“กายอ”พรหมละหมาดยางพาราเจาะตลาดมุสลิม
ยางพาราถือว่าเป็นพืชทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ คนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีอาชีพปลูกยาพารา เพื่อกรีดน้ำยางขาย หรือแปรรูปเพื่อจำหน่าย แต่ด้วยความที่ราคาของพืชผลทางการเกษตรไม่ค่อยมีเสถียรภาพ สามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ตามแนวโน้มความต้องการของตลาดโลก ทำให้ช่วงหนึ่งราคาน้ำยางพาราตกต่ำจนน่าใจหาย จนถึงขนาดทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราประสบกับภาวะวิกฤติทางการเงิน
ครอบครัวของ “อภิสิทธิ์ รอดฉวาง” ก็ต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับผู้ปลูกยางพารา และทำให้ธุรกิจของครอบครัวต้องสะดุดล้มลง แต่ด้วยความที่ได้รับโอกาส และความตั้งใจ ได้ทำให้วิกฤติที่เกิดขึ้นคลี่คลายลงได้ด้วยไอเดียในการเพิ่มมูลค่าน้ำยางพารา จนนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ และ Startup ธุรกิจขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “กายอ” (Kayor)
-พลิกวิกฤตสู่โอกาส
อภิสิทธิ์ ในฐานะเจ้าของกิจการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่รับเบอร์เทค บอกถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจ ว่า เดิมทีที่บ้านของตนเองนั้นทำธุรกิจเกี่ยวกับการรับซื้อน้ำยางพารา แต่ได้ประสบกับภาวะวิกฤตจากราคายางพาราที่ลดลงเหลือเพียงแค่ 3 กิโลกรัม 100 บาท ทำให้ธุรกิจของทางบ้านต้องล้มลง โดยในขณะนั้นตนกำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยชั้นที่ 3 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จากปัญหาดังกล่าวทำให้ตนต้องขอดร็อปการศึกษา เนื่องจากไม่มีเงินที่จะมาชำระค่าเทอมได้
อย่างไรก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยได้ให้ความกรุณาช่วยเหลือเรื่องเงินค่าเทอม และค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนจนตนสามารถศึกษาต่อได้ หลังจากนั้นตนจึงตั้งปณิธานว่าจะตั้งใจศึกษา รวมถึงตอบแทนคณะ และช่วยแก้ไขปัญหาของทางครอบครัว แต่ด้วยควมที่ตนเรียกอยู่ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ทำให้ไม่มีความรู้เรื่องของยางพารา จนทำให้ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมจากภาควิชาพอลิเมอร์ และด้วยความโชคดีที่มีเพื่อนร่วมห้อง หรือรูมเมทเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือชาวมุสลิม ซึ่งจะต้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนาด้วยการละหมาดในห้องวันละ 5 เวลา และมักจะบ่นว่าเจ็บเข่าอยู่บ่อยครั้ง
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ตนเกิดไอเดียในการทำพรหมละหมาดยางพาราเพื่อสุขภาพขึ้น แต่ในช่วงเริ่มต้นด้วยที่ยังเป็นนักศึกษา เงินทุนก็ไม่มี และไม่ต้องการรบกวนทางบ้าน เลยทำตัวต้นแบบขนาดเล็กจากห้องแลปของมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นจึงขับรถไปหาลูกค้าตามมัสยิดต่างๆในพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อลูกค้าชอบ และซื้อ ตนจะให้ลูกค้าวางเงินมัดจำไว้ก่อน 50 % เพื่อนำเงินส่วนนั้น ไปซื้อวัตถุดิบในการผลิต แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะสวยหรูไปทั้งหมด เพราะเมื่อลูกค้าสั่งออเดอร์ ห้องแลปก็ไม่สามารถผลิตภัณฑ์ได้แล้ว เนื่องจากชิ้นงานใหญ่กว่าตู้อบ
“ตนจึงแก้ปัญหาด้วยการนำเงินที่ลูกค้าวางมัดจำไว้มาสร้างอุปกรณ์ด้วยตัวเอง เพราะราคาถูกกว่าซื้อผ่านตัวแทน แต่ก็ยังมาติดปัญหาเรื่องสถานที่ผลิต เนื่องจากการจะตั้งโรงงานได้ต้องมีการขออนุญาต และรายละเอียดต่างๆอีกมาก จึงตัดสินใจขออนุญาตเจ้าของหอพัก เพื่อขอใช้พื้นที่ใต้หอพัก ผลิตพรมละหมาดยางพาราออกมา ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการนำสินค้าออกสู่ตลาด”
-ขยายตลาดต่างประเทศ
อภิสิทธิ์ บอกต่อไปอีกว่า เมื่อดำเนินการธุรกิจไปได้ระยะหนึ่ง ตนได้เข้าเป็นผู้ประกอบการภายใต้การดูแลของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ มอ. ซึ่งช่วยชี้ช่องทางการทำธุรกิจ ในการนำผลิตภัณฑ์ไปเสนอกับลูกค้า เนื่องจากตนไม่ได้จบด้านการตลาด ทำให้เป็นจุดอ่อนในการทำธุรกิจ โดยทางศูนย์บ่มเพาะจะมีการอบรมให้ความรู้อยู่ตลอดเวลา คอยผลักดันและสนับสนุนในองค์ความรู้ต่างๆ อย่างมากมาย และได้จดเป็นนิติบุคคล ในนาม หจก.หาดใหญ่รับเบอร์เทค และมีผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “กายอ” ในที่สุด
สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของบริษัทคือชาวมุสลิม ดังนั้น จึงมีช่องทางในการทำตลาด หลักอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส ส่วนในต่างประเทศจะทำตลาดที่ประเทศมาเลเซีย โดยจะมีตัวแทนจำหน่ายที่เข้ารับผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่โรงงานเพื่อนำไปตลาด อย่างไรก็ดี กลยุทธ์ในการทำตลาดปีนี้เพื่อเพิ่มจำนวนฐานลูกค้าจะมุ่งเน้นไปที่ตลาดต่างประเทศ โดยในเบื้องต้นจะขยายในแถบภูมิภาคเอเชีย ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยจากข้อมูลพบว่ามีชาวมุสลิมอยู่ประมาณ 210 คน
นอกจากนี้ บริทยังมีเป้าหมายใหญ่ในการทำตลาดที่กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย และจอร์แดน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นชาวมุสลิม และมีความต้องการพรหมเพื่อทำการละหมาด ซึ่งบริษัทจะดำเนินการด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานของภาครัฐ เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เพื่อช่วยเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานให้บริษัทสามารถนำผลิตภัณฑ์ไปออกงานแสดงสินค้าในกลุ่มประเทสดังกล่าวเหล่านี้ได้
“ทั่วโลกมีชาวมุสลิมอยู่ประมาณ 1.6 พันล้านคน และในทุกปีจะมีชาวมุสลิมจากทุกทวีปที่เดินทางไปแสวงบุญที่มหานครเมกกะ ประเทศซาอุฯ โดยถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยตรงของบริษัท หากบริษัทสามารถเข้าไปทำตลาดได้ก็จะมีฐานลุกค้าเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก”
อย่างไรก็ดี บริษัทยังเตรียมต่อยอดธุรกิจไปสู่การทำผลิตภัณฑ์แผ่นรอง หรือเสื่อเพื่อการออกกำลังกายในรูปแบบโยคะ โดยได้แนวความคิดมาจากลูกค้า ซึ่งเป็นคนไทยในประเทศสวิสเวอร์แลนด์ที่ติดต่อเข้ามา เพื่อต้องการให้บริษัททำผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคในประเทศแถบยุโรปจะมีความต้องการผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ แต่แผ่นรองส่วนใหญ่ที่จำหน่ายอยู่จะทำมาจากยางสังเคราะห์ หรือยางเทียม ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้บริโภค นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมต่อยอดผลิตภัณฑ์โดยการเพิ่มรูปแบบในการใช้งานไปสู่การทำกระเป๋าใส่คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กที่สามารถเป็นพรหมรองละหมาดได้ด้วยในผลิตภัณฑ์เดียว โดยขั้นตอนในปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา
-กระจายรายได้สู่ชาวบ้าน
อภิสิทธิ์ บอกอีกว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “กายอ” อยู่ที่การเลือกใช้วัตถุดิบซึ่งเป็นน้ำยางพาราจากเกษตรโดยตรงไม่ใช่จากโรงงาน ซึ่งเป็นการช่วยกระจายรายได้ให้กับเกษตรกร โดยบริษัทสามารถรับซื้อได้ในราคา 80-100 บาทต่อกิโลกกรัม แม้ว่าราคาตลาดที่รับซื้อกันจะอยู่ที่ประมาณ 45 บาทต่อกิโลกกรัม เนื่องจากบริษัทนำน้ำยางมาเพื่มเพิ่มมูลค่า
ขณะที่บนแผ่นยางยังมีลักษณะโค้งนูน 3 ตำแหน่ง เพื่อรองรับการกระแทกบริเวณปลายเท้า, หัวเข่า และหน้าผาก และการเลือกใช้ผ้าพรหมที่เป็นผ้าทอเกาะยอของจังหวัดสงขลาที่ชาวบ้านทอขึ้นมา ซึ่งจะมีเนื้อที่นุ่มแตกต่างจากพรหมทั่วไปที่จะเป็นผ้าบางๆเท่านั้น เรียกว่าเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านอย่างแท้จริง
“ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) มีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียน เพื่อนำมาซื้อเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพในการผลิต พร้อมช่วยแนะนำช่อทางในการทำตลาด และวิธีต่อยอดธุรกิจควบคู่กันไป”.