BAKERY MIND เสิร์ฟไอเดียคู่รสชาติความอร่อย
จุดเริ่มต้นของธุรกิจย่อมมีเส้นทางขรุขระอยู่ข้างหน้าเสมอ เพื่อทดสอบความแข็งแกร่ง และความตั้งใจจริงของผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของก่อนที่จะไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างที่หวัง เสน่หา ชูสันติ คือหนึ่งในเจ้าของธุรกิจที่ต้องอดทนฟันฝ่าอุปสรรค แม้บางครั้งจะล้มลงบ้าง ท้อบ้าง แต่ด้วยความตั้งใจจริง และความคิดสร้างสรรค์ เธอก็สามารถก้าวเดินไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างสง่างาม และ Startup แบรนด์ Bakery Mind ให้เข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภคได้
จากความชอบสู่ธุรกิจ
เสน่หา พาย้อนเวลากลับไปในช่วงปี 2557 ให้ฟังว่า เป็นช่วงที่ธุรกิจ Bakery Mind เริ่มก่อตัวขึ้นมาช้าๆจากการที่ตนซื้อเตาอบขนาดเล็กมาเพื่อทำขนม หลังจากที่ที่คร่ำหวอดอยู่แวดวงของธุรกิจประกันด้วยตำแหน่งผู้จัดการมากกว่า 10 ปี เนื่องจากตนเองมีความชื่นชอบในการทำขนมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยในเบื้องต้นยังเป็นการทำแบบควบคู่กันไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขนมที่ทำแบบง่ายๆ เช่นเค้กแบบไส้ลาวา แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบรับประทานมะพร้าวจึงนำสิ่งที่ตนชอบนี้มาเป็นวัตถุดิบหลักในการทำ โดยทำในรูปแบบเค้กปกติแบบลักษณะทรงสามเหลี่ยมที่มีขายทั่วไปในตลาด
ทั้งนี้ หลังจากที่ทำขนมเสร็จแล้วกลุ่มที่เป็นเป้าหมายในการทดสอบฝีมือก็คือกลุ่มเพื่อนที่ทำงาน ซึ่งต่างก็ให้การยอมรับในรสชาติ และมีการสั่งออเดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามจุดพลิกผันที่แท้จริงก็คือช่วงที่มีโอกาสได้เปลี่ยนงานประจำที่ทำอยู่ จึงตัดสินใจลาออกเพื่อที่จะหันมาทำธุรกิจร้านเบเกอร์รี่อย่างเต็มตัวเลยดีกว่า โดยในช่วง 1 ปีแรกที่ทำเป็นรูปแบบของการทำส่ง หรือฝากขายตามร้านขนมทั่วไป โดยมีโจทย์ว่าจะต้องมีรายได้เพียงพอชดเชยกับเงินที่หายไปจากงานประจำที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงพยายามลดต้นทุนทางด้านๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่าร้าน ค่าคนงาน เรียกว่าประหยัดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าในช่วง 1 ปีแรกที่ผ่านไป ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ หรือเติบโตอย่างที่ตั้งใจไว้ ตนจึงเริ่มปรับเปลี่ยนแนวคิดไปสู่การหาทำเล เพื่อเปิดร้านเป็นหลักเป็นแหล่ง จะได้มีคนงานมาช่วยได้อย่างเต็มที่ โดยเลือกตกแต่งร้านให้เป็นสไตล์คาเฟ่ แต่จุดด้อยของการเปิดร้านก็คือจะต้องเป็นฝ่ายรอให้ลูกค้าเดินเข้ามาหา เราไม่ได้จู่โจมเข้าหาลูกค้าได้โดยตรง อีกทั้งค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าร้าน หรือค่าคนงานก็เป็นเสมือนแรงกดดันให้ต้องพยายามสร้างยอดขายเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่า
“ผ่านมา 2 ปีกับการทำธุรกิจแบบเต็มตัว ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่หวัง เพราะการนำผลิตภัณฑ์ไปฝากขาย ก็จะไม่ได้รับการดูแลที่ดีเหมือนเราดูแลเอง ทำให้การที่ลงทุนตู้แช่ขนมไปก็ขาดทุน ขณะที่การทำร้านเองก็ขาดทุน หนำซ้ำเจ้าของพื้นที่เช่าเปิดร้านยังขอยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดอีก เท่ากับว่าผ่านมา 2 ปี ภาพของธุรกิจที่เราคิดไว้ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้”
สร้างแบรนด์เรียกลูกค้า
เสน่หา เล่าต่อไปว่า จากประสบการณ์ธุรกิจที่ผ่านมาในช่วง 2 ปีทำให้ตนต้องกลับมาทบทวนกลยุทธ์ในการทำตลาดใหม่ จนนำไปสู่แนวคิดในการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง เพื่อดึงดูดความสนใจจากลูกค้าให้เดินเข้ามาหา โดยการสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการนำกะลามะพร้าวมาใช้แทนถ้วยฟอยด์ให้เกิดเป็น “กะลาเค้ก” และผลิตภัณฑ์ที่สร้างความฮือฮาได้เป็นอย่างมากในตลาดก็คือ “เค้กมะพร้าวไส้แตก”ที่มีรูปลักษณ์ภายนอกออกแบบเป็นลูกมะพร้าว โดยสีเขียวที่ทำเป็นลูกมะพร้าวคือสังขยาใบเตยสดห่อหุ้มไว้ด้วยเค้กเนื้อนุ่ม ขณะที่ภายในสุดเป็นเนื้อมะพร้าวอ่อนพร้อมครีมสด ซึ่งสามารถเป็นจุดขายที่ดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีเครปพลัฟไส้มะพร้าวครีมสดที่ขายดีอยู่แล้ว มาเป็นส่วนเติมเต็มให้ผลิตภัณฑ์ของ Bakery Mind เป็นที่ถูกใจของลูกค้ามากยิ่งขึ้น
ด้านช่องทางการจำหน่าย เสน่หา เลือกใช้รูปแบบของการซื้อกลับบ้าน (Take-home) เป็นหลัก เนื่องจากมองว่าการจำหน่ายในรูปแบบดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มประมาณการขายได้มากกว่าการให้ลูกค้านั่งรับประทานที่ร้าน เพราะจะเกิดการซื้อฝาก ผสมผสานควบคู่ไปกับช่องทางทางด้านออนไลน์ ทำให้ฐานลูกค้าของ Bakery Mind ขยายอย่างรวดเร็วทั้งในกระแสของโลกโซเชี่ยล และการบอกต่อของลูกค้าแบบปากต่อปาก
สำหรับปัจจุบัน Bakery Mind มีร้านจำหน่ายอยู่ที่ราษฏร์บูรณะ 29 ,เซ็นทรัล เวสเกต ,เซนทรัล แจ้งวัฒนะ และเดอะมอลล์ บางกะปิ อีกทั้งยังมีตัวแทนจำหน่ายอีก 20 แห่งของแต่ละจังหวัด ตามคอนเซ็ปป์จังหวัดละ 1 แห่ง ประกอบไปด้วย ระยอง ,ชลบุรี ,ฉะเชิงเทรา ,สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เป็นต้น
เพิ่มจุดจำหน่ายขยายตัวแทน
เสน่หา กล่าวต่อไปอีกถึงกลยุทธ์ในการทำตลาดปี 2560 ด้วยว่า จะดำเนินการเรื่องของการเพิ่มจุดจำหน่ายภายในห้างสรรพสินค้าอีก 4 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในปีนี้ พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนของตัวแทนจำหน่ายในแต่ละจังหวัด โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มขึ้นอีก 30 จังหวัด รวมเป็น 50 จังหวัด โดยจากกลยุทธ์ดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้รายได้ในปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปสู่ตัวเลข 7 หลักต่อเดือนได้อย่างไม่ยากเย็น หลังจากในปีที่ผ่านมาต่อเดือน Bakery Mind มีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 3-4 แสนบาท
“จุดเด่นของ Bakery Mind อยู่ที่การเลือกใส่ไอเดียลงไปในผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่แปลกตา ซึ่งเปรียบเสมือนการปูพรหมแดงให้ลูกค้าได้เดินผ่านแวะเข้ามา หลังจากนั้นเมื่อได้ลิ้มลองรสชาติก็จะเกิดการแนะนำแบบปากต่อปาก และเกิดการซื้อฝาก ด้วยจุดเด่นอีกด้านหนึ่งในเรื่องของรสชาติที่มีการปรับให้เหมาะกับรสนิยมการรับประทานของผู้บริโภคชาวไทยมากที่สุด และวัตถุดิบที่ผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดี”
ขณะที่ภาพของธุรกิจในอนาคตของ Bakery Mind นั้น เสน่หาบอกว่า ต้องการให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รับรู้ของแต่ละจังหวัดว่าหากเดินทางมาท่องเที่ยวแล้วจะต้องซื้อผลิตภัณฑ์ของ Bakery Mind กลับไปเป็นของฝาก เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดมาจากจิตวิญญาณแห่งความตั้งใจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเสิร์ฟขนมสดใหม่ คุณภาพเกินราคาให้กับผู้บริโภค