FRESH ME ชานมไข่มุกตำหรับไต้หวันหัวใจไทย
ต้นกำเนิดธุรกิจมีได้หลากหลาย บางรายก็เกิดจากความสงสัย หรือบางรายก็เกิดจากความบังเอิญ แต่สำหรับสาวน้อยที่ชื่อ “แพร” กวิสรา จันทร์สว่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟรชมี จำกัด นั้น เกิดมาจากความชื่นชอบส่วนตัวต่อการรับประทานของหวานประเภทต่างๆ
ที่ไม่ใช่กาแฟ จนได้กลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจชานมไข่มุกแบรนด์ “Fresh Me” ในปัจจุบัน
เปลี่ยนความชอบเป็นธุรกิจ
กวิสรา เล่าถึงที่มาที่ไปของธุรกิจว่า เกิดมาจากความชอบส่วนตัวในการรับประทานของหวาน และช่วงเวลาหนึ่งได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนของมูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ (AFS) ที่ประเทศเยอรมัน ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการทำอาหาร และขนมประเภทต่างๆจากครอบครัวชาวเยอรมันที่ไปพักอาศัยอยู่ด้วย เมื่อกลับมาก็ทดลองทำขนมไปฝากขายตามร้านกาแฟต่างๆ จากสูตรที่ได้เรียนรู้มา จนกระทั่งสอบติดคณะพาณิชย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หลังจากนั้น จึงได้โอกาสไปเรียนพิเศษ และบังเอิญว่าบริเวณที่เรียนมีร้านที่ขายชานมไข่มุกอยู่ โดยวันหนึ่งตัวเองเดินวนซื้อมารับประทานวันละ 2-3 แก้ว และคิดว่าน่าจะทำเองได้ไม่ยาก จากเดิมที่ต้องการให้ได้เครื่องดื่มไวๆก็ปรับเปลี่ยนมาให้คนขายทำช้าๆ เพื่อที่จะได้ดูวิธีการทำ รวมถึงได้ซักถามข้อมูลที่สงสัย โดยไม่เลือกที่จะดูวิธีการทำจากยูทูป (Youtube) เพราะมองว่าจะกลายเป็นสูตรเดียวกันทั้งหมด เมื่อได้เห็นวิธีการและได้ข้อมูลมาก็เริ่มทดลองทำที่บ้าน แต่ปรากฏว่ายังไม่ได้รสชาติ หรือสูตรตามที่ตัวเองต้องการ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่คุณแม่มีเพื่อนเป็นชาวไต้หวัน เลยทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้สูตรชงชาแบบออริจินอลโดยตรง แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะง่ายไปทั้งหมด เพราะกว่าจะได้สูตรที่ต้องการ ก็ต้องทดลองทำ และต้องทิ้งไปเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อได้สูตรที่ 1 อย่างที่พอใจ สูตรในลำดับถัดมาก็ไม่ยากเย็นอะไรนัก
ทดลองตลาดกับกลุ่มเป้าหมายจริง
กวิสรา บอกต่อไปว่า เมื่อได้สูตรของชานมไข่มุกอย่างที่ต้องการ จึงได้ทำการทดสอบตลาดจากผู้บริโภคโดยตรง ด้วยการนำชาไข่มุกสูตรของตัวเองไปให้เพื่อนที่มหาวิทยาลัยได้ทดลองชิม เพื่อขอรับฟังความคิดเห็น และนำมาปรับปรุงรสชาติให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ถัดจากนั้นจึงเริ่มมองหาโลเคชั่นในการจำหน่าย ซึ่งก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลนัก เพราะกลุ่มเป้าหมายของเราคือกลุ่มนักศึกษา ร้านแรกของ Fresh Me จึงเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต
แม้จะได้สูตรชานมไข่มุกที่ลงตัว และมีร้านขายอย่างเป็นทางการ แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะถูกโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ เพราะปรากฏว่าในช่วงแรกจำหน่ายได้ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากรูปแบบของร้านที่ไม่สะดุดตา จากการที่ตัวเองออกแบบไม่เป็น ทำให้ไม่เป็นที่น่าสนใจของผู้ซื้อ กวิสราจึงแก้ไขสถานการณ์ด้วยการบุกประชิดผู้บริโภคนำชานมไข่มุกไปให้ลูกค้าได้ทดลองชิม ด้วยความที่รสชาติเป็นเอกลักษณ์หวานน้อย หอมกลิ่นไปชา ทำให้ผู้ที่ได้ทดลองชิมติดใจในรสชาติ และเดินกลับมาซื้อ เมื่อกระบวนการทุกอย่างเข้าที่เข้าทางชานมไข่มุกของกวิสราจึงสามารถขายได้ 500-600 แก้วต่อวัน
“เมื่อสาขาแรกถึงจุดคุ้มทุน และด้วยแรงสนับสนุนจากครอบครัวทำให้สาขาที่ 2 และ 3 ตามมาอย่างรวดเร็ว โดยยังคงยึดทำเลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหลัก พร้อมทั้งขยายคลังสินค้า มีโรงงานผลิตเป็นกิจจะลักษณะจากเดิมที่จะใช้ห้องครัวที่บ้านเป็นทำ และมีออฟฟิตอย่างเป็นทางการ เรียกว่าเป็นธุรกิจอย่างสมบูรณ์แบบ”
รสชาติที่ใช่คุณภาพเกินราคา
สำหรับจุดเด่นของ Fresh Me นั้น กวิสราบอกไว้อย่างน่าสนใจว่า ด้วยความที่เป็นธุรกิจอาหารสิ่งที่สำคัญก็คือเรื่องของรสชาติที่กลมกล่อม หอมกลิ่นใบชา รวมถึงคุณภาพที่เกินกว่าราคา มีหลากหลายเมนูให้ลูกค้าได้เลือกทั้งตัวชา และทอปปิ้งที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นไข่มุกที่จะมีสูตรการต้มด้วยน้ำผึ่ง เพื่อให้มีการกลิ่นที่หอมหวาน ,ไข่มุกแบบระเบิด ซึ่งจะแตกในปากเมื่อถูกกัดและมีน้ำรสชาติเปรี้ยวอยู่ด้านใน และพุดดิ้ง เป็นต้น นอกจากนี้ ด้วยความที่ Fresh Me มีระบบแฟรนไชน์ทำให้ต้องให้มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ โดยกวาราจะให้ความสำคัญกับลูกค้าที่เป็นแฟรนไชน์ทุกคนตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งการช่วยหาทำเล การมีมาสคอตมาช่วยส่งเสริมการขายในวันเปิดร้านโดยไม่คิดค่าบริการเพิ่ม
ขณะที่บริการหลังการขายก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยกวิสรา จะช่วยแก้ปัญหาให้เมื่อลูกค้าที่เป็นแฟรนไชน์บอกความต้องการเข้ามาอย่างเต็มที่เสมอ เพราะยึดคติที่ว่าจะต้องอยู่ด้วยกันไปตลอด โดยที่แต่ละส่วนจะต้องส่งเสริมกันและกัน ซึ่งจะเห็นได้จากปัจจุบัน Fresh Me มีสาขาจำนวนมากกว่า 100 สาขา โดยแบ่งเป็นในเขตกรุงเทพฯประมาณ 60% และต่างจังหวัด 40% ซึ่งจะมีเพียง 4 สาขาที่กวิสราดูแลด้วยตนเอง
อัดโปรโมชั่นโดยตรงกับลูกค้า
กวิสรา กล่าวถึงกลยุทธ์ในการทำตลาดว่า ด้วยความที่ไม่ได้อยู่บนเส้นทางของรถไฟฟ้า BTS ทำให้ต้องมุ่งเน้นการทำโปรโมชั่นที่หน้าร้านเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นฟรีไข่มุก หรือฟรีพุดดิ้ง เรียกว่าเป็นการทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าโดยตรง และการออกงานใหญ่ประมาณปีละ 5 ครั้ง โดยในปี 2560 มีเป้าหมายในการขยายตลาดไปยังสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วประเทศ รวมถึงการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศในกลุ่ม CLMV และการทำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นระดับพรีเมี่ยมขึ้น เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น
“การไปต่างประเทศของ Fresh Me ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นเท่าใดนัก เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่ได้มาตรฐานธุรกิจการค้าของกระทรวงพาณิชย์จึงได้รับความเชื่อถือ อีกทั้งการไปต่างประเทศก็จะเป็นเป็นกลุ่มรวมกับนักธุรกิจในรูปแบบของการจับคู่ธุรกิจ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน Fresh Me ก็มีสาขาจำหน่ายที่ประเทศลาว และพม่า แล้ว โดยเป้าหมายก็คือการหามาสเตอร์แฟรนไชน์เข้ามาเพิ่มเติมในกลุ่มประเทศอื่น”
กวิสรา กล่าวปิดท้ายด้วยว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีส่วนในการช่วยแนะนำช่องทางในการทำตลาด และช่วยส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ด้วยการนำ Fresh Me ไปลงตามนิตยสารต่างๆที่ธนาคารมีความร่วมมือด้วย