กระท่อมเห็ด ยึดหลักพอเพียงสร้างธุรกิจยั่งยืน
จากสาวออฟฟิตทำงานรับเงินเป็นรายเดือนธรรมดาคนหนึ่งที่พยายามหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต โดยมีโจทย์ในใจว่าจะต้องเป็นการลงทุนในสิ่งที่ชอบ และจะต้องสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกวัน ดังนั้น กรอบทางความคิดจึงหนีไม่พ้นการเป็นเกษตรกร ด้วยเหตุผลที่ไม่สลับซับซ้อนว่าทุกคนต้องรับประทานต้องใช้
หลังจากนั้นจึงมาพิจารณาว่าเกษตรรูปแบบไหนที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด โดยไม่ต้องเป็นเกษตรแบบเก่าที่ต้องตากแดดถือจอบขุดดิน เพราะว่าตนเองเป็นผู้หญิง
ด้วยแนวความคิดที่ชัดเจนทำให้ นัยนา ยังเกิด สนใจเรื่องของการทำฟาร์มเห็ด เพราะครอบครัวพูดให้ฟังอยู่บ่อยครั้ง และตนเองก็รับประทานเห็ดอยู่แล้วแทบทุกวัน เพียงแต่ไม่รู้ว่าเห็ดเติบโตขึ้นมาได้อย่างไร จึงไปเรียนรู้ด้วยตนเองทางอินเตอร์เนต รวมถึงไปหาผู้เชี่ยวชาญจากฟาร์มต่างๆ และซื้อก้อนเห็ดมาทดลองเพาะตามคำแนะนำ ปรากฏว่าได้ดอกเห็ดที่สวยงาม เห็นแล้วรู้สึกชอบเปรียบได้กับเป็นรักครั้งแรก และต้องการที่จะทำเป็นอาชีพ
-สร้างอาชีพจากความชอบ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความรู้สามารถเพาะเห็ดออกมาเป็นดอกได้แล้ว แต่ นัยนา ก็ยังตัดสินใจที่จะไปลงเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรให้กับประชาชนทั่วไป เพราะด้วยความที่ต้องการยึดเป็นอาชีพ เพื่อทำให้ตนเองได้มีมีความรู้เพิ่มมากขึ้น และรู้ถึงที่มาที่ไปของการกำเนิดเห็ด แต่สิ่งที่สำคัญก็คือการลงมือทำ และเตรียมใจที่จะรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น
อุปสรรคแรกที่พบคือเรื่องการขาย เนื่องจากไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน คิดเพียงแต่จะพึ่งพาพ่อค้า แม่ค้าในตลาดกลยุทธ์แรกจึงเป็นการเดินไปขายกับพ่อค้า แม่ค้าตามแผงขายผัก แต่ไม่มีรายใดเลยที่สนใจเพราะทุกเจ้าต่างก็มีแหล่งประจำที่ไปรับสินค้าอยู่แล้ว เมื่อสถานการณ์เป็นดังนั้น ตนเองจึงแก้ปัญหาด้วยการเช่าแผงขายเอง เพราะมั่นใจในคุณภาพของสินค้าซึ่งเป็นเห็ดที่ปลอดสารพิษ และมีการทำแพคเก็จจิ้งที่สวยงาม พร้อมคำแนะนำสรรพคุณของเห็ดเวลาขาย ทำให้สามารถขายหมดภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น แบรนด์ “กระท่อมเห็ด” (Mushroom Cottage Farm) จึงเกิดขึ้น และเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่บัดนั้น
วันรุ่งขึ้นมีพ่อค้าและแม่ค้าเข้ามาขอซื้อผลิตภัณฑ์ถึงฟาร์มโดยที่ไม่ต้องออกไปขาย แต่ด้วยความที่มีกระบวนการทางความคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้นึกไปถึงต้นทุนของการซื้อก้อนเห็ด ซึ่งมีอายุการใช้งานประมาณ 6 เดือน และมีระยะเวลาคืนทุนใน 3 เดือน โดยมองว่าอีก 3 เดือนก็ต้องนำทุนไปซื้อก้อนเห็ดอีก ทำให้ตนเองตัดสินใจนำเงินทุนดังกล่าวไปลงทุนซื้อเครื่องจักรทำก้อนเห็ด ซึ่งทำให้ได้พบกับอุปสรรคอีกรูปแบหนึ่งจากการทำก้อนเห็ดที่แตกต่างจากดอกเห็ด ทั้งต้นทุนเรื่องวัสดุอุปกรณ์ ค่าจ้างแรงงาน และความไม่เชี่ยวชาญ แต่ก็สามารถผ่านพ้นอุปสรรคมาได้จากการขอความรู้จากฟาร์ม รวมถึงศึกษาเพิ่มเติม และที่สำคัญคือไม่ย่อท้อ
-น้อมนำแนวทางพระราชดำรัส
เมื่อสามารถฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆ มาได้ นัยนา จึงเกิดความคิดที่จะน้อมนำแนวทางพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอุลยเดช ซึ่งทรงสอนให้ประชาชนไทยนำหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิต โดยเลือกที่จะน้อมนำแนวทางทางด้านของความพอเพียง และการให้มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ
สำหรับในส่วนของแนวทางด้านความพอเพียงนั้น การบริหารจัดการของฟาร์มจะทำเพียงเท่าที่ทำได้ เช่น ฟาร์มจะผลิตก้อนเห็ดได้ประมาณ 650 ก้อนต่อวัน หากมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต้องการสั่งครั้งละเป็นหมื่นหรือแสนก้อน ฟาร์มจะต้องใช้เวลาผลิตประมาณ 1 เดือน หากไม่สามารถรอได้ฟาร์มก็จะไม่มีเร่งขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับออเดอร์ เพราะมองว่าตนเองมีอาชีพทำดอกเห็ดขาย หากมีลูกค้าจะมาซื้อก้อนเห็ดก็ยินดีขายในปริมาณเท่าที่มี
ขณะที่เรื่องแนวทางของการให้นั้น ที่ฟาร์มก็มีการเปิดอบรมให้ความรู้อย่างเต็มที่ แบบไม่มีกั๊ก และไม่มีข้อผูกมัดหรือเงื่อนไขว่าหากมาเรียนที่ฟาร์มจะต้องซื้อก้อนเห็ดจากฟาร์ม เราเพียงแค่ต้องการอยากให้มารับความรู้อย่างเต็มที่จากฟาร์มให้มีความเชี่ยวชาญ และหลังจากที่สำเร็จหลักสูตรไปแล้วก็สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือ หรือขอคำแนะนำได้ตลอดเวลา โดยมีพระองค์เป็นต้นแบบจากการที่พระองค์ทรงให้กับประชาชน ซึ่งพระองค์ทรงศึกษาเรื่องดิน น้ำ ฝน ฯลฯ และนำมาเผยแพร่ให้กับประชาชนของพระองค์ เราต้องการมีความสุขแบบนั้นบ้าง
-เกษตรแบบผสมผสาน
นอกจากนี้ที่ฟาร์มยังเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยจะมีการปลูกพืชผลทางการเกษตรชนิดอื่นเสริมเพิ่มเติม เช่น ปลูกเมล่อนในช่องฤดูร้อน เป็นต้น เพื่อเป็นการเพิ่มฐานลูกค้า หรือหากเป็นช่วงฤดูฝนที่ผลผลิตเห็ดจะมีออกมาจำนวนมาก ก็จะเลือกใช้วิธีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปทำแหนมเห็ด, หมูยอเห็ด, เห็ดสามอย่าง, น้ำพริกเผาเห็ด และข้าวเกรียบเห็ด เป็นต้น
นัยนา กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันฟาร์มได้มีการเปิดอบรมให้กับผู้ที่สนใจไปแล้ว 61 รุ่น และจากความตั้งใจถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้กับสถานศึกษา การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ที่สนใจ ซึ่งเป็นการทำประโยชน์เพื่อสังคมอย่างแท้จริง ก็ทำให้ตนเองได้รับการยกย่องให้เป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน” ประจำตำบล โสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ทำให้มีกำลังใจในการถ่ายทอดความรู้อย่างเต็มที่ต่อไป
“ หากถามถึงรายได้ในปัจจุบัน ถือว่าเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ หากต้องลาออก หรือมีเหตุให้ต้องถูกเลิกจ้างจากงานประจำ แต่ไม่ต้องการบอกถึงจำนวนตัวเลข เพราะไม่ต้องการให้คิดว่ารายได้เป็นสิ่งสำคัญที่ดึงดูดใจให้เข้ามาทำการเกษตร ”
-ศูนย์การเรียนรู้เพื่อสังคม
สำหรับสายพันธุ์เห็ดที่ฟาร์มเพาะและทำตลาดอยู่มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ 1.เห็ดนางฟ้าภูฐาน, 2.เห็ดนางรมฮังการี, 3.นางนวลสีชมพู และ4.เป๋าฮื้อ เนื่องจากเป็นสายพันธุ์เห็ดที่ผู้บริโภครู้จักเป็นอย่างดี สามารถทำตลาดได้โดยง่าย ขณะที่กลยุทธ์ในการทำตลาดก็จะประยุกต์ใช้แนวทางสมัยใหม่เข้ามาช่วยผ่านทางโซเชี่ยลมีเดีย ทั้งเฟสบุ๊ก (facebook), ไลน์ (Line) และยูทูป (Youtube) เป็นต้น อีกทั้งยังมีจำหน่ายที่ร้านสุขภาพต่างๆ
นอกจากนี้ หากเป็นช่วงเทศกาลต่างๆ แบรนด์ “กระท่อมเห็ด” ก็จะสร้างความแตกต่างในตลาดให้ผู้บริโภคได้รู้สึกถึงความพิเศษ เช่น เทศกาลปีใหม่ ก็จะเป็นกระเช้าเพื่อกลุ่มคนรักสุขภาพซึ่งไม่สามารถหาซื้อได้ในท้องตลาด พร้อมกับเพิ่มมูลคาด้วยแพคเกจที่สวยงามมีแบรนด์อย่างชัดเจน และวันเลนไทน์ ฟาร์มก็จะมีเห็ดนางนวลสีชมพู ซึ่งมีความพิเศษในเรื่องสีที่สื่อความหมายได้อย่างตรงจุด เป็นต้น
ส่วนภาพรวมของธุรกิจในอนาคตนั้น นัยนาต้องการสร้างศูนย์แห่งการเรียนรู้เพื่อสังคม เพราะคิดว่าเป็นเสมือนการทดแทนคุณของแผ่นดิน โดยเราเป็นเกษตรที่เลี้ยงดูตนเองได้ จึงต้องการให้เกิดความพอเพียงในสังคม และต้องการกลุ่มคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน ชอบอะไรที่เหมือนกัน มาเรียนรู้และแบ่งปันความรู้ร่วมกัน และต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นเกษตรผสมผสานมากขึ้น และทำให้เป็นแบบครบวงจร โดยเริ่มต้นอย่างเป็นกระบวนการ ซึ่งปีแรกจะเป็นการขายดอกเห็ด ปีที่ 2 เริ่มขายก้อนเห็ด ปีที่ 3 มีเห็ดแปรรูป ปีที่ 4 มีร้านกาแฟบริการในฟาร์ม และปีที่ 5 มีเกษตรรูปแบบอื่นมาผสมผสาน.