บ้านหนองผือน้อยสร้างรายได้จากวิถีชุมชน
พื้นฐานทางด้านวัฒนธรรมของประเทศไทยถือว่าเป็นต้นทุนที่มีคุณค่ามหาศาลต่อผู้ที่ได้รับการสืบทอด ขึ้นอยู่กับว่าจะมีแนวคิด หรือไอเดียในการนำมาต่อยอดอย่างไร
เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ชุมชนบ้านหนองผือ (บ้านกุ่ม) ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี คือการรวมกลุ่มของชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อแปรรูปผ้าฝ้ายสู่ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้เข้าชุมชน และสมาชิกในกลุ่ม
จากวิถีชาวบ้านสู่ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้
นภาศักดิ์ บุญจูง ผู้ประสานงานกลุ่มชุมชนบ้านหนองผือ เป็นตัวแทนบอกถึงที่มาที่ไปของการรวมกลุ่มครั้งสำคัญครั้งนี้ว่า เกิดจาการที่ชาวบ้านในชุมชน ซึ่งมีการใช้ชีวิตในวิถีแห่งธรรมชาติตามภูมิประเทศที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง โดยมีอาชีพประมงเป็นอาชีพหลัก ขณะเดียวกันก็จะมีสวนดอกฝ้ายที่อยู่ติดกับริมแม่นำโขงแทบจะทุกหลังคาเรือน ซึ่งทำให้งานทอผ้าฝ้ายกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของชาวบ้านที่มีการทำสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นของบรรพบุรุษ เพื่อนำไว้ใช้ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นผ้าขาวม้าสำหรับผู้ชาย หรือทอผ้าตัดเสื้อสำหรับผู้หญิงเป็นเรื่องปกติเรื่อยมา
หลังจากนั้นจึงได้มีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน ประกอบการที่มีองค์กรพัฒนาชุมชน รวมถึงหน่วยงานที่เข้ามาช่วยส่งเสริมเรื่องการสร้างเริ่มอาชีพให้กับชุมชนเข้ามาช่วยคิดหาเอกลักษณ์ที่จะนำไปต่อยอดให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปจำหน่ายหารายได้ โดยการทอฝ้ายจากธรรมชาติถือเป็นจุดเด่นสำคัญของชาวบ้านในชุมชน แต่ยังขาดเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ จึงได้มีการพาไปศึกษาดูงาน และการฝึกอบรมด้านต่างๆ
ทั้งนี้ เมื่อได้ไปศึกษาดูงานยังสถานที่ต่างๆ จึงเห็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน และเกิดแนวคิดในการนำประโยชน์จากธรรมชาติมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ โดยใช้วิธีการย้อมสีผ้าฝ้ายจากเปลือกของต้นไม้ชนิดต่างๆ เช่น เปลือกมะม่วงที่สามารถนำมาย้อมให้เป็นสีเหลือง และเปลือกประดู่ที่จะให้สีน้ำตาลเข้ม เป็นต้น โดยมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมาเป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์
ปรับเปลี่ยนวิวัฒนาการตามยุคสมัย
นภาศักดิ์ บอกต่อไปว่า วิวัฒนาการของผลิตภัณฑ์ชุมชนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องจากองค์ความรู้ที่ได้สะสมมา ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนลวดลายในการทอจากเดิมที่จะทอเป็นผ้าขาวม้าที่มีตาขนาดใหญ่ประมาณ 4×4 นิ้ว ปัจจุบันก็จะมีขนาดช่องไฟที่ลดลงเหลือประมาณช่องละ 1 เซนติเมตร รวมถึงการทำลวดลายแบบโบราณ ผสมผสานไปกับลวดลายแบบประยุกต์ตามสมัยนิยม โดยสามารถนำมาจำหน่ายได้ทั้งในรูปแบบของผ้าพื้น และทำเป็นผ้าสำหรับคลุมไหล่
นอกจากนี้ก็ยังมีการแปรรูปเป็นกระเป๋าขนาดต่างๆ รวมถึงเสื้อสำเร็จรูป โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปออกมาจำหน่ายในตลาดแล้วประมาณ 10 ชนิด จากเดิมที่จะจำหน่ายเป็นผ้าขาวม้า และผ้าห่มเป็นหลักเพียงเท่านั้น แต่ยังคงเอกลักษณ์ในการเป็นผ้าฝ้ายที่ปั่นด้าย และทอมือแบบดั้งเดิมเอาไว้
เล็งขายออนไลน์พร้อมขยายร้านเข้าเมือง
สำหรับช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้น นภาศักดิ์ บอกว่า นอกจากที่จะจำหน่ายอยู่ภายในชุมชนหนองผือน้อย ซึ่งปัจจุบันได้รับการสนับสนุน และส่งเสริมจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้กลายหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยวแล้ว ยังได้ส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายให้กับร้านค้าอีก 5 ร้านที่อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี โดยที่ชุมชนจะต้องพยายามบริหารจัดการลวดลาย หรือรูปแบบของผลิตภัณฑ์ไม่ให้เกิดการซ้ำกันทั้ง 5 ร้านดังกล่าว เพื่อที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนสามารถขายได้ทั้ง 5 ร้าน
“ การบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ไม่ให้ซ้ำกันสำหรับร้านค้าทั้ง 5 แห่งในตัวจังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในการดูแลกลุ่มลูกค้าของชุมชน โดยมองว่าหากลูกค้าสามารถขายได้ตลอด ชุมชนก็ขายได้ตลอดเช่นเดียวกัน นี่คือหลักคิดของกลุ่ม ”
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดชุมชนได้เข้าร่วมการฝึกอบรมการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม และได้มีการดำเนินการเปิดหน้าร้านจำหน่ายสินค้าออนไลน์ไว้เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงแค่การนำข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และรูปถ่ายระบบเท่านั้น โดยเชื่อว่าภายในปีนี้น่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยขยายฐานลูกค้าให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ จากเสียงสะท้อนของลูกค้าที่มีต่อชุมชนเวลาที่ไปออกงานแสดงสินค้าตามสถานที่ต่างๆ ได้นำพามาสู่แผนในการขยายร้านค้าของชุมชนอย่างเป็นทางการในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายมากขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางมายังชุมชน เนื่องจากบ่อยครั้งที่ลูกค้ามักจะมีคำถามเกี่ยวกับการหาซื้อผลิตภัณฑ์ ซึ่งเมื่อได้รับคำตอบส่วนใหญ่จะระบุเป็นเสียงเดียวกันว่าไกล หรือไม่มีเวลาเดินทางไปถึงชุมชนได้ ทำให้เสียโอกาสทางการค้าไป ดังนั้น เราจึงมีความคิดที่จะเปิดร้านของชุมชนดังกล่าว
“ ปัจจุบันการเปิดร้านในตัวจังหวัดกังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา และพิจารณาความเป็นไปได้ทั้งในเรื่องของทำเลที่ตั้ง ราคาค่าเช่าที่เหมาะสม โดยเราจะเน้นอะไรที่ยังไม่ใหญ่จนเกินไป ซึ่งเป็นการใช้หลักทำเล็กๆ แต่มั่นคง หรือค่อยๆ ขยายไปเรื่อยๆ ตามศักยภาพ ”
ชู SME Development Bank ช่วยขยายกิจการ
นภา กล่าวปิดท้ายด้วยว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้กิจการของชุมชนเกิดการขยายตัวจากการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ย เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเสริมสภาพคล่องสำหรับการรับซื้อผ้าฝ้ายทอมือจากชาวบ้าน และวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้ เพราะต้องจ่ายเป็นเงินสด อย่างไรก็ดี ยังมีความต้องการให้ SME Development Bank ช่วยเหลือในการสร้างเสริมความรู้ในการบริหารจัดการเงินกองทุนของชุมชน เพื่อจะได้มีหลักในการบริหารเงินกองทุนให้มีสภาพคล่องที่ดีตลอดไปอย่างยั่งยืน
“ เป้าหมายของเราคือการเพิ่มยอดขาย แต่ในขณะเดียวกันจะต้องมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นด้วยตาม และจะต้องให้กองทุนหมุนเวียนของเรามีความยั่งยืน ไม่ใช่กู้มาแล้วก็บริหารจัดการไม่ดี เงินก็หาย จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น จะพยายามบริหารจัดการเงินทุนให้ได้ และผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ของตลาด เพื่อให้ชาวบ้านได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ”