MEID จากความตั้งใจสู่ฮาร์ดแวร์ช่วยชีวิต
MEiD จากความตั้งใจสู่ฮาร์ดแวร์ช่วยชีวิต
การช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่ควรกระทำ แต่บางครั้งความตั้งใจดังกล่าวก็อาจจะมีอุปสรรคเกิดขึ้นได้จากการเข้าไม่ถึงข้อมูล ของผู้ประสบเหตุ หรือผู้ป่วย จนอาจทำให้การรักษาเกิดความล่าช้า และอาจจะร้ายแรงที่สุดจนถึงขั้นที่ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน
ปัญหาจากการเข้าไม่ถึงข้อมูลกำลังจะหมดไป เมื่อทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งได้เกิดไอเดียในการสร้างฮาร์ดแวร์ขึ้นมา สำหรับช่วยเก็บประวัติ หรือข้อมูลของแต่ละบุคคล เพื่อให้ผู้อื่นสามารถเข้าถึงได้ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “มีไอดี” (MEiD) ได้ Startup ธุรกิจขึ้นมา
–จากปัญหาสู่ฮาร์ดแวร์ช่วยชีวิต
ปีติพงศ์ เหลืองเวชการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท MEiD จำกัด เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของธุรกิจให้ฟังว่า ด้วยความที่อยู่ในวงการแพทย์ ทำให้ได้พบเห็นกับปัญหาของการที่แพทย์อาจจะไม่สามารถรักษาคนไข้ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะความที่เข้าไม่ถึงข้อมูลส่วนตัวของคนไข้ เช่น การแพ้ยา กรุ๊ปเลือด และโรคประจำตัว เป็นต้น ซึ่งจะว่าไปก็เปรียบเสมือนกับดักทางการแพทย์ และถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของโลกที่ควรจะต้องได้รับการแก้ไข เพื่อรักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ
ขณะที่คนไข้เองส่วนใหญ่ก็จะไม่มีข้อมูลส่วนตัวพกติดตัวเอาไว้ เพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ของแพทย์ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องเท่าใดนัก อีกทั้งข้อมูลส่วนตัวดังกล่าวของไข้เองเวลาที่รักษากับโรงพยาบาลหนึ่ง ก็จะไม่ถูกเปิดเผยมายังอีกโรงพยาบาลที่จำเป็นต้องเข้าด้วยเหตุฉุกเฉิน กว่าจะได้ข้อมูลก็อาจจะทำให้การรักษาต้องล่าช้าออกไป และอาจจะร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ในบางกรณี ดังนั้น ด้วยความที่ทีมงานของบริษัทเป็นทีมแพทย์อยู่แล้วจึงเลือกที่จะหาแนวทางแก้ปัญหา และตกผลึกทางความคิดด้วยการสร้างฮาร์ดแวร์ขึ้นมา เพื่อให้เป็นที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคล โดยเชื่อว่าจะทำให้การรักษาของแพทย์ และการช่วยเหลือจากผู้อื่นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เราเลือกแก้ปัญหาในระดับจุลภาค โดยมองว่าเป็นเรื่องที่น่าจะทำได้มากกว่า เพราะทำเป็นรายบุคคล เราไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาแบบมหภาคที่รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ปัญหา เพื่ออุดจุดบอดดังกล่าวนี้ แต่เราเลือกแนวทางที่ง่ายด้วยการใช้ริสแบนด์ หรือสายรัดข้อมือ (Wristband) และสติ๊กเกอร์ เป็นตัวเชื่อมข้อมูลของบุคคลสู่ผู้อื่น”
–เลือกใช้งานได้ 3 รูปแบบ
สำหรับสิธีการใช้งานลิสต์แบรนด์ และสติ๊กเกอร์สำหรับผู้ที่ไปพบกับผู้ที่สวมใส่ และต้องการช่วยเหลือนั้น สามารถทำได้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การอ่านข้อมูลจากคิวอาร์โค้ด (QR code) บริเวณที่ติดตั้งฮาร์ดแวร์เอาไว้ ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่เบสิคที่สุด เพียงแค่ผู้ที่ไปพบเจอมีโปรแกรม หรือแอพพิเคชั่นที่สามารถอ่านบาร์โค้ดได้บนสมาร์ทโฟนก็จะรู้ข้อมูลของบุคคลนั้นได้ทันทีว่ามีโรคประจำตัว กรุ๊ปเลือด หรือที่อยู่ ฯลฯ ได้ 2.การล็อกอินผ่านทางเว็บไซด์ ซึ่งจะมีระบุไว้บนริสแบนด์ หรือสติ๊กเกอร์ โดยที่พบเจอเพียงแค่ใส่ไอดี และพิน (PIN) ที่ปรากฏอยู่ก็จะรู้ข้อมูลได้เช่นเดียวกัน และ 3.การโทรศัพท์เข้ามายังสายด่วนให้บริการ (Hot line) เพื่อบอกไอดี และพินกับเจ้าหน้าที่ ก็จะรู้ข้อมูลได้ทันที
“หัวใจสำคัญของการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุคือไอดี และพินที่ปรากฏอยู่ ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือผู้ที่สวมใส่ หรือติดสติ๊กเกอร์จะต้องกรอกข้อมูลของตนเองลงไปในระบบ เพื่อให้ผู้อื่นรับรู้ได้ในยามที่จำเป็น”
ขณะที่จุดเด่นของ MEiD นั้น ปีติพงศ์ บอกว่า อยู่ทีมงานของบริษัทซึ่งจะเป็นทีมแพทย์ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล หรือคลินิกทั้งหมด รวมถึงระบบที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายจากหลากหลายวิธี ทั้งคิวอาร์โค้ด เว็บไซด์ และสายด่วนแบบ 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นจึงทำให้ผู้ที่ใช้งานรู้สึกถึงความปลอดภัยได้เมื่อยามที่เกิดเหตุฉุกเฉินกับตนเอง และมีผู้อื่นผ่านมาพบเหตุการณ์
–รุกออนไลน์พร้อมขยายช่องทาง
ด้านกลยุทธ์ในการทำตลาดนั้น MEiD จะเลือกใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก เพราะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้โดยง่าย อีกทั้งคุณสมบัติในการใช้งานของ MEiD ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตค่อนข้างมาก ดังนั้น ลูกค้าที่จะเลือกใช้งานจึงเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงโซเชี่ยล อีกทั้งยังมีการเดินหน้าเข้าหาลุกค้าที่เป็นองค์กร โดยนำเสนอโปรแกรมที่สามารถผลิตตามความต้องการของแต่ละองค์กรได้ เพราะมีทีมงานหลังบ้านทางด้านไอทีที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถพัฒนาฮาร์ดแวร์ให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กรได้
นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจำหน่ายที่จะต้องผ่านการคัดสรรคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่ได้วางมาตรฐานเอาไว้ โดยปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10 ราย และในอนาคตวางแผนที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบดำเนินการไปสู่การมี 1 ตัวแทนต่อ 1 จังหวัด เพื่อขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเตรียมพัฒนาต่อยอดริสแบนด์ให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าทุกเพศทุกวัย เนื่องจากมองว่าแต่ละกลุ่มลูกค้าก็จะมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป และลาสุดกำลังร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับท่องเที่ยว เพื่อจำหน่ายร่วมกันในแพคเก็จ
“จากกลยุทธ์การทำตลาดกังกล่าว เชื่อว่าจะสามารถทำให้บริษัทมีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 7 หลัก หลังจากที่ปัจจุบันซึ่งเปิดให้บริการมาแล้วประมาณ 5 เดือนบริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 6 หลักต่อเดือน”
–สิ่งสำคัญคือช่วยเหลือชีวิตคน
ส่วนภาพรวมของธุรกิจในอนาคตนั้น ปีติพงศ์บอกว่า จุดประสงค์ที่ทำธุรกิจก็เพียงเพื่อต้องการให้ทุกคนได้มีข้อมูลประจำตัวที่สามารถบอกผู้อื่นได้ว่าตนเองมีประวัติอย่างไรทางการแพทย์ หรือข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเช่นที่อยู่ โดยไม่สำคัญว่าจะต้องใช้ริสแบนด์ หรือสติ๊กเกอร์ของบริษัท เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือการช่วยเหลือชีวิตคน แต่หากเป็นไปได้ก็อยากให้เลือกบริการจาก MEiD
อย่างไรก็ดี บริษัทยังเตรียมพัฒนาฮาร์ดแวร์ไปสู่รูปแบบอื่นที่จำเป็นจะต้องเป็นริสแบนด์ หรือสติ๊กเกอร์ แต่จะเป็นของใช้ หรืออุปกรณ์ที่ทุกคนจะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย อีกทั้งยังจะตั้งทีมแพทย์ที่จะช่วยลูกค้าในการกรอกข้อมูล เพื่อการให้บริการที่ครบวงจร.