“JUDE CASE” ไอเดียแปลกโดนใจตลาด
โอกาสทางธุรกิจยุคดิจิตอลลอยอยู่ในอากาศ ไม่มีต้นทุน ไม่ต้องใช้งบทางการตลาด ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถฉกฉวยโอกาสตรงหน้านั้นไว้ได้
ลฎาภา ยิ้มละมัย สาวน้อยวัย 26 ปี อดีตสาวแบงก์รัฐแห่งหนึ่งคือผู้ที่มองเห็นช่องทางบนความทันสมัย จนสามารถ Startup ธุรกิจของตัวเองขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลยนอกจากไอเดียความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถหยิบจับสิ่งที่ตนเองรัก และชอบให้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่กลายเป็นกระแสของการแชร์ออกไปอย่างรวดเร็ว
จากความชอบสู่ธุรกิจ
ลฎาภา เล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจให้ฟังว่า ตนเองเป็นคนที่ชอบหาธุรกิจอะไรใหม่ๆตลอดเวลา เนื่องจากตนเองมีธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับร้านป้ายตรายาง ซึ่งมองว่าไม่ค่อยมั่นคงเท่าใดนัก ดังนั้น จึงพยายามที่จะหาอาชีพเสริมเข้ามาเพิ่มเติม และด้วยความที่ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบใส่รองเท้าแตะ อีกทั้งยังเป็นคนที่ชอบเปลี่ยนเคสโทรศัพท์มือถือบ่อยๆ โดยมีอยู่วันหนึ่งที่เกิดความคิดอยากนำรองเท้าแตะมาแนบกับหน้าแบบโทรศัพท์ ซึ่งน่าจะดูเท่ห์ในสายตอของผู้ที่ได้พบเห็น
เมื่อคิดได้แบบนั้นจึงนำไอเดียดังกล่าวไปบอกกับคุณแม่ ซึ่งตามปกติแล้วเวลาที่ตนเองอยากได้อะไรก็จะสามารถทำให้ได้เสมอ โดยในตอนแรกคุณแม่ก็มีอาการตกใจกับคำร้องขอ แต่ตนเองก็ยืนยันว่าคุณแม่น่าจะทำได้ ซึ่งเคสอันแรกที่เกิดขึ้นมาจากการนำสายรองเท้าแตะของตนเองมาตัดเพื่อนำไปติดกับเคสโทรศัพท์ เคสรองเท้าแตะชิ้นแรกจึงเกิดขึ้น โดยที่ตนก็นำไปใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน และมีการถ่ายรูปอัพภาพลงเฟสบุ๊ก (Facebook) โดยมีผู้ที่สนใจและมีการนำไปแชร์ต่อบนโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เป็นเสมือนไวรัลมาร์เก็ตติ้ง (Viral Marketing) ที่ทำให้มีคนรู้จักเคสรองเท้าแตะอย่างรวดเร็ว
“เคสรองเท้าแตะกลายเป็นกระแสอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ ทำให้ตนมองเห็นช่องทางในการทำตลาด และคิดว่าน่าจะทำออกมาขาย โดยนำไปโพสลงในอินสตราแกรม (IG) แบบเล่นๆ ปรากฏว่ามีลูกค้าสั่งออเดอร์เข้ามาจริง และโอนเงินค่าสินค้ามาให้ ซึ่งปัญหาที่ตามมาตอนนั้นก็คือจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ เนื่องจากไม่สามารถตัดจากรองเท้าจริงเพื่อนำไปติดบนเคสได้ เพราะสายมีขนาดที่ใหญ่เกินไป”
ครอบครัวคือแรงหนุนสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ที่พึ่งที่ดีที่สุดก็คือครอบครัว เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ตามออเดอร์ที่สั่งเข้ามาจึงไปปรึกษาคถณพ่อและแม่ว่าจะต้องทำอย่างไร จนได้ข้อสรุปว่าจะต้องหาโรงงานเพื่อขึ้นรูปสายรองเท้าแตะให้ เพื่อนำมาติดกับเคสโทรศัพท์ที่สั่งเข้ามา จนทางโรงงานยินยอมที่จะผลิตให้ในปริมาณที่ไม่ต้องมากมาย เคสโทรศัพท์ลอตแรกจึงสำเร็จและสามารถส่งให้กับลูกค้าได้ตามต้องการ หลังจากนั้นจึงมีออเดอร์เข้ามาจำนวนมากกว่า 500 ชิ้นเพื่อนำไปขายต่อ แต่ก็ไม่สามารถผลิตให้ได้ทัน ที่สำคัญปัญหาของผลิตภัณฑ์ในช่วงแรกก็คือ สายรองเท้าแตะที่ติดกับเคสจะหลุดง่ายมาก ทำให้ต้องรับเคลมสินค้าให้กับลูกค้าเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ เมื่อนำปัญหาไปปรึกษาคุณพ่อที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับร้านป้ายอยู่แล้ว คุณพ่อจึงช่วยเสาะหากาวที่จะสามารถนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ แต่ก็ยังไม่มีกาวที่ตอบโจทย์ได้จนสุดท้ายคุณพ่อต้องทดลองคิดสูตรเพื่อผสมกาวที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาเพื่อใช้เอง ซึ่งสามารถทำให้ช่วยลดอัตราการเคลมจากลูกค้าจนกลายเป็นศูนย์ได้ในที่สุด โดยเคสรองเท้าแตะแบรนด์ “Jude case” เกิดขึ้นมาได้อย่างเป็นรูปธรรมเพราะมีครอบครัวเป็นกำลังสนับสนุนที่สำคัญ
ขยายตลาดในและต่างประเทศ
ลฏาภา กล่าวต่อไปอีกว่า กลยุทธ์การทำตลาดของ Jude case จะเน้นการขายออนไลน์เป็นหลัก แต่เมื่อขายไปได้สักระยะหนึ่งจึงเริ่มมีผู้ที่สนใจติดต่อเข้ามาเพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่าย โดยผู้ที่เข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ไม่มีเงินจำนวนมากในการสต็อกสินค้า ตนจึงใช้วิธีให้สมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายด้วยการใช้เงิน 390 บาทเท่านั้น เพื่อรับสินค้าไปจำหน่ายโดยที่ไม่ต้องสต็อกสินค้า แต่มีเงื่อนไขว่าหากภายใน 1 เดือนไม่มีออเดอร์จะถูกตัดสิทธิ์ทันที ทำให้ปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่ายอยู่ทั้งหมด 30 รายที่นำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายบนช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซด์ขายดีดอทคอม (www.Kaidee.com) ,อีเบย์ (www.Ebay.com) เป็นต้น ขึ้นอยู่กับว่าตัวแทนแต่ละรายจะใช้ช่องทางไหนในการทำตลาด
ขณะที่ตลาดในต่างประเทศนั้น ปัจจุบัน Jude case ก็มีตัวแทนจำหน่ายอยู่ที่ประเทศลาว 3 รายที่ช่วยกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภค โดยตนเองจะเน้นแนวทางการขายในรูปแบบขายส่งมากกว่า เพื่อช่วยทำให้ตัวแทนมีรายได้ ด้านกลยุทธ์การทำตลาดในปีนี้ ยังคงเน้นรูปแบบการเป็นเคสรองเท้าแตะอยู่ แต่จะเป็นรูปแบบใหม่ๆที่นอกเหนือไปจากลักษณะของการเป็นหูคีบในปัจจุบัน โดยล่าสุด Jude case เองก็เพิ่งจะออกสีพาสเทล (Pastel color) เพื่อขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้หญิง ซึ่งช่วยให้ Jude case สามารถขยายฐานลูกค้าได้กว้างมากยิ่งขึ้น
ส่วนตลาดต่างประเทศกำลังอยู่ระหว่างการหาช่องทางนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศ AEC เพื่อขยายตลาดนอกเหนือไปจากประเทศลาว โดยปัจจุบันก็มีบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับทางด้านการส่งออกติดต่อเข้ามาต้องการนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศดังกล่าวเหล่านี้ แต่ตนเองต้องการให้มีตัวแทนของแต่ละประเทศเป็นผู้เข้าไปทำตลาดให้มากกว่า โดยขั้นตอน ณ เวลานี้ก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาหาช่องทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด นอกจากนี้ ยังเตรียมศึกษาการเข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแผนในระยะสั้นช่วง 3-5 ปี
“จากกลยุทธ์การทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้รายได้ของ Jude case เพิ่มขึ้น 10% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านบาท หรือประมาณเดือนละ 1 แสนบาท และจะขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตลาดตามแผนเป็นระยะๆ”
ลฏาภา ยังได้บอกถึงเป้าหมายในอนาคตด้วยว่า ต้องการให้ Jude case เป็นเสมือนสัญลักษณ์สินค้าของประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวต้องซื้อกลับไปเมื่อมาเยือนประเทศไทย เพราะรองเท้าแตะเป็นเหมือนสินค้าเฉพาะแบบที่มีแต่ในประเทศไทย อีกทั้งบนสายของผลิตภัณฑ์ตนยังใส่คำว่า Made in Thailand เข้าไปด้วย เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นไทย