NINEBAGS ตอบทุกโจทย์เพื่อคนรักกระเป๋า
NINEBAGS ตอบทุกโจทย์เพื่อคนรักกระเป๋า
จะมีสักกี่คนที่ลาออกในวันครบรอบวันเกิดของตนเอง แต่เมื่อย้อนกลับไปในช่วงปี 2548 มีผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นวิศวกรทางด้านคอมพิวเตอร์ ทำงานในองค์ที่มั่นคง มีรายได้หลายหมื่นบาท แต่กลับเลือกที่จะทำการดังกล่าว เพียงเพราะต้องการไขว่คว้าหาความฝันในการมีกิจการ หรือธุรกิจเป็นของตนเอง แต่เป็นการกระทำชนิดที่เรียกว่าบ้าดีเดือด หรือที่ภาษาชาวบ้านพูดว่าเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง เพราะเป็นการลาออกทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร รู้แค่เพียงว่าชื่นชอบทำงานทางด้านบริการ ซึ่งข้อดีก็คือไม่ต้องมีต้นทุน แต่ใช้ทักษะทางด้านของฝีมือ
ขณะที่ วินิจ ลิ่มเจริญ ยังไม่รู้ว่าจะยึดอาชีพอะไรในการทำธุรกิจ เพราะงานบริการก็มีอยู่ด้วยกันแหลงแขนง แสงประทีปนำทางชีวิตก็เกิดขึ้นจากการได้เห็นภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่กำลังซ่อมแซมฉลองพระบาทส่วนพรองค์ ซึ่งเชื่อว่าหากเป็นผู้อื่นอาจจะเลือกซื้อใหม่แทนการซ่อมไม่ทำเหมือนพระองค์ ประกายทางความคิดจึงตกผลึกได้อย่างแน่วแน่ว่างานซ่อมแซมน่าจะเหมาะกับตนเองมากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ชอบ ที่สำคัญการเป็นช่างซ่อมน่าจะไม่ใช่เป็นเพียงการตอบโจทย์ตนเอง แต่จะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
–ทรงเป็นแรงบันดาลใจสู่อาชีพ
วินิจ ที่ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนนแบ็ค จำกัด เล่าย้อนกลับไปเมื่อช่วง 10 ปีที่แล้วให้ฟังว่า แม้จะรู้ว่าต้องการเป็นช่างซ่อม แต่ปัญหาที่ตามก็คือไม่รู้ว่าจะซ่อมอะไรที่จะนำมาเป็นอาชีพได้ จึงใช้วิธีค้นหาในอินเตอร์เนตโดยพิมพ์ประโยคสำคัญไปเรื่อยๆ จนมาสะดุดที่คำว่า “กระเป๋า” เพราะเมื่อสืบค้นเข้าไปจะมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องปรากฎขึ้นมากมาย แต่ยังไม่มีคำว่า “ซ่อม” อยู่ด้านหน้า ตนจึงเลือกที่จะลองใส่คำดังกล่าวลงไปด้านหน้ากระเป๋า ทำให้ทราบว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วประโยคนี้มีผู้ใช้งานน้อยมาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงปักหมุดลงไปที่อาชีพซ่อมกระเป๋า โดยมองว่าน่าจะมีพื้นที่ทำการตลาดให้สามารถสอดแทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งได้ ที่สำคัญยังไม่มีเบอร์หนึ่งของตลาด และมองว่าน่าจะมีความต้องการจากผู้บริโภค เพราะเท่าที่เห็นจะมีเพียงแค่รับซ่อมรองเท้า เสื้อผ้า ตนจึงยึดอาชีพซ่อมกระเป๋าตั้งแต่บัดนั้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีโจทย์ที่ต้องแก้ปัญหารออยู่นั่นก็เพราะว่าตนไม่มีทักษะทางด้านซ่อมกระเป๋าเลย แม้กระทั่งการใช้จักรเย็บผ้า ดังนั้น จึงใช้วิธีเขียนลงกระดาษว่าการเป็นช่างซ่อมกระเป๋าจะต้องทำอะไรบ้าง หลังจากนั้นจึงไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจนชำนาญก่อนที่จะเริ่มรับซ่อมกระเป๋า และเปิดร้าน ไนนแบ็ค (NINEBAGS) อย่างเป็นรูปธรรม
–ซ่อมกระเป๋าทุกชนิดราคา
จุดเด่นของร้าน “ไนนแบ็ค” ที่ทำให้แตกต่างจากร้านอื่นนั้น วินิจบอกว่า อยู่ที่การไม่เลือกว่ากระเป๋าที่ลูกค้านำมาซ่อมเป็นชนิดใด หรือแบบใด รวมถึงไม่เกี่ยงว่าจะถูกหรือแพง และจะเป็นของแบรนด์เนมหรือไม่ใช่แบรนด์เนม เรารับซ่อมทั้งหมด เพราะเชื่อว่าเหตุผลในการซ่อมกระเป๋าของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกัน บางรายซ่อมเพราะเสียดาย แต่บางรายอาจจะซ่อมเพราะความผูกพัน มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับกระเป๋าใบนั้น เช่น พ่อกับแม่ซื้อให้, คนรักซื้อให้ และเป็นของบรรพบุรุษ เป็นต้น ในมุมของเราอาจไม่มีคุณค่า แต่ลูกค้าอาจจะยินดีเสียเงินในการซ่อมเพื่อรักษากระเป๋าเอาไว้
“ตนไม่ได้มองกระเป๋าเป็นแค่กระเป๋า แต่มองว่าเป็นความรู้สึกของผู้เป็นเจ้าของ โดยกระเป๋ามีเสน่ห์อย่างหนึ่งก็คือ ความมีอารมณ์ร่วมแห่งการเป็นเจ้าของ ยิ่งกับผู้หญิงอย่าไปถามหาเหตุผล เช่นเดียวกับที่เราใช้ใบไหนถูกใจแม้ว่าจะซื้อใบใหม่มาแต่ก็ยังใช้ใบเก่าอยู่ ไม่ว่าจะด้วยความเหมาะมือ ช่องใส่ของกำลังพอดี ซึ่งตนไม่รู้ว่าร้านอื่นมองอย่างไร แต่ตนเชื่อว่าความรู้สึกดังกล่าวนี้ทำให้ตนสามารถสื่อไปยังลูกค้าของตนได้ โดยที่ลูกค้าจะมองว่าเราไม่ได้ทำตัวเป็นช่าง แต่ทำตัวเหมือนเป็นหมอคอยให้คำปรึกษาลูกค้าว่าก่อนจะเข้ามาซ่อมยังไง เราใช้วิธีคิดของการเป็นวิศวมาก่อนมาช่วยลูกค้าในการคิดแบบเป็นกระบวนการ หรือหาโซลูชั่นที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า”
นอกจากนี้ ราคาในการซ่อมยังสมเหตุสมผล ไม่รู้ว่าร้านอื่นคิดค่าซ่อมอย่างไร สมมุติว่ามีกระเป๋ามา 2 ใบ ของแท้กับของเลียนแบบ บางร้านอาจจะเห็นว่าเป็นของแท้ก็คิดแพงเลย ทั้งที่หน้าตาเหมือนกัน แต่ที่ร้านจะไม่สนใจเรื่องนี้ แต่จะสนใจว่าเราจะต้องใช้เวลากับกระเป๋าใบนั้นเท่าไหร่ เพื่อประเมินออกมาเป็นราคา ยกตัวอย่างเช่น กระเป๋าใบหนึ่งเราคิดค่าซ่อม 500 บาททั้งแท้และปลอม เจ้าของกระเป๋าของแท้อาจจะมองว่าเราซ่อมถูกมาก แต่ของปลอมอาจจะมองว่าแพง เราต้องอธิบายให้ลูกค้าฟังว่าเราไม่ได้สนใจว่าแท้หรือปลอม เราใช้ความตรงไปตรงมากับลูกค้าเป็นที่ตั้ง เพราะเราใช้ต้นทุนเรื่องของเวลาเป็นสำคัญ
–เข้าถึงทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ขณะที่กลยุทธ์ในการทำตลาดช่วงแรกเริ่มธุรกิจนั้น ตนจะเน้นทำเรื่องของการตลาดก่อน เพราะมีความชำนาญเรื่องคอมพิวเตอร์ ณ วันนั้นที่เฟสบุ๊กยังไม่เกิด ก็จะใช้วิธีการทำอันดับในกูเกิ้ลเพื่อให้ผู้สืบค้าเรื่องกระเป๋าได้เจอกับที่ร้าน และอีกหลายหลายวิธีที่จะทำได้บนโลกออนไลน์ ส่วนทางด้านของออฟไลน์ก็จะเป็นการเข้าถึงสื่อต่างๆไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ โดยพยายามทำทุกช่องทางให้สื่อสนใจ ด้วยความเชื่อที่ว่าอาชีพของตนจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค
“เราถือว่าเดินมาถูกทางอย่างแท้จริง เพราะบริการของเราถือว่าเป็นความต้องการของตลาดในวันนั้น โดย การตลาดที่ดีที่สุดก็คือการที่มีผู้มาใช้บริการและนำไปบอกต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการตลาดทุกคนอยากให้เกิดปรากฎการณ์นี้ในสินค้าและบริการของตัวเอง และสิ่งดังกล่าวนี้เกิดขึ้นกับบริการของเรา เหมือนกับเราเข้ามาถูกจังหวะถูกเวลา เพราะผู้บริโภคตามหามานานมาก ดังนั้นลูกค้าจึงมีการบอกต่อกันไปกระทั่งจนทุกวันนี้ อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นเพราะความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ซึ่งเราจะบอกทุกอย่างแบบตรงไปตรงมา ราคาที่สมเหตุสมผล และคุณภาพฝีมือในการซ่อมทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ”
–เล็งขยายครอบคลุมทั่วประเทศ
ส่วนภาพรวมของธุรกิจในอนาคตนั้น วินิจ บอกว่า ปัจจุบันตนเชื่อยังมีผู้บิโภคอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ทราบว่ามีร้านแบบ ไนนแบ็ค เปิดให้บริการ หรือยังไม่ทราบว่ากระเป๋าเมื่อเสียแล้วสามารถซ่อมได้ อาจจะเคยเห็นเพียงแค่ร้านซ่อมรองเท้า หรือร้านเย็บเสื้อผ้า แต่ไม่เคยเห็นร้านซ่อมกระเป๋าแบบจริงจัง แผนการดำเนินงานของบริษัทก็คือจะต้องสื่อให้ผู้บริโภครู้ให้ได้ว่ามีร้าน ไนนแบ็ค และให้นึกถึง ไนนแบ็ค เป็นชื่อแรก นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายจุดรับกระเป๋าให้กระจายไปยังทั่วประเทศ โดยจะเริ่มต้นที่หัวเมืองขนาดใหญ่ เพื่อทำให้สามารถขยายการให้บริการได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
สำหรับแผนภายในปีนี้คาดว่าจะขยายจุดรับกระเป๋าเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 3-4 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้วในกรุงเทพประมาณ 7 แห่ง ได้แก่ ร้าน เมดฟาร์มาซี ซอยเพชรเกษม 71 , ร้านไออีมีเดีย ที่ศูนย์การค้าซีคอนสแคร์ ศรีนครินทร์ , ร้านคลีนเมท ที่ตึกจามจุรีสแคร์ และร้านซอนต้า สยามแสควร์ เป็นต้น ขณะที่ในต่างจังหวัดจะมีที่ร้านแบ็คดีว่า (Bag Deva) อำเภอหาดใหญ่ และร้านคุณนายแบ็คสปา จังหวัดชลบุรี
ขณะที่แผนการทำตลาดทางด้านออนไลน์ก็ยังคงทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ไลน์แอด (@ninebags) ,เฟสบุ๊ก (ninebags2007) และเว็บไซด์ (www.ninebags.com) เป็นต้น