“เจมโมรีส์” นวัตกรรมบันทึกความทรงจำแห่งความผูกพัน
ความทรงจำสามารรถเลือกเก็บได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนรูปถ่าย สิ่งของเพื่อระลึกถึงบุคคล หรือสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รัก โดยปัจจุบันได้มีนวัตกรรมหล่อหลอมเก็บความรู้สึก หรือความทรงจำที่ดีในรูปแบบใหม่ ซึ่งสามารถพกพา หรือเก็บรักษาไว้ได้อย่างสะดวกสบาย รวมถึงสวยงามและมีคุณค่า
“ภัสสร ภัสสรศิริ” คือผู้ที่มีไอเดียสร้างสรรค์ และมุ่งมั่นจนสามารถนำมาซึ่งรูปแบบใหม่ของการเก็บบันทึกความทรงจำดังกล่าว และก่อตั้งบริษัท เจมโมรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้น เพื่อเริ่ม “Start up” ธุรกิจที่ 3 ของตัวเธอ
จุดเริ่มต้นธุรกิจ
ภัสสร ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ. เจมโมรีส์ฯ บอกถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจครั้งนี้ว่า ตนสำเร็จการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรม แต่ก็ไม่ได้เลือกที่จะทำตามความฝัน และทำงานตามสายที่ร่ำเรียนมา โดยหันเหตนเองเข้ามาศึกษางานจากคุณพ่อ ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับเตาเผาขยะ และเตาเผาศพแบบไร้มลพิษ เพราะเห็นว่าคุณพ่อเริ่มอายุมากขึ้น เกรงว่าหากไปทำงานในแบบที่ชอบแล้วจะกลับมาดูแลธุรกิจที่บ้านไม่ทัน
อย่างไรก็ดี เมื่อทำไปทำมาตนก็เริ่มสนุกกับงานที่ทำ และไม่ได้ย้อนกลับไปบนเส้นทางสถาปัตยกรรมอีกเลย โดยจากเตาเผาขยะก็ได้นำเส้นทางไปสู่ธุรีกิจที่ 2 นั่นก็คือการฌาปณกิจสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร เนื่องจากตนเป็นผู้ที่ชอบเลี้ยงสัตว์เกือบทุกชนิด และเคยประสบปัญหากับตนเองในช่วงที่สัตว์เลี้ยงเสียชีวิต ซึ่งตอนนั้นตนอาศัยอยู่ที่คอนโด ทำให้ไม่มีสถานที่ในการฝังศพ และนำไปสู่การสร้างธุรกิจ
นวัตกรรมทำพลอยขึ้นมาจากอินทรีย์สาร เช่น กระดูก ,อัฐิ ,เส้นผม ,สายสะดือ ฯลฯ ของบุคคล หรือสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รัก ซึ่งเสียชีวิตลง เพื่อเก็บเป็นระลึกเวลาที่คิดถึงบุคคลหรือสัตว์เลี้ยงนั้น เป็นธุรกิจล่าสุดโดยเป็นความร่วมมือของบริษัทกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นชื่อใหม่ในปัจจุบัน โดยทำการค้นคว้าและวิจัยอยู่ถึง 2 ปี และใช้ลงทุนไปกว่า 8 หลักกว่าจะประสบความสำเร็จ
“นวัตกรรมดังกล่าวนี้เป็นการหลอมพลอยจากคาร์บอน โดยเป็นการต่อยอดผลงานของนักวิทยาศาสตร์ไทยท่านหนึ่ง ซึ่งนำฟางข้าวมาเผาเพื่อนำแคลเซี่ยมและคาร์บอนมาหลอมเป็นพลอย”
ต่อยอดธุรกิจ
ภัสสร บอกต่อไปอีกว่า หลังจากนั้นตนจึงเริ่มสำรวจความต้องการของผู้บริโภคในตลาดว่ามีความต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าวนี้หรือไม่ โดยเริ่มจากการทำของสัตว์เลี้ยงก่อน เนื่องจากไม่ต้องการเข้าไปแตะต้องพิธีทางศาสนาของคน และไม่มั่นใจว่าผู้บริโภคจะมีความต้องการให้นำอัฐิมาทำเป็นพลอย หรือของที่ระลึกเก็บไว้หรือไม่ ซึ่งกระแสตอบรับก็เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการบอกต่อกันไปแบบปากต่อปาก จนนำไปสู่อีกจุดเปลี่ยนหนึ่งในการต่อยอดธุรกิจดังกล่าวมาสู่คน โดยมีญาติของผู้เสียชีวิตเข้ามาติดต่อให้ทำให้ แต่ตนไม่ได้รับทำให้ตั้งแต่แรก
“เมื่อปฏิเสธไปแล้วกลับไปตนเองที่รู้สึกผิดที่ไม่รับทำให้ เพราะตนเข้าใจดีว่าผู้ที่อยากได้นั้นต้องการให้ทำจริงๆ ตนเลยเกิดความมั่นใจว่าคนที่อยากได้ก็มี จึงสร้างเตาหลอมของคนขึ้นมาเพื่อตอบรับ แม้จะยังไม่รู้เลยว่าจะมีผู้ตอบรับมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เพราะคนจะไม่เหมือนกับสัตว์ที่อยู่ตามพื้นและมีการวิ่งเล่น เวลาที่ทำเป็นพลอยก็สามารถนำไปวางไว้ตรงไหนก็ได้ แต่เมื่อเป็นคนซึ่งเป็นที่รักและเคารพเราเลยต้องกำหนดนโยบายขึ้นมาใหม่หมด โดยจะต้องมีการควบคุมการทำงานที่เป็นระบบใหม่ ซึ่งทุกขั้นจะต้องถูกบันทึกเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจ และทำแบบเคสบายเคส มีการประชุมเกือบ 1 ปีกว่าจะทำเป็นธุรกิจออกมาได้”
วัฒนธรรมใหม่
ภัสสร บอกอีกว่า บริษัทพยายามทำราคาให้ไม่สูงจนเกินไป เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มตั้งระดับล่างจนถึงระดับบน เพราะมองว่าเป็นเรื่องของคุณค่าทางจิตใจต้องการให้เป็นวัฒนธรรม (Culture)ในไทย เสมือนเป็นการร่วมกับลูกค้าไม่ใช่การหวังผลกำไรมากแล้วได้ลูกค้าแค่กลุ่มหรือสองกลุ่มเท่านั้นไม่ใช่การตลาดที่กระจายได้เร็ว โดยจะเป็นการประชาสัมพันธ์ไปในตัว เนื่องจากผลิตภัณฑ์ต้องมีการทดลองใช้ และมีการบอกต่อ ซึ่งถือว่าเป็นการทำตลาดแบบเงียบที่ไม่ใช่การลงโฆษณา แต่เป็นการกระทำจริง เพื่อรอให้ลูกค้าได้ไปบอกต่อ
ปัจจุบันบริษัทมีการทำตลาดบนช่องทางออนไลน์ และมีหน้าร้าน หรือแลป เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ส่วนการทำตลาดในระยะต่อไป บริษัทจะดำเนินการร่วมกับสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เพื่อจัดการประกวดออกแบบ เรื่องความผูกพันสายใยแห่งรัก โดยบริษัทจะเลือกผลงานที่มีความเป็นไปได้ทางการตลาด และมีความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างสวยงาม ซึ่งจะเป็นการทำตลาดไปด้วยในตัว โดยที่นักศึกษาจะได้รู้จักบริษัทและต้องการมาสมัครงาน หรือใช้บริการของบริษัท เรียกว่าเป็นการทำตลาดตั้งแต่รุ่นกำลังศึกษา โดยที่บริษัทจะดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังร่วมมือวัดในกรุงเทพมหานคร 5 แห่ง เพื่อมอบพลอยที่ทำจากอัฐิให้กับครอบครัวที่จองศาลาสวดศพ โดยให้ครอบครัวนั้นบริจาคเงินเข้าวัดจำนวนเท่าใดก็ได้ ซึ่งจะมีแบบตอบรับให้เลือกว่าจะรับหรือไม่รับให้ลูกค้าได้รู้จักกับบริษัท และรู้ว่ามีบริการในรูปแบบดังกล่าว โดยมองว่าผลตอบรับที่ได้มีความคุ้มค่า ซึ่งครอบครัวหนึ่งอาจจะไม่ได้ต้องการแค่เม็ดเดียวและมีการสั่งเพิ่ม โดยผลตอบรับที่ได้ถือว่าค่อนข้างไปได้ดี หลังจากนั้นจึงจะทำการขยายไปสู่วัดอื่นต่อไป และต่อยอดไปวัดในพื้นที่ต่างจังหวัดตามหัวเมืองขนาดใหญ่
บริษัทยังมีแผนที่จะร่วมมือกับบริษัทประกันชีวิต ในการสั่งทำผลิตภัณฑ์ล่วงหน้าให้กับผู้ที่ยังมีชีวิตหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว เนื่องจากมองว่าผลิตภัณฑ์จะมีราคาที่สูงขึ้นตามตัวเรือนของวัสดุที่จะนำมาเชื่อมต่อกับพลอย เช่น ทองหรือเงิน อีกทั้งยังค่าแรงของการเจียระไนพลอยที่จะเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา ดังนั้น จึงต้องมีบริการสั่งซื้อล่วงหน้าดังกล่าว เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ซึ่งเมื่อธุรกิจในประเทศไทยมีความมั่นคง และมีรากฐานมี่แข็งแกร่งแล้ว บริษัทจะขยายตลาดออกต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีการทดลองทำตลาดแล้วที่สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง เพื่อสำรวจความต้องการ
“บริษัทยังมีแผนที่จะเข้าสู่ตลาด MAI ภายใน 3 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจ รวมถึงให้อยู่คู่กับสังคม และรองรับธุรกิจการทำร่วมกับประกันชีวิต ขณะที่แนวโน้มการขยายตัวของตลาดนั้น เชื่อว่ายังมีอีกมากจากสภาพของสังคมในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นสู่รุ่น โดยที่จำนวนอัฐิเริ่มมีมากขึ้น ซึ่งสถานที่เก็บในรูปแบบเดิมที่วัดเริ่มไม่เพียงพอ ผู้บริโภคก็จะหันมาใช้บริการของบริษัทมากขึ้น”