้าที่ไกด์ โดยมีการจัดทำเว็บไซด์ของบริษัทในรูปแบบของบุคคลธรรมดาภายใต้ชื่อ www.สบู่ผลไม้.com ซึ่งทำทั้งที่เป็นแบรนด์ของตนเอง และการรับจ้างผลิต (OEM) โดยหลังจากนั้นไม่นานได้มีออเดอร์แรกจากตะวันออกกลางสั่งเข้ามาประมาณ 50,000 ก้อน หรือตู้ขนาดไซส์ 20 คิวทำให้ตนตัดสินใจลาออกจากบริษัท และมาทำธุรกิจเกี่ยวกับสบู่อย่างเต็มตัว
“หากตนเองไม่ใจกล้า หรือใจปล้ำในวันนั้นจากความที่เป็นคนรักสวยรักงาม โดยที่ธุรกิจดังกล่าวตอบโจทย์ความเป็นตัวเองได้มากที่สุด แม้ว่าจะมีพนักงานอยู่เพียงแค่ 10 คน แต่ตนก็กล้าที่จะรับออเดอร์จำนวนดังกล่าวนั้น จนทำให้จากออกเดอร์ตู้ไซส์ขนาด 20 คิว ได้ขยายเป็นมีออเดอร์ตู้ไซส์ขนาด 40 คิว ตนจึงตัดสินใจทำเป็นโรงงานเพื่อรอรับการผลิตที่เติบโตขึ้นของสบู่ผลไม้แบรนด์ แอรี่”
ธุรกิจสบู่ผลไม้เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีจำหน่ายอยู่บนเว็บไซด์อีคอมเมิร์ท (E-Commerce) อย่างอะลีบาบา (Alibabab), วีแชท (WeChat : airy24766), ไลน์แอด (LINE@ : @airyfruitsoap), อินสตราแกรม (IG : airy_fruit_soap), เฟสบุ๊ก (Airy Soap Spa Thailand), ยูทูป (Youtube : Airyfruitsoap) เว็บไซด์ (www.สบู่ผลไม้.com) และร้านขายของฝากตามแหล่งท่องเที่ยว โดยผู้บริโภคนิยมซื้อไปใช้งาน รวมถึงการทำเป็นของชำร่วย และการนำไปเป็นของฝาก เป็นต้น ซึ่งทำให้ยอดขายของแบรนด์กว่า 90% เป็นการจำหน่ายในประเทศ ขณะที่ลูกค้าต่างประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 10% ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย, มาเลเซีย, อิรัก, ออสเตรเลีย, จีน และไต้หวัน เป็นต้น โดยทั้งหมดเป็นรูปแบบการจำหน่ายแบบขายส่ง และการส่งผลิตภัณฑ์ให้กับตัวแทนจำหน่าย เรียกว่าเป็นการทำธุรกิจแบบ B2C
“จุดเด่นของสบู่ผลไม้ไทยแบรนด์ แอรี่ อยู่ที่เป็นสบู่ที่สามารถใช้งานได้จริง มีกลิ่นหอมที่ยั่วยวนใจ ใช้แล้วมีกลิ่นติดตัว ที่สำคัญยังสามารถใช้ได้ทุกสภาพผิว ทำให้ผิวชุ่มชื่น ส่วนสีที่ใช้ก็ไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง และยังมีส่วนผสมของบวบ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ได้สครับผิว เพื่อกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วไปในตัว โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีทั้งสบู่ผลไม้ ดอกไม้ แฟนซี และสมุนไพร”
-เล็งขยายตลาดเพิ่มฐานลูกค้า
ชุติกาญจน์ บอกอีกว่า บริษัทเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กำลังจะเข้าไปสู่การเป็นธุรกิจขนาดกลาง โดยมีขนาดของธุรกิจที่ใหญ่มากขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนสภาพคล่องจากธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) เพราะการต่อยอดผลิตภัณฑ์ และเพิ่มจำนวนการผลิตจะต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมากมารองรับ อีกทั้งธนาคารยังมีส่วนช่วยในการประชาสัมพันธ์ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มของผู้บริโภคด้วย
ส่วนแผนการขยายตลาดเพื่อเพิ่มจำนวนฐานลูกค้าในนั้น บริษัทเตรียมที่จะแตกไลน์ของผลิตภัณฑ์ เพื่อทำตลาดในรูปแบบที่เป็นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการให้กับผู้บริโภคทั่วไป (B2C: Business-to-Consumer) และการขยายตลาดเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บอีคอมเมิร์ทต่างๆ, ไลน์แอด, IG เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันจะนิยมซื้อผลิตภัณฑ์บนช่องทางออนไลน์ และอนาคตจะทำเป็นช็อปจำหน่ายของแบรนด์เองอย่างเป็นทางการ
“ปัจจุบันเรากำลังทดลองตลาดด้วยการนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยูเดิมมาจำหน่ายบนช่องทางออนไลน์แบบขายให้กับลูกค้าโดยตรง ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อแตกไลน์ไปสู่การเป็นสบู่เหลว, สบู่รังไหม และสบู่แบบธรรมชาติ (Natural) หรือออแกนิก เพื่อจับกลุ่มลูกค้าในระดับบน ด้วยราคาที่สามารถจับต้องได้ โดยอาจจะแตกแบรนด์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ By Airy”
ด้านหลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น ตนมองว่าไม่ว่าจะทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร ล้วนแล้วแต่จะต้องเกิดปัญหาแทบทั้งสิ้น ผู้ที่ไม่เคยมีปัญหาคือผู้ที่ใม่ได้ทำอะไรเลย หรือไม่ได้ทำงาน โดยตนทำธุรกิจด้วยใจรัก รักในอาชีพ มีความสุขอยู่กับงานที่ทำ เพราะฉะนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาของเรา ซึ่งการแก้ปัญหาก็จะทำไปด้วยความสุข จึงเปรียบเสมือนว่าไม่ได้เป็นปัญหา ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จ.
คุณชุติกาญจน์ กาญจนพัชร : โทร 098-556-6466