“ทริปเปิ้ล-เอส”ชุดจักรยานแบรนด์ไทยคุณภาพระดับโลก

ความชื่นชอบ ความรัก และงานอดิเรกมักจะเป็นปัจจัยที่จุดประกายไอเดียในการทำธุรกิจให้กับหลากหลายผู้ประกอบการ เพราะเป็นเสมือนแรงบันดาลใจให้เกิดความตั้งใจ และมุ่งมั่นในการวิ่งเข้าหาความฝัน ซึ่งหมายถึงความสำเร็จที่รออยู่ปลายทาง
“จักรี ทะสี” คือชายหนุ่มที่ค้นหาตัวตนจนเจอ และเลือกที่จะเดินทางตามเส้นทางที่ตนเองชอบ แม้จะถูกคนรอบข้างคัดค้าน ด้วยความมุมานะ และการพัฒนาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมากที่สุด โดยเอาตนเอง และเพื่อนที่อยู่ในแวดวงเดียวกันเป็นบรรทัดฐาน จนสามารถ Startup ธุรกิจขึ้นมาได้ในที่สุดภายใต้แบรนด์ “ทริปเปิ้ล-เอส” (TRIPLE-S) ที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค
–จากความชอบสู่ธุรกิจ
จักรี ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ทริปเปิ้ล-เอส โออีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจ ว่า เป็นความบ้าบอพอสมควรกับการสร้างธุรกิจในครั้งนี้ โดยที่ผ่านมาตนทำธุรกิจมาหลายอย่างมาก ซึ่งส่วนมากก็จะมาจากสิ่งที่ตนเองเล่น หรือที่ชอบ หรืองานอดิเรกอย่างการปั่นจักรยาน หรือปลูกป่า หรือการออกกำลังกายประเภทต่างๆ โดยวันหนึ่งที่ทำงานไปมากๆ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้ออกกำลังกายเลย จึงเลือกที่จะมาปั่นจักรยาน เพราะมีสังคมและมีเพื่อนเยอะ
ด้วยความที่ตนเองเป็นคนที่ชอบแข่งขัน ก็เลยลองไปลงแข่งขันจักรยาน พอไปแข่งสนามแรกก็ปรากฎว่าได้ขึ้นรับรางวัลบนโพเดียมเลย หลังจากนั้นก็ติดใจและลงแข่งมาตลอด จึงชวนเพื่อนมาทำทีมแข่ง และพากันไปแข่งหนักกว่าเดิม จนทำให้ได้รู้จักกับคนในวงการจักรยานเป็นจำนวนมาก โดยได้ถ้วยรางวัลติดตัวตลอด ส่งผลให้ตนมีชื่อเสียงในเขตภาคเหนือ และจังหวัดเชียงใหม่

เมื่อเริ่มตัวจากการแข่งขันจึงผันตัวเองมาเป็นผู้จัดการทีม เพื่อดันเด็กๆไปแข่งขันในรายการต่างๆจนสามารถก้าวขึ้นไปติดทีมชาติไทยได้หลายคน ทำมาได้ระดับหนึ่งก็เริ่มรู้สึกเบื่อและไม่ต้องการที่จะทำต่อ แต่ก็เป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ตนได้ก้าวสู่การทำธุรกิจอีกครั้งจากกรณีหนึ่งที่ต้องสั่งชุดแข่งจากแบรนด์หนึ่งมา และไม่ได้ตามสเปคที่ต้องการ โดยกรณีที่เกิดขึ้นเป็นงานของผู้ใหญ่ที่เคารพด้วย โดยตนมีคุณแม่ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการเย็บเสื้อผ้าอยู่แล้ว จึงลองนำเรื่องไปปรึกษาว่าจะทำได้หรือไม่ ซึ่งแม่ยืนยันว่าสามรถทำได้
“เมื่อประตูสู่การทำธุรกิจเริ่มแง้มให้เห็น จึงชวนเพื่อนมาหารือว่าตนอยากทำชุดแข่งจักรยานให้กลายเป็นธุรกิจ โดยมองว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ และในตอนนั้นยังไม่มีคู่แข่งในตลาด แต่เมื่อลองคำนวณงบประมาณที่จะต้องใช้ในการลงทุนปรากฏว่าจะต้องใช้เงินถึงหลักล้านบาท ซึ่งสรุปแล้วจะต้องลงทุนกันประมาณคนละ 2-3 แสนบาท ทางบ้านก็ไม่สนับสนุนให้ทำ เงินเก็บส่วนตัวก็มีไม่มาก ดังนั้น ตนจึงตัดสินใจขายจักรยานที่รักได้เงินมาแสนกว่าบาท และไปกู้เงินนอกระบบมาอีก 5-6 บาท ตัดสินใจวัดดวงไปตายเอาดาบหน้า”
–ยกระดับแบรนด์สู่เอเชีย
จักรี ยืนยันว่า การตัดสินใจของตนในวันนั้นไม่ได้เป็นการบ้าแบบไม่มีทฤษฎี แม้ว่าจะเป็นการขายฝันที่ไม่มีใครเห็นด้วย โดยเมื่อเริ่มที่จะทำชุดแข่งขันจักรยานอย่างจริงจัง ก็ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากทุกคนในวงการทั้งที่เป็นเพื่อน พี่ และคู่แข่งขันในอดีตที่ช่วยกันติ บอกให้ปรับตรงนั้นตรงนี้จนมาถึงขั้นสุดที่ต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรมาเพื่อผลิต เพราะได้เดินมาถูกทางแล้ว และถึงเวลาที่ต้องหาเงินทุนอีกครั้ง
“ตนจึงได้นำโครงการไปนำเสนอกับธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) ปรากฏว่าทาง ธพว. ชอบมาก เพราะเป็นโครงการของคนรุ่นใหม่ เป็นธุรกิจที่คู่แข่งมีน้อย โปรไฟล์ของตนก็ดี สามารถนำมาเป็นจุดขายได้ เมื่อทำชุดเสร็จก็นำมาให้คนในวงการที่เรารู้จักได้นำไปทดสอบใส่ซ้อมว่างานของเราผ่านหรือไม่ เพราะเราเป็นคนที่จริงจังกับการทำงาน แล้วนำคำติชมมาแก้ไขให้คุณภาพงานออกมาดีที่สุด ซึ่งธนาคารก็ให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อนำมาซื้อเครื่องจักรเพื่ออัพเกรดผลิตภัณฑ์ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง แบรนด์ทริปเปิ้ล-เอส ก็เริ่มมีชุดแข่งขันที่ดีมานำเสนอต่อผู้บริโภค เรียกว่า ธพว. มีส่วนอย่างมากในการอุดรอยรั่วให้กับบริษัทในเรื่องของการลงทุน”
อย่างไรก็ตาม เมื่อธุรกิจไปได้ระยะหนึ่งก็เริ่มมีคู่แข่งที่ทำตาม แต่ตนมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจว่าจะต้องพัฒนาต่อ เพื่อฉีกหนีคู่แข่ง ดังนั้น ตนจึงส่งผลิตภัณฑ์ให้ต่างชาติได้ทดสอบ จนทำให้มีหลายแบรนด์ติดต่อเข้ามาให้เราเป็นผู้ผลิตให้ ทั้งที่ตอนนั้นเรายังเป็นเพียงร้านธรรมดาเท่านั้น ก่อนที่จะมาจดทะเบียนก่อตั้งเป็นบริษัท เพื่อให้สามารถรับงานนอกได้ และออกใบภาษีได้ โดยจะต้องมีการกู้เงินอีกก้อนเพื่อสั่งซื้อผ้าดีๆจากอิตาลี และวัตถุดิบนำเข้าชั้นดีจากหลายแหล่ง เพื่ออัพเกรดงานให้เป็นแบรนด์ที่ขายได้ในระดับเอเชีย
-เล็งเจาะตลาดระดับล่าง

จักรี บอกต่อไปอีกว่า ช่องทางการทำตลาดของแบรนด์ “ทริปเปิ้ล-เอส” มีทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ โดยในส่วนของออนไลน์จะเป็นการดำเนินการผ่านช่องทางเฟสบุ๊กเป็นหลัก ส่วนช่องทางออฟไลน์ปัจจุบันมีร้านสาขาที่บริษัทส่งชุดไปจำหน่ายรวมกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ และมีการดำเนินการในรูปแบบรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับหลากหลายแบรนด์ทั้งใน และต่างประเทศ
ส่วนแผนการทำตลาดในปีนี้ จะมุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้ามาสู่กลุ่มระดับล่างมากขึ้น จากเดิมที่กลุ่มลูกค้าของแบรนด์จะเป็นระดับกลางไปจนถึงบน เนื่องจากมองว่าตลาดมีการแข่งขันสูง และสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยจะดีเท่าใดนัก โดยจะใช้ผ้าที่ผลิตในไทยมาทำเป็นชุดแข่ง แต่เป็นผ้าที่คัดสรรคุณภาพมาแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า เห็นได้จากการเปิดตัวไปได้ระยะหนึ่งมียอดคำสั่งซื้อเข้ามากว่า 30-40 ราย
นอกจากนี้ บริษัทยังจะลงทุนซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาชุดแข่งไปอีกขั้นหนึ่ง โดยจะไม่ใช้กระบวนการตัดเย็บ แต่จะเป็นการใช้เทคโนโลยีความร้อนมาทับเพื่อทำให้ผ้าติดกันเป็นเนื้อเดียว ซึ่งจะทำให้ชุดไม่มีตะเข็บ ตัวงานจะเรียบร้อยขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
“แม้ว่าจะเรียกตัวเองว่าเป็นงานที่เจาะตลาดระดับกลางแต่เรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์แบรนด์ทริปเปิ้ล-เอสแล้วนั้น เทียบเท่ากับเกรดระดับบนที่ผลิตจากต่างประเทศ เรามีโรงงานที่สร้างขึ้นมาเอง ทำเองทุกขั้นตอน มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกตั้งแต่ราคา 650-1,800 บาท ลูกค้าสามารถเลือกได้ตามงบประมาณ”
–ไม่หลอกลูกค้าและไม่หลอกตัวเอง
จักรี บอกอีกว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์แบรนด์ ทริปเปิ้ล-เอส คือเนื้อผ้าที่ใส่สบาย นุ่ม ไม่มีกลิ่นอัพ ไม่ยาน และไม่ย้วย ใช้สีของแท้จากเอปสัน (Epson) ขณะที่เครื่องจักรในการตัดเย็บก็มีการโมดิฟาย หรือมีการปรับแต่งให้มีความละเอียดสูงสุดวัตถุดิบในการตัดเย็บทุกอย่างเป็นของที่ดีที่สุด ด้วยรสนิยมส่วนตัวที่ชอบของดีมีคุณภาพ ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจเมื่อได้สวมใส่
“หลักคิดในการทำธุรกิจนั้น ตนเลือกที่จะไม่หลอกลูกค้า และหลอกตัวเอง เพราะก่อนที่จะหลอกลูกค้าได้เราต้องหลอกตัวเองก่อนว่านี่คือของดี ตนจบทางด้านดีไซเนอร์เรื่องการออกแบบ และมีความฝันที่จะขายผลิตภัณฑ์ไปทั่วโลกหากยังหลอกคนอื่นแบรนด์จะดังได้อย่างไร ตนจะไม่ประชาสัมพันธ์ว่าผลิตภัณฑ์ของเราดีอย่างไร แต่จะให้ลูกค้าได้เป็นผู้ทดลองเอง โดยให้งานขายตัวของมันเอง”.