“MELOLIZ” เบเกอร์รี่เพื่อคนรักสุขภาพ
เมื่อกระแสการรักและเอาใจใส่สุขภาพกำลังเป็นที่นิยมจากสังคมโดยทั่วไป ได้ก่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพขึ้นมากกมาย โดยที่หนึ่งในนั้นก็คือธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริม อาหารหลัก และอาหารว่าง โดยแบรนด์ “Meloliz” ก็คือหนึ่งในแบรนด์ที่เลือกทำธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการ และเอาใจคนที่รักสุขภาพอย่างแท้จริง
–จากปัญหาสู่ธุรกิจ
สิวัจ กุลชล ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ “Meloliz” เล่าถึงที่มาที่ไปของธุรกิจเบเกอร์รี่เพื่อสุขภาพ ว่า ธุรกิจดังกล่าวนี้มีผู้ร่วมก่อตั้งทั้งหมด 4 คน ประกอบไปด้วย ลิซ่า ทากาชิระ, วงศกร ศิวะพรชัย, ชินณพัฒน์ ลิ้มกอบฤทธิ์ และตัวของตนเอง โดยที่แต่ละคนก็มีที่มาที่แตกต่างกัน โดยจุดเริ่มต้นมาจากการที่ลิซ่าซึ่งเป็นผู้ที่ชื่นชอบรับประทาน หรือที่เรียกว่าติดของหวานเป็นอย่างมาก จนถึงขนาดที่ทำให้ส่งผลกระทบในทางที่ไม่ดีต่อสุขภาพของตัวเธอเอง โดยวันหนึ่งก็ได้มาพบวงศกร ซึ่งเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรงจากอาการของโรคภูมิแพ้ แต่เมื่อมาออกกำลังกายโดยการเข้าฟิตเนสก็ทำให้สุขภาพร่างกายดีมากขึ้น หลังจากนั้นก็เป็นผู้ที่ดูแลเอาใจใส่เรื่องสุขภาพามาโดยตลอด
ขณะที่ตนเองก็เป็นพนักงานบริษัท หรือที่เรียกว่ามนุษย์เงินเดือนทั่วไปที่รับประทานอาหารไม่ถูกวิธี ทำให้น้ำหนักขึ้นลงอยู่ประมาณ 20 กิโลกรัม โดยมีอยู่ช่วงหนึ่งที่สามารถทำงานหารายได้เป็นจำนวนมาก แต่ก็แลกมาด้วยสุขภาพร่างกายที่ถดถอย เริ่มมีอาการนอนกรน และนอนไม่หลับ ซึ่งนำมาถึงจุดเปลี่ยนของตนเอง และเลือกที่จะลาออกจากงานประจำมาลงทุนในเรื่องของสุขภาพอย่างจริงจังแบบยั่งยืน แต่สิ่งที่พบก็คืออาหารมีมีวางจำหน่ายที่ถูกเรียกว่าคลีน กลับไม่สามารถทำให้พวกของตนเชื่อได้ว่าเป็นอาหารคลีนจริงๆ และเลือกที่จะทำรับประทานเองมากกว่า
เมื่อที่มาที่ไปที่แตกต่างกันมาบรรจบเป็นเป้าหมายเดียวกันแบรนด์ “Meloliz” จึงได้ Startup ธุรกิจขึ้นเมื่อช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม 2560 โดยที่มี ลิซ่า เป็นผู้ดูแลเรื่องสูตรในการทำเบเกอร์รี่ โดยเลือกสรรส่วนประกอบที่มีคุณภาพอย่างแท้จริงมาเป็นส่วนผสม ซึ่งได้มีการลองผิดลองถูกหลายครั้งกว่าจะได้ออกมาเป็น 1 เมนูเพื่อนำเสนอต่อผู้บริโภค โดยที่บางเมนูต้องใช้เวลาในการค้นคว้า และวิจัยพัฒนาสูตรกว่าจะลงตัวกว่าครึ่งปี
–คัดสรรวัตถุมีคุณภาพ
หากจะให้พูดถึงจุดเด่นของธุรกิจภายใต้แบรนด์ “Meloliz” แล้ว สิวัจ บอกว่า อยู่ที่การวางตำแหน่งทางการตลาดของแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ โดยเลือกเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของผู้ที่มีอาการแพ้อาหารจากส่วนส่วนประกอบในการทำอาหาร ซึ่งเบเกอร์รี่ของที่ร้านจะระบุไว้อย่างชัดเจนเลยว่าแต่ละเมนูมีส่วนผสมที่ทำมาจากอะไรบ้าง โดยเลือกสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และดีต่อสุขภาพ เช่น ใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาลในการให้ความหวาน, เกลือหิมาลัย ซึ่งไม่มีการผสมสารไอโอดีนทดแทนการใช้เกลือ
ขณะที่เมนูอย่าง “เค้กเต้าหู้” ก็ได้มีการคัดสรรเต้าหู้จากหลากหลายรูปแบบจนได้เต้าหู้ที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด ซึ่งเหมาะที่จะนำมาทำเมนูดังกล่าวตามวัตถุประสงค์ของแบรนด์ ส่วนเมนูที่จะต้องใช้กล้วยเป็นส่วนประกอบ เราก็เลือกใช้กล้วยที่มาจากส่วนที่จังหวัดสุพรรณ ซึ่งมั่นใจได้ว่าไม่มีการใช้สารเร่งโต นอกจากนี้ยังมีการระบุปริมาณของแคลอรี่อย่างชัดเจนว่าอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งขนมของที่ร้านจะไม่เน้นการมีแคลอรี่ต่ำ เพราะในความเป็นจริงแล้วร่างกายของมนุษย์มีความต้องการไขมันดีด้วย โดยเรายึดถือคติว่าหากเรารับประทานแบบ “ ในช่วงแรกเรามีการส่งเบเกอร์รี่ให้กับร้านในรูปแบบของการขายส่งด้วย แต่ก็ต้องยกเลิกกลยุทธ์ทางการตลาดดังกล่าวนี้ไป เพราะมองว่าผู้ที่รับไปจำหน่ายไม่มีความรู้ที่เพียงพอ และไม่สามารถอธิบายให้กับลูกค้าเข้าใจได้จริงตามวัตถุประสงค์ของแบรนด์ที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้บริโภค ดังนั้น เราจึงเลือกที่จะเปิดบูธจำหน่ายของตนเอง ซึ่งมีข้อดีตรงที่เราสามารถอธิบายให้ลูกน้อง หรือพนักงานขายของเราเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่าแต่ละเมนูมีที่มาที่ไปและส่วนประกอบที่สำคัญอะไรบ้าง ”
–ขยายสาขาต่อยอดผลิตภัณฑ์
สิวัจ กล่าวต่อไปอีว่า ในปี 2561 มีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มเติมอีก 7 สาขาในลักษณะของการเช่าพื้นที่ลงตู้เค้กเพื่อจำหน่าย โดยมุ่งเน้นทำเลในห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และสร้างแบรนด์ให้เป็นการรับรู้จากผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นการปูพื้นฐานไปสู่การเปิดสาขาในรูปแบบของร้านที่มีพื้นที่ให้ลูกค้าได้นั่งรับประทานต่อไป จากเดิมที่มีร้านเปิดให้บริการอยู่แล้วที่รามคำแหง 24 แยก 28, ศูนย์การค้าดิเอ็มโพเลี่ยม (The Emporium), ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลบางนา (Central Bangna) และห้างเดอะมอลล์บางกะปิ (The Mall Bangkapi)
นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมสำหรับผู้ที่แพ้อาหารประเภทอื่น เช่น แพ้ถั่ว, แพ้นำตาล และแพ้ไข่ เป็นต้น โดยปัจจุบันมีสูตรเบเกอร์รี่ที่อยู่ระหว่างการรอผลิตเพื่อจำหน่ายแล้วประมาณ 6 เมนู จากเดิมที่มีจำหน่ายอยู่ประมาณ 10 เมนู ซึ่งจากการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจดังกล่าวในปีนี้เชื่อว่าจะทำให้มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 12 ล้านบาทในปี 61 หรือประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิมที่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 3-4 แสนบาทต่อเดือนจากการเริ่มต้นธุรกิจเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2560
ส่วนแผนงานของธุรกิจในอนาคตที่วางเป้าหมายเอาไว้ก็คือการเปิดสาขาในรูปแบบของการมีหน้าร้านในห้างสรรพสินค้าอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการพื้นที่ในการนั่งรับประทาน และโอกาสทางการขายให้มีมากขึ้น หลังจากนั้นภายในระยะเวลา 2-3 ปี มีแผนที่จะหาทำเลในพื้นที่ชานเมืองเพื่อเปิดสาขาขนาดใหญ่ ซึ่งภายในพื้นที่จะมีการปลูกวัตถุดิบในใช้การเป็นส่วนผสมของเบเกอร์รี่ขึ้นเอง และมีพื้นที่ให้กับร้านที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพได้มาเช่าจำหน่าย เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับผู้ที่ใส่ใจในสุขภาพ.