“ลิเภามณฑา”งานหัตกรรมทรงคุณค่าเอกลักษณ์ไทย

ศิลปหัตถกรรมถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่สามารถประเมินออกมาให้เป็นมูลค่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งหยิบจับวัตถุดิบของแต่ละท้องถิ่นมาประยุกต์ให้กลายเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่สวยงาม
“มณฑา กังวานก้อง” คือหญิงสาวที่มีความชำนาญด้านการจักรสานย่านลิเภา หรือกระเป๋าที่ทำมาจากเฟิร์นเถาชนิดหนึ่งในสกุล Lygodium เช่น Lygodium flexuosum (ลิเภาใหญ่) และ Lygodium circinatum (ลิเภาหางไก่) เป็นต้น พบได้มากทางภาคใต้ของไทย โดยเลือกนำเปลือกมาใช้ในการจักสาน ซึ่งตัวเธอเป็นผู้สืบทอดความรู้มาจากครอบครัว โดยเป็นรุ่นที่ 3 แล้วที่เลือกนำความรู้ความชำนาญทางด้านดังกล่าวมาใช้ในการทำธุรกิจภายใต้แบรนด์ “ลิเภามณฑา”
–จากรุ่นสู่รุ่น
มณฑา ในฐานะหัวหน้ากลุ่มจักสานย่านลิเภาบ้านวังม่วง บอกถึงที่มาที่ไปของไอเดียในการทำธุรกิจย่านลิเภาว่า มีจุดเริ่มต้นมาจากครอบครัวของเธอซึ่งมีอาชีพทำสวนเป็นอาชีพหลัก และมีการจักสานย่านลิเภาเป็นอาชีพรอง แต่วันหนึ่งเมื่อผลไม้ และยางพารามีราคาถูก ทำให้ครอบครัวของเธอหันมายึดอาชีพจักสานย่านลิเภาเป็นอาชีพหลัก และสลับให้การทำสวนกลายเป็นอาชีพรอง โดยเริ่มทำมาตั้งแต่รุ่นของคุณพ่อคุณแม่ของเธอ สืบทอดมาจนถึงรุ่นของพี่สาว และถูกถ่ายทอดมายังตัวเธอซึ่งเป็นรุ่นที่ 3

การจักสานย่านลิเภาได้มีการพัฒนารูปแบบมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภคตามยุคสมัย และไอเดียในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ โดยปัจจุบันได้มีการนำศิลปหัตถกรรมประเภทประณีตศิลป์อย่างเครื่องถมมาผสมผสานกับย่านลิเภาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาที่มีฝาผิดเป็นเครื่องถม โดยเลือกใช้ถมทองมาประยุกต์ให้กับย่านลิเภา ทำให้มีผู้ที่ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
“เครื่องถมมีอยู่ 3 แบบ ได้แก่ ถมเงิน (หรือถมดำ), ถมทอง และถมตะทอง โดยถมดำเป็นถมที่เก่าแก่ที่สุดตามความนิยม ซึ่งถมที่ดีต้องมีสีดำสนิท ไม่มีตามด หรือจุดขาวบนสีดำ โดยถมเป็นกรรมวิธีในการผสมของโลหะสามอย่างเข้าด้วยกัน คือ เงิน ตะกั่ว และทองแดง นำมาป่นจนเป็นผงละเอียด เพื่อโรยลงบนพื้นแผ่นเงินที่ขูดร่อง หรือตอกเป็นลวดลายไว้แล้ว ซึ่งการที่จะให้ผงถมเกาะแน่นอยู่ที่การเหยียบพื้น คือ การแกะหรือตอกร่องลงบนเนื้อเงินที่เป็นพื้นของลายที่ตอก ถ้าเหยียบพื้นให้มีรอยขรุขระมากเท่าใด ผงถมก็เกาะได้มากเท่านั้น”
–งานประณีตและละเอียดทุกขั้นตอน
มณฑา บอกต่อไปอีกว่า ถมทองก็คือ ถมดำแต่แตกต่างที่ลวดลาย โดยลายสีเงินได้เปลี่ยนเป็นสีทอง ซึ่งช่างถมจะเปียกหรือละลายทองคำเปลวให้เป็นน้ำ โดยใส่ทองแท่งลงไปในปรอท ซึ่งปรอทจะละลายทองแท่งให้เป็นน้ำ ช่างถมจะชุบน้ำทองผสมปรอทด้วยพู่กัน เขียนทับลงบนลวดลายสีเงิน
ทั้งนี้ การเขียนน้ำทองละลายปรอทนี้จะต้องใช้ความประณีตเป็นอย่างมาก ต้องเขียนทับลงบนเส้นเงินเท่านั้น เมื่อเขียนเสร็จแล้วจะใช้ความร้อนไล่ปรอทออกจากทอง ทองก็จะติดแน่นอยู่บนพื้นที่เขียนน้ำทองนั้น โดยถมทองมีความงามตรงที่เป็นสีทอง ลวดลายกระจ่างเด่นชัด ทองที่ทาทับก็จะมีความคงทนนับร้อยปี
ความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาของ มณฑา ได้กลายมาเป็นจุดเด่นที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาภายใต้แบรนด์ “ลิเภามณฑา” โดยทุกชิ้นงานจะมีความละเอียดเป็นอย่างมาก ซึ่งจะมีรูปทรงทั้งแบบโบราณ และแบบร่วมสมัย โดยทุกผลิตภัณฑ์จะถูกทำออกมาด้วยมือ ไม่มีการใช้เครื่องจักร หรือเรียกว่าเป็นงานแฮนด์เมด (Hand made) ดังนั้น ทุกผลิตภัณฑ์จึงมีความประณีตงดงาม และมีคุณค่าในตัวเอง สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ที่ได้เป็นเจ้าของเวลาใช้งาน
“ผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาของ ลิเภามณฑา มีเครื่องการันตีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่ตนเองได้เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระว่างประเทศ (องค์การมหาชน), ผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาว และช่างหัตศิลป์ไทยยอดเยี่ยม กลุ่มงานเครื่องจักสาน”

–ซื่อกันไม่หมด คดกินไม่นาน
มณฑา กล่าวอีกว่า ช่องทางการจำหน่ายย่านลิเภาแบรนด์ “ลิเภามณฑา” นั้น ได้มีการเปิดร้านจำหน่ายอย่างเป็นทางการบนทำเลถนนราชดำเนิน ใกล้กับวัดมหาธาตุวรมหาวิหารภายใต้ชื่อร้าน “ลิเภามณฑา” อีกทั้งยังมีจำหน่ายที่ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจะมุ่งเน้นไปที่การออกงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง ขณะที่ในส่วนของตลาดต่างประเทศ ก็มีผู้ที่มารับผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายต่อที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
“เราไม่มีการทำตลาดบนช่องทางออนไลน์ เพราะงานของเราเป็นงานฝีมือที่ประณีตเป็นอย่างมาก ทุกอย่างจะต้องเป๊ะทุกขั้นตอน และจะต้องเนี๊ยบทุกใบเพื่อไม่ให้เสียชื่อเสียงของแบรนด์ โดยตนจะเป็นผู้ควบคุมดูแลในทุกขั้นตอนขอการผลิต ที่สำคัญยังต้องรับผิดชอบดูแลผลิตภัณฑ์ตลอดอายุของการใช้งาน โดยที่ย่านลิเภาทุกใบจะมีตราของ ลิเภามณฑา ติดอยู่ แม้ว่าลูกค้าจะทำนามบัตรของที่ร้านหายก็ตาม”
กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของ “ลิเภามณฑา” จะเป็นกลุ่มคนระดับกลางไปจนถึงระดับบนที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป เพราะย่านลิเภามีราคาค่อนข้างสูง โดยหลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จมาจากความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นต่อหน้าและลับหลัง โดยยึดถือคติที่ว่าซื้อกินไม่หมด คดกินไม่นาน ซึ่งจะต้องนำของที่มีคุณภาพให้กับลูกค้า และมีความจริงใจในการขาย แม้ว่าลูกค้าจะซื้อผลิตภัณฑ์ย่านลิเภามาจากแบรนด์อื่น แต่ถ้านำมาซ่อมที่ร้านเราก็ยินดีที่จะให้บริการ
“ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) มีส่วนช่วยในการสนับสนุนธุรกิจด้วยการให้เงินทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ พร้อมกันนี้ยังช่วยให้ความรู้ในเรื่องของการทำตลาดทางด้านต่างๆ และการพาไปออกงานเพื่อทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น”.