“Husk’s Ware” เครื่องครัวจากธรรมชาติเจาะไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
กระแสการรักษ์และใส่ใจสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเป็นแนวโน้มที่กำลังเติบโตเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะมนุษย์เริ่มเห็นถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด และลดลงอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากผลิตภัณฑ์ที่เป็นของใช้ในปัจจุบันต่างก็มีวัตถุดิบจากธรรมชาติที่เหลือใช้ หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์มาใส่นวัตกรรม เพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์นำเสนอสู่ผู้บริโภคมากขึ้น
“ธราพัชร์ ชัยสุทธิโรจน์” ก็คือท่านหนึ่งที่มองเห็นถึงกระแส และแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จนนำไปสู่ไอเดียในการสร้างธุรกิจจากวัตถุดิบธรรมชาติ และ Startup ธุรกิจของตนเองขึ้นภายใต้แบรนด์ “ฮัสค์ แวร์” (Husk’s Ware)
–จากธรรมชาติสู่ผลิตภัณฑ์
ธราพัชร์ ในฐานะเจ้าของแบรนด์ “ฮัคส์ แวร์” ซึ่งดำเนินการภายใต้บริษัท ฮัสค์ กรีน จำกัด บอกถึงจุดเริ่มต้นของไอเดียในการทำธุรกิจ ว่า มาจากการที่ตนมองเห็นกระแส และแนวโน้มของผู้บริโภคที่หันมาให้ความใส่ใจสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ตนจึงมีแนวคิดที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่จะมาตอบโจทย์ของทั้ง 2 แนวโน้มดังกล่าว ประจวบเหมาะกับที่ตนเองมีพันธมิตรทางธุรกิจ หรือพาทเนอร์ที่มีเทคโนโลยีการผลิตในการขึ้นรูปให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ตามรูปทรงต่างๆจาก “เปลือกข้าว” หรือที่เรียกกันว่า “แกลบ”
จากเทคโนโลยีผสมผสานกับไอเดียตนจึงเลือกที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ออกมาในรูปแบบของภาชนะที่สามารถใช้งานได้ทุกวัน โดยมุ่งหวังที่จะช่วยลดปริมาณขยะ และของเหลือใช้ให้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเปลือกข้าวจะมีคุณสมบัติเรื่องความทนทาน รวมถึงระยะเวลาการใช้งานที่ยาวนานประมาณ 5-10 ปี และทนทั้งความร้อนและความเย็นตั้งแต่อุณหภูมิ -30 ถึง 120 องศาเซลเซียส ไร้สารเคมี และปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยการขึ้นรูปนั้นได้มีการนำแป้งมาผสมเพื่อเพิ่มความทนทาน ซึ่งเป็นแป้งนำเข้าจากเมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีความชื้นน้อยในปริมาณที่เหมาะสม
“ ต้องเรียนว่าเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมที่เรานำมาใช้ได้มีผู้ที่นำมาวิจัยอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีผู้ที่นำมาขึ้นรูปให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ โดยเราเริ่มต้นจดชื่อแบรนด์ในปี 2551 และก่อตั้งโรงงานเพื่อผลิตและจำหน่ายในขนาดไม่ใหญ่มากที่ประเทศมาเลเซีย ก่อนที่จะย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศจีนในช่วงปี 2555 เพื่อเริ่มจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ”
–เน้นตลาดต่างประเทศก่อน
ธราพัชร์ บอกต่อไปอีกว่า กลยุทธ์การทำตลาดของบริษัทจะมุ่งเน้นไปที่ตลาดต่างประเทศมากกว่า เนื่องจากเคยทดลองนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยแล้ว แต่กระแสตอบรับในช่วงนั้นยังไม่ค่อยดีเท่าใดนัก โดยปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าจากการส่งออกมากกว่า 10 ประเทศ ทั้งสหรัฐอมริกา, แม็กซิโก, แคนาดา, เยอรมนี, ออสเตรีย, อังกฤษ, สเปน, รัสเซีย ส่วนทางโซนเอเชียก็มีทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไทย, ฮ่องกง, ไต้หวัน, สิงคโปร์ และมาเลเซีย จนทำให้มียอดขายมากมายจากการส่งออกสินค้าไปสู่นานาประเทศ
อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มนำผลิตภัณฑ์เข้ามาทำตลาดในประเทศอีกครั้ง โดยเปิดเป็นร้านเพื่อจำหน่ายที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ของบริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเปิดโซน “อีโคโทเปีย” (Ecotopia) เพื่อเจาะกลุ่มผู้ที่รักสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ นอกจากนี้ก็ยังมีช่องทางการจำหน่ายรูปแบบออนไลน์ผ่านทางเพจเฟสบุ๊ก (huskswarethailand), ไลน์แอด (@huskswarethailand) และ อินสตราแกรม หรือไอจี (huskswarethailand)
“ การทำตลาดในประเทศไทยช่วงแรก เราดำเนินการในรูปแบบของการร่วมมือกับบริษัท, ร้านอาหาร และร้านกาแฟในการเป็นผู้ผลิตภาชนะให้ และต่อยอดไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่อผู้บริโภคโดยตรง ”
-ชูจุดเด่นด้านความปลอดภัย
ธราพัชร์ บอกอีกว่า จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ฮัลส์ แวร์” อยู่ที่การนำวัตถุดิบทางการเกษตรที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์มาสร้างให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เน้นเรื่องความปลอดภัย และสามรถนำกลับมาใช้งานได้ยาวนาน ไม่เหมือนกับกระดาษที่ใช้งานได้เพียงครั้งเดียว โดยเข้ากับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่นิยมใช้ของที่เป็นแบบรีไซเคิลมากขึ้น อีกทั้งวัตถุดิบที่นำมาใช้ก็ไม่มีสารพิษเจือปน
ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ “ฮัลส์ แวร์” สามารถใช้งานได้ยาวนานมากกว่า 3-5 ปี แม้ว่าผิวของภาชนะจะไม่เงางามเหมือนกับการใช้วัตถุดิบชนิดอื่นมาทำ แต่ก็เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง และยังย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วยการฝังและกลบในดิน โดยที่กระบวนการของแบคทีเรียจะเป็นตัวย่อยสลาย
สำหรับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นภาชนะอุปกรณ์เครื่องครัว เช่น จาน ช้อน ส้ม แก้ว และสำหรับเด็กนั้นแบรนด์ก็ได้มีการสร้างผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ Husk’s Baby และ Mini Husk’s Baby ซึ่งเป็นจานอาหารสำหรับเด็กช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้, Lunch Box กล่องอาหาร, Husk’s Creative แก้วดอกไม้, Husk’s Desk แก้ว และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่การทำผลิตภัณฑ์เครื่องครัวประเภท มีด และเขียง เพื่อทดแทนการใช้ไม้ซึ่งมักจะเกิดเชื้อราเวลาที่ใช้งานไประยะหนึ่ง และพลาสติกซึ่งอาจจะไม่การหลุดร่อนออกมาบ้างเวลาที่ใช้มีดหั่นอาหารซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ ในระยะถัดไปบริษัทยังเตรียมทำผลิตภัณฑ์ประเภทของเล่นเด็ก เพื่อทดแทนของเล่นที่ทำจากไม้ โดยขั้นตอนในปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย เพราะผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก
ธราพัชร์ บอกอีกว่า ภาพรวมของธุรกิจในอนาคตบริษัทต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภคโดยตรงให้มากขึ้น (B2C) จากเดิมที่จะเน้นการร่วมมือกับบริษัท ร้านอาหารในการผลิตอุปกรณ์เครื่องครัวให้ (B2C) ขณะที่หลักคิดในการทำธุรกิจที่ตนยึดถือ เพื่อนำทางไปสู่ความสำเร็จ คือการมองไปยังความเปลี่ยนแปลงในไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการ จะไม่ได้มุ่งเน้นที่ผลกำไรเป็นหลัก โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นธรรมชาติ และมีความปลอดภัยในการใช้งาน.