“แจ่วฮ้อนบอย” สูตรเด็ดคุณพ่อสู่ธุรกิจหลักล้าน
“แจ่วฮ้อนบอย” สูตรเด็ดคุณพ่อสู่ธุรกิจหลักล้าน
เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า “จิ้มจุ่ม” กับ “แจ่วฮ้อน” มีความแตกต่างกันอย่างไร ทั้งที่เวลารับประทานอุปกรณ์ที่ใช้ก็ดูจะไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก เหตุใดชื่อเรียกถึงไม่เหมือนกัน คำตอบนี้จะถูกไขข้อสงสัยโดย เอรียา อัตถากร สาวน้อยผู้ Startup ธุรกิจขึ้นมาด้วยความตั้งใจผสมผสานไปกับความบังเอิญของช่วงเวลา จนทำให้ปัจจุบันธุรกิจที่สาวน้อยคนนี้สร้างขึ้นได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้บริโภค
–สูตรเด็ดคุณพ่อสู่ธุรกิจ
เอรียา ที่ขณะนี้มีตำแหน่งเป็นเจ้าของกิจการ “แจ่วฮ้อนบอย” อธิบายให้ฟังอย่างง่ายว่า ความแตกต่างของอาหารทั้ง 2 ประเภทอยู่ที่ความเข้มข้นของน้ำซุบ โดยจิ้มจุ่มน้ำซุบจะใส และผู้ที่รับประทานจะต้องนำเนื้อสัตว์ที่ลวกสุกแล้วไปจิ้มกับน้ำจิ้ม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นน้ำจิ้มแจ่วก่อนที่จะรับประทานเพื่อเพิ่มรสชาติ แต่แจ่วฮ้อนจะมีน้ำซุบที่เข้มข้น มีรสชาติที่จัดจ้านคล้ายกับน้ำจิ้มแจ่ว ซึ่งผู้รับประทานบางรายสามารถรับประมานได้ทันทีหลังจากที่ลวกเนื้อสัตว์สุกแล้ว หรือจะกล่าวแบบตรงตัวก็คือ แจ่วก็คือน้ำจิ้มแจ่ว ฮ้อนก็คือน้ำซุบที่ร้อน เมื่อนำทั้ง 2 คำมารวมกันก็จะกลายเป็นน้ำซุบน้ำจิ้มแจ่วร้อนๆ
ส่วนที่มาที่ไปของธุรกิจนั้น เอรียา บอกว่า เกิดขึ้นมาจากการที่ตนเองสำเร็จการศึกษาเร็ว และยังไม่ได้ทำงานประจำที่ไหน ทำให้เกิดแนวคิดในการทำธุรกิจโดยจะต้องเป็นธุรกิจที่สามารถทำได้เลย ซึ่งในขณะนั้นได้คิดถึง แจ่วฮ้อน เพราะเป็นอาหารที่ชอบรับประทานเป็นการส่วนตัว และคนในครอบครัวก็ชื่นชอบ ที่สำคัญคุณพ่อยังมีสูตรเด็ดที่ทำรับประทานมาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งใครที่มาชิมต่างก็จะติดใจในรสชาติ ดังนั้น จึงตัดสินใจเลือกที่จะนำเมนูดังกล่าวนี้มาทำเป็นธุรกิจสร้างรายได้ให้กับตนเอง
เมื่อสรุปประเภทของธุรกิจได้แล้ว ปัญหาในลำดับถัดมาที่ต้องคิดก็คือรูปแบบการนำเสนอสู่ผู้บริโภคว่าควรเป็นแบบใด จะทำเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของขวด หรือว่าใส่ถุง อย่างไรก็ดี ได้มีโอกาสไปเห็นผู้ประกอบการเจ้าหนึ่งที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับแจ่วฮ้อน ซึ่งใช้วิธีการส่งน้ำซุบแบบเป็นถุง โดยส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะใช่วิธีการทำธุรกิจที่ดีเท่าใดนัก เพราะโอกาสในการขยายธุรกิจทำได้ค่อนข้างยาก ดังนั้น จึงเกิดประกายไอเดียทำน้ำซุบแจ่วฮ้อนในรูปแบบแห้ง สำหรับให้ผู้บริโภคนำไปเติมน้ำรับประทาน
“กว่าที่เราจะทำน้ำซุบให้เป็นแบบแห้งได้ จะต้องทดลองทำอยู่หลายวิธี เคี่ยวน้ำซุบอยู่หลายหม้อ โดยนำสูตรของคุณพ่อมาปรับให้กลายเป็นน้ำซุบแห้งที่พอเติมน้ำรับประทานแล้วจะได้รสชาติเหมือนต้มในครั้งแรก ซึ่งกว่าที่จะประสบความสำเร็จออกมาเป็นธุรกิจได้ ต้องใช้ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มคิดจนถึงสิสุดกระบวนการพร้อมจำหน่ายประมาณ 4-5 เดือน”
–ชูจุดเด่นสะดวก/รสชาติจัดจ้าน
เอรียา เล่าต่อไปว่า “ธุรกิจของเธอเลือกใช้ชื่อว่า “แจ่วฮ้อนบอย” ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกตั้งคำถามว่าทำไมถึงลงท้ายด้วย “บอย” โดยต้องยอมรับว่าเกิดจากความไม่ได้ตั้งใจ เพราะเพียงแค่มองว่าร้านที่ลงท้ายด้วย “บอย” ส่วนใหญ่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จ และร้านที่ตนเองชอบหลายร้านก็มีชื่อลงท้ายด้วย “บอย”
สำหรับจุดเด่นของ “แจ่วฮ้อนบอย” นั้น อยู่ที่ความสะดวกสบายในการรับประทานในรูปแบบของสำเร็จรูป โดยมั่นใจในรสชาติที่อร่อยถูกปากมากกว่าการเป็นแค่อาหารสำเร็จรูป ซึ่งตามปกติผู้ที่รับประทานอาหารแบบสำเร็จรูปจะไม่คาดหวังเรื่องของรสชาติ โดยจะเน้นเรื่อความสะดวกรวดเร็วมากกว่า แต่ “แจ่วฮ้อนบอย” จะเป็นอาหารสำเร็จรูปที่มีรสชาติอร่อย จัดจ้านมากกว่าเดินทางไปรับประทานที่ร้านบางร้าน ทำให้สามารถขยายกลุ่มฐานลูกค้าได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้านช่องทางการทำตลาดของ “แจ่วฮ้อนบอย” ในช่วงแรกของการแนะนำผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค เอรียา เลือกใช้กลยุทธ์เชิงรุกด้วยวิธีการแจกผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคได้ทดลองรสชาติ เพราะมั่นใจในรสชาติความอร่อยของสูตรที่ทำจำหน่าย และเชื่อว่าเมื่อรสชาติถูกปากผู้บริโภคก็จะแนะนำต่อกันไปแบบปากต่อปาก นอกจากนี้ ยังนำไปแจกที่ไปรษณีย์ ซึ่งมีผู้ที่เข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมากต่อวัน ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักได้อย่างรวดเร็ว โดยการทำตลาดในพื้นที่ภาคอรสานนั้นทำได้ง่ายอยู่แล้ว เพราะทุกคนรู้จักอาหารประเภทนี้เป็นอย่างดี”
–วางเป้าเป็นรสชาติหลักเมนูแจ่วฮ้อน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน “แจ่วฮ้อนบอย” มีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงมีตัวแทนจำหน่ายในปั๊มน้ำมันทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสาน และศูนย์จำหน่ายของฝากในเขตพื้นที่ภาคเหนือ และอีสาน โดยลูกค้าในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่จะนิยมสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก เพราะความสะดวกสบาย และผ่านทางตัวแทนจำหน่ายบ้าง
เอรียา บอกอีกว่า ยังคงเปิดรับสมัครตัวแทนจำหน่ายอยู่เรื่อยๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น ขณะที่ในต่างประเทศล่าสุดก็มีออดเดอร์สั่งเข้ามาเพื่อนำไปจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, เดนมาร์ก, จีน และเวียดนาม เป็นต้น
“หลังจากที่เริ่มทำตลาดมา แจ่วฮ้อนบอยมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยที่ในปี 60 สามารถสร้างรายได้อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิมที่ในปี 59 จะมีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ประมาณหลักแสนบาท ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจในอนาคตนั้น ต้องการให้ แจ่วฮ้อนบอง เป็นเสมือนเครื่องปรุงพื้นฐานของร้านที่เปิดให้บริการเมนูแจ่วฮ้อน โดยอยากให้เป็นเหมือนน้ำพริกเผาที่แทบทุกครัวจะต้องมี เพื่อใช้สำหรับปรุงอาหาร”.