“GROWY” รองเท้าแตะยางพารา 100% เพื่อสุขภาพ
วัตถุดิบชนิดเดียวกันสามารถก่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น ยางพาราซึ่งสามารถทำเป็นหมอนเพื่อสุขภาพก็ได้ หรือจะเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตยางรถยนต์ก็สามารถทำได้ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการรายนั้นจะมีไอเดียความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์อย่างไร เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด
“อรฤดี เมฆตรง” คือหญิงสาวผู้นำเสนอผลิตภัณฑ์จากยางพาราในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยได้ไอเดียความคิดมาจากตอนที่เธอมีโอกาสเข้าร่วมอบรมหลักสูตรระยะสั้นกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จนนำมาสู่การ Startup ธุรกิจของตัวเธอเองขึ้น ภายใต้แบรนด์ “โกรวี่” (GROWY)
-จากห้องเรียนสู่ธุรกิจ
อรฤดี ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท โกร รับเบอร์ ลาเท็กซ์ จำกัด บอกถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นไอเดียในการทำธุรกิจ ว่า เดิมทีธุรกิจของครอบครัวเธอทำเกี่ยวกับน้ำยางพารา โดยแปรรูปขั้นสุดก็คือการทำเป็นแผ่นยางรมควัน ซึ่งหลังจากที่ตัวเธอจบการศึกษามาใหม่ๆก็ได้เข้าไปช่วยกิจการของครอบครัว แต่ก็ยังช่วยพัฒนา หรือปรับปรุงธุรกิจอะไรไม่ได้มาก จนกระทั่งเมื่อตัวเธอเองได้มีโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรระยะสั้นระยะเวลาประมาณ 3 เดือนกับทาง มอ. เกี่ยวกับแผน และรูปแบบในการทำธุรกิจ
จากการเข้าร่วมอบรมดังกล่าวทำให้เธอได้เห็นผลงานวิจัยจากอาจารย์ และศิษย์เก่ามากมาย โดยได้สะดุดตากับผลงานวิจัยอย่างหนึ่งนั่นก็คือ “ยางรองส้นเท้า” ซึ่งเป็นของนักศึกษาระดับปริญญาเอก โดยเธอเองได้มีโอกาสพบกับเจ้าของงานวิจัย เพื่อหารือในเรื่องของการทำธุรกิจร่วมกัน โดยที่ตัวเธอจะรับเป็นผู้ผลิต เพื่อจำหน่าย และนำผลตอบแทนที่ได้มาแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะงานวิจัยดังกล่าวได้มีการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว เมื่อได้ข้อสรุปร่วมกันที่เหมาะสมผลิตภัณฑ์จากยางพาราแปรรูปชิ้นแรกของตัวเธอจึงเกิดขึ้นภายใต้แบรนด์ “ฮีล ซูดเตอร์” (Heel Soother)
เมื่อผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปออกสู่ตลาดก็ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ทำให้ตัวเธอเองต้องไปหารือกับอาจารย์จาก มอ. เพื่อบอกถึงความต้องการในการมีผลิตภัณพ์ที่เป็นของตัวเธอเอง ซึ่งจะมีลักษณะใกล้เคียงกับผลิตภัรฑ์ชิ้นแรกที่นำเสนอออกสู่ตลาดไป ดังนั้น จึงได้ข้อสรุปที่การผลิตเป็นรองเท้า โดยที่ตัวเธอเองทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบรูปทรงของรองเท้า ส่วนการคิดสูตรส่วนผสมของยางพาราที่จะนำมาขึ้นรูปทาง มอ. โดยสถาบันวิจัยยางจะทำหน้าที่ดูแลให้ รองเท้าแตะยางพาราเพื่อสุขภาพจึงได้เกิดขึ้นภายใต้แบรนด์ “โกรวี่”
-เตรียมต่อยอดผลิตรุ่น 2
อรฤดี บอกต่อไปอีกว่า ช่องทางการจำหน่ายในปัจจุบันของรองเท้าแตะ และยางรองส้นเท้าโดยหลักจะมุ่งเน้นไปที่ร้านขายของฝากตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา และกระบี่ เป็นต้น โดยที่บริษัทจะเป็นผู้ดูแลเรื่องการเติมสต็อกสินค้าด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานราชการที่สั่งผลิตภัณฑ์ในปริมาณมาก เพื่อนำไปมอบให้เป็นของขวัญในงานเทศกาลสำคัญต่างๆ
สำหรับกลยุทธ์ในการทำตลาดปีนี้นั้น บริษัทต้องการนำผลิตภัณฑ์เข้าไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า โดยมุ่งหวังให้แบรนด์ได้เป็นที่รู้จักในกลุ่มของผู้บริโภคมากขึ้น แม้ว่าอาจจะมียอดขายไม่มาก ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์เดิมของบริษัทในช่วงแรก เพียงแต่ในช่วงนั้น บริษัทยังมีกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมต่อยอดผลิตภัณฑ์โดยการเพิ่มรูปแบบของรองเท้า เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองความต้องการของร้านค้าที่วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่จะถามถึงชั้นวางที่เป็นของแบรนด์โดยเฉพาะ โดยเมื่อมีผลิตภัรฑ์เพิ่มมากขึ้น บริษัทก็จะสามารถทำชั้นวางที่เป็นของแบรนด์ตนเองโดยเฉพาะได้
“ขั้นตอนของการผลิตรองเท้าในรุ่นต่อไปนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการคิดค้นสูตรในการใช้น้ำยางพาราเพื่อนำมาขึ้นรูป ส่วนงบประมาณในการจัดทำแม่พิมพ์ได้ผ่านการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว โดยเชื่อว่าจากกลยุทธ์ในการทำตลาดดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีรายได้อยู่ที่ปรมาณ 10- 12 ล้านบาท หรือโตประมาณ 1-2 เท่าจากปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 6 ล้านบาท”
-ผลิตจากยางพาราแท้ 100%
อรฤดี บอกอีกว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์อยู่ที่การใช้วัตถุดิบที่เป็นยางพาราแท้ 100% เป็นยางพาราจากธรรมชาติโดยไม่มีการผสมสารสังเคราะห์แต่อย่างใด จะมีเพียงสารเคมีเล็กน้อยที่ใช้เพื่อการปรับสภาพของยาง และในส่วนที่เป็นสี ซึ่งจะทำให้ผู้สวมใส่ไม่เกิดการลื่น และช่วยกระจายแรงกระแทกเวลาที่เคลื่อนไหว โดยมีคุณสมบัติเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ได้มาจากงานวิจัยของคณะแพทย์ศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ช่วยบรรเทาอาการปวด เมื่อยล้าให้กับผู้ที่สวมใส่ได้เป็นอย่างดี
“ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) มีส่วนช่วยในการสนับสนุนธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยการให้สินเชื่อมาใช้เพื่อการผลิตรองเท้าแตะตั้งแต่รุ่นแรก จนถึงรุ่นที่ 2 ที่กำลังดำเนินการเพื่อผลิตอยู่ ตามโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ จากเดิมที่บริษัทที่ไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินใดๆบ้าง เนื่องจากเป็นบริษัทใหม่ที่เพิ่งก่อตั้ง จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน”.