ย.ยักษ์ อาหารตามใจสั่งไซส์ใหญ่
อาหารตามสั่งถือว่าเป็นร้านอาหารยอดฮิตในหมู่ของผู้บริโภคแทบจะทุกกลุ่ม แต่สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหาที่ยังไม่แก้ไม่ตกมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ส่วนใหญ่ผู้บริโภคมักจะไม่ได้แบบที่สั่งตามประเภทของชื่อร้าน แม้ว่าจะเน้นย้ำประโยคที่สั่ง หรือเน้นคำตัวโตๆไว้ในกระดาษจดออเดอร์ก็ตาม
ร้าน ย.ยักษ์ คือร้านที่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค โดยมาพร้อมกับไอเดียความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ธรรมดา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วมในการออกแบบเมนูตามใจฉันด้วยตนเอง กับวัตถุดิบที่ทางร้านได้คัดสรรเอาไว้รองรับ แต่ความไม่ธรรมดายังไม่หมดเพียงเท่านี้
–อาหารตามสั่งตามใจลูกค้า
วนิชชา พุฒิธีระโชติ เจ้าของร้าน และผู้ร่วมก่อตั้ง ร้าน ย.ยักษ์ เล่าถึงที่มาที่ไปของไอเดียและแนวคิดในการทำร้าน ย.ยักษ์ ว่า เกิดขึ้นมาจากความต้องการตอบโจทย์ของตนเองและกลุ่มเพื่อนที่ต้องการทำร้านเกี่ยวกับอาหาร โดยช่วงนั้นกระแสของการทำอาหารไซส์ใหญ่กำลังมา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารญี่ปุ่น หรือในรูปแบบที่คนไทยคุ้นเคยก็จะเป็นพวกบะหมี่ หรือข้าวมันไก่จานใหญ่ ซึ่งมองว่าตอบโจทย์แต่ยังไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะหากไปดูประเทศต้นแบบอย่างญี่ปุ่นที่จริงจะพบว่าอาหารไซส์ใหญ่จะมีหากหลายประเภทมากกว่าที่เราเห็น แต่ทำไมประเทศไทยไม่มี
เมื่อตีโจทย์ได้ค่อนข้างชัดเจนแล้ว จึงเริ่มเจาะลึกลงไปว่าจะทำอย่างไรให้อาหารไทยถูกใจผู้บริโภค เพราะการทำอาหารไซส์ใหญ่ที่มีปริมาณมาก หรือที่ร้านเรียกว่าไซส์ยักษ์นั้น ผู้บริโภคจะต้องชื่นชอบด้วย ดังนั้นความคิดจึงตกผลึกลงไปที่การเป็นร้านอาหารตามสั่งแต่ต้องไม่ใช่รูปแบบธรรมดาทั่วไป โดยลูกค้าจะมีส่วนร่วมในการออกแบบอาหารตามสั่งอย่างที่ตนเองต้องการ ตั้งแต่การเลือกชนิดของอาหารว่าจะเป็นข้าว หรือเส้น หลังจากนั้นก็มาเลือกซอสผัดซึ่งทางร้านจะมีให้เลือก 17 ชนิด ก่อนที่จะระบุว่าใส่เนื้อสัตว์ประเภทใด เพิ่มผักอะไรหรือไม่ รสชาติเผ็ดแค่ไหน และมีเครื่องเคียงประเภทไข่รูปแบบใด ทุกอย่างตามใจลูกค้า
“เรามีกรอบความคิดที่ชัดเจนในการนำพาร้าน ย.ยักษ์ไปสู่เป้าหมายการเป็นร้านอาหารตามสั่งในยุคถัดไป โดยเรากำหนดให้ลูกค้าได้เลือก 5 ขั้นตอนซึ่งเราลงความเห็นแล้วว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับลูกค้าในการออกแบบอาหารจานยักษ์ที่ต้องการ ซึ่งเมื่อนำวัตถุดิบต่างๆที่ลูกค้าเลือกมาผสมผสานกันก็จะทำให้ลูกค้าได้อาหารที่ไม่สามรรถหารับประทานที่ไหนได้นอกจากที่ร้าน เช่น ข้าวผัดสุกี้ หรือสปาเกตตี้ใส่พริก เป็นต้น จนกลายเป็นเมนูยอดฮิตที่มีการแนะนำกันปากต่อปาก”
–แชร์ถล่มทลายชั่วข้ามคืน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาหารไซส์ยักษ์แล้ว ทางร้านก็ต้องมีอาหารไซส์ปกติที่ทางร้านเรียกว่าไซส์มนุษย์ไว้รองรับด้วย เพื่อเป็นการตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้อย่างหลากหลาย โดยกลยุทธ์ในการทำตลาดนั้น แน่นอนว่า วนิชชา เน้นไปที่ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก โดยเลือกที่จะให้บริการไวไฟฟรีแม้ว่าที่ร้านจะเป็นเพียงแค่อาหารตามสั่ง ซึ่งมุ่งหวังให้ลูกค้าได้เชคอิน (Check in) และแชร์ร้านออกไปให้ได้มากที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นไปอย่างที่คิด เพราะการเชคอินและการแชร์ของลูกค้ามีไม่มาก แต่ร้าน ย.ยักษ์ กลายเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคได้จากการที่มีบล็อกเกอร์เข้ามาใช้บริการ และลงรูปแนะนำร้านทำให้เกิดการแชร์ จนสามารถสร้างปรากฎการณ์การแชร์กระหน่ำกว่า 4,000 ครั้ง และมีผู้เข้าชมหลักหมื่นเพียงชั่วข้ามคืน ส่งให้ร้าน ย.ยักษ์ เป็นชื่อที่ติดตลาดอย่างรวดเร็ว
“จุดเด่นที่ทำให้ร้าน ย.ยักษ์ ได้รับความนิยมจากรู้จักแน่นอนว่าอยู่ที่การเสริฟ์อาหารแบบไซส์ยักษ์ รวมถึงอาหารที่ตามใจลูกค้าอย่างแท้จริง หากลูกค้าไม่ระบุเราก็จะทำแบบอาหารไทยพื้นฐานเลย เช่น หากสั่งกะเพราก็จะมีแต่ใบกะเพรากับเนื้อสัตว์ที่ลูกค้าเลือกเท่านั้น และที่สำคัญที่ร้านจะไม่ใส่ผงชูรสทุกเมนู”
ส่วนการขยายตลาดเพื่อเพิ่มฐานลูกค้าของร้านนั้น ได้มีการดำเนินการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ให้บริการเดลิเวอร์รี่ผ่านแอพพลิเคชั่นแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไลน์แมน (LINE MAN) และอูเบอร์อีส (UberEATS) เป็นต้น เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในวัยทำงาน ซึ่งสามารถรับต้นทุนค่าส่งสินค้าได้ จากเดิมที่กลุ่มเป้าหมายของร้านจะเป็นกลุ่มนักศึกษา เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ตลาดสามย่าน นอกจากนี้ ยังเตรียมเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ที่พักอาศัยในคอนโดมิเนียมอีกด้วย
–สร้างตำนานแห่งตลาดสามย่าน
วนิชชา บอกว่า เป้าหมายที่แท้จริงของร้าน ย.ยักษ์ คือการเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนคู่กับตลาดสามย่าน และมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์จนกลายเป็นตำนาน โดยเราเริ่มด้วยการสนับสนุนชมรมฟุตบอลของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มแรกที่มากันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งปฏิธานว่าตราบใดที่ร้านยังอยู่จะสนับสนุนต่อไป
“เราต้องการสร้างตำนานให้เป็นเสมือนสถานที่ที่รุ่นพี่พารุ่นน้องมารับประทาน หลังจากรุ่นหนึ่งก็จะสืบทอดต่อไปอีกรุ่นหนึ่งเรื่อยๆ โดยเมื่อเวลาผ่านไป 5-10 ปี ก็จะเกิดอาการที่เรียกว่ามาสามย่านต้องไปร้าน ย.ยักษ์ อีกทั้งมองว่าด้วยความซับซ้อนของสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา การขยายร้านไปยังทำเลอื่นอาจจะไม่ค่อยคุ้ม เพราะต้นทุนในการบริหารค่อนข้างเยอะมาก ดังนั้น จึงตั้งใจให้มีแค่สาขาเดียว หรือหากขยายธุรกิจจริงก็จะไปในแนวอื่นที่ไม่ใช่ ย.ยักษ์ หากลูกค้าต้องการมาใช้บริการร้าน ย.ยักษ์ดั้งเดิมต้องมาที่ตลาดสามย่านเท่านั้น”
ส่วนกุญแจที่ไขประตูเปิดไปสู่ความสำเร็จที่เธอถ่อมตัวว่ายังไม่ประสบความสำเร็จนั้น วนิชชา กล่าวว่า มาจากการต้องการพิสูจน์ทฤษฎีที่คิดขึ้นมาว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ โดยตนเชื่อว่าร้าน ย.ยักษ์มีจุดเด่นของการประสบความสำเร็จทุกด้าน แต่ทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าจะถูกใจหรือไม่ ทุกอย่างลูกค้ามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ โดยสิ่งที่ทุกคนที่มีส่วนร่วมกับกับร้านนี้ทำอยู่เสมอคือความตั้งใจทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าด้วยใจ และการจะทำอะไรก็ตามจะต้องทำให้สุดทางโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามแผนที่วางเอาไว้ ซึ่งระหว่างทางอาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างแต่โดยภาพรวมแล้วเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน มีกรอบการทำงานที่จะต้องทำออกมาให้ได้ โดยเชื่อว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ช่วยยึดให้เราอยู่ในเส้นทาง และนำพาเราไปสู่ความสำเร็จ
“สมัยนี้เป็นยุคแห่งการฉาบฉวย โดยเลือกทำในสิ่งที่ง่ายที่สุด หรือเรียกว่าเห็นใครที่ประสบความสำเร็จก็ทำตาม โดยไม่มีความคิดดั้งเดิมของตนเอง ไม่มีสิ่งใหม่มอบให้กับลูกค้า ไม่ได้นำเสนอมูลค่าของผลิตภัณฑ์ แล้วเหตุใดจึงคิดว่าจะประสบความสำเร็จได้จากการเดินตามทางของคนที่ประสบความสำเร็จ”.