ป.เกรียบกุ้ง คัดสรรทุกวัตถุดิบคุณภาพ
แน่นอนว่าความสำเร็จของธุรกิจเป็นสิ่งที่น่าสนใจใคร่รู้ แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นน่าจะเป็นเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้นมากกว่า
เพราะนั่นคือแก่นแท้ และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษา เพื่อนำไปประยุกต์ใช้สำหรับผู้ที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร
เรื่องราวของพิริยะศาสตร์ ตระการจันทร์ ชายหนุ่มผู้เป็นเจ้าของ บริษัท ป.เกรียบกุ้ง อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายข้าวเกรียบภายใต้แบรนด์ ป.เกรียบกุ้ง คือหนึ่งตัวอย่างของการฟันฝ่าอุปสรรค และแง้มประตูแห่งโอกาสให้กับตนเองจนกลายเป็นเจ้าของธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง แม้ว่าจะเพิ่งจดทะเบียนทางการค้าในปี 2556 ก็ตาม
จากมนุษย์เงินเดือนสู่เจ้าของธุรกิจ พิริยะศาสตร์ ก็คือชายหนุ่มมนุษย์เงินเดือนธรรมดาคนหนึ่งที่ผ่านประสบการณ์การทำงานมาอย่างโชกโชนจากหลากหลายสาขา ทั้งสายโทรคม วงการยา รวมถึงค้าส่งและค้าปลีก จนถึงจุดหนึ่งที่เริ่มมีความต้องการอยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง และได้ทำการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับตลาดทางด้านต่างๆ โดยมาสะดุดตากับมูลค่าทางการตลาดของขนมขบเคี้ยว หรือสแน็ค (Snacks) ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2.7 หมื่นล้านต่อปี หลังจากมองเห็นประตูแห่งโอกาสดังกล่าว จึงระดมความคิดจากทุกอณูของสมอง เพื่อกลั่นกรองหาวิธีในการเข้าไปแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด โดยตั้งโจทย์ว่าจะต้องเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนทางด้านเครื่องจักรมาก
เมื่อตะกอนทางความคิดเริ่มตีกรอบให้แคบลง ผสมผสานกับความเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษาหาความรู้จากช่องทางบนอินเตอร์เน็ต ทำให้ได้พบกับวิธีการทำ “ข้าวเกรียบ” จากคลิปวิดีโอในยูทูป (YouTube) ซึ่งเห็นว่าไม่ได้มีขั้นตอนอะไรที่ยุ่งยาก และตนเองสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ของตนเองในการบุกตลาดสแน็ค โดยพยายามคิดค้น และทดลองทำเพื่อหาสูตรสำเร็จที่เป็นแบบเฉพาะของผลิตภัณฑ์ ผ่านการทดสอบตลาดจริงกับผู้บริโภค จนได้สูตรเด็ดความอร่อยของ ป.เกรียบกุ้ง ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ในที่สุด
สดใหม่วันต่อวัน สำหรับจุดเด่นของ ป.เกรียบกุ้ง นั้น พิริยะศาสตร์ บอกว่า อยู่ที่ความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและจำหน่ายในรูปแบบของวันต่อวัน เนื่องจากยังเป็นธุรกิจแบบเอสเอ็มอี (SMEs) ทำให้กระบวนการผลิตสินค้าไม่ใช่ลอตขนาดใหญ่ และสามารถจำหน่ายได้หมดทุกวัน ดังนั้น จึงไม่มีสินค้าที่ค้างอยู่ในสต็อก และไม่ต้องมีการกักตุนวัตถุดิบเอาไว้เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ด้วยความพิถีพิถันในการคัดสรรวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของข้าวเกรียบ รวมถึงการควบคุมคุณภาพในการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสร้างเรือนผ้าพลาสติกใสตากข้าวเกรียบเพื่อป้องกันเชื้อโรค จนถึงกระบวนการทอดก่อนที่บรรจุลงแพจเก็จ และไม่เอาเปรียบลูกค้าด้วยราคาจำหน่ายที่ไม่แพงจนเกินไปทำให้กลายเป็นจุดเด่นอีกด้านหนึ่งที่อยู่คู่กับสินค้ามาโดยตลอด
กลยุทธ์ทำตลาดแบบรอบด้าน ด้านกลยุทธ์ในการทำตลาดพิริยะศาสตร์จะเลือกใช้แบบรอบด้าน (Multifunction) ทั้งการอาศัยหน่วยงานราชการในการพาไปแนะนำสินค้ายังที่ต่างๆ ที่สามารถสร้างฐานลูกค้าได้ รวมถึงการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่ตนเองตั้งปณิธานเอาไว้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการที่หลากหลาย และหมั่นออกงานอีเว้นท์ งานแสดงสินค้าทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ เพื่อโปรโมทสินค้า และให้ลูกค้าได้มีโอกาสทดลองรสชาติของ ป.เกรียบกุ้ง ซึ่งช่วยให้การขยายฐานลูกค้าเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ป.เกรียบกุ้ง ได้เพิ่มไลน์ของผลิตภัณฑ์ไปสู่การนำเข้าสาหร่ายอบกรอบจากประเทศเกาหลี เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เจ้าตลาดเพิ่มเติม และแตกไลน์ของผลิตภัณฑ์ไปสู่การทำแสน็คเพื่อสุขภาพ (Healthy snacks) ตอบโจทย์กระแสของการรักสุขภาพที่กำลังเป็นที่นิยม และสร้างฐานลูกค้าใหม่ให้เกิดความหลากหลายภายใต้แบรนด์ “แจมโบ้”(JAMBO) โดยมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบจากแหล่งชุมชนให้เกิดประโยชน์ ทั้งข้าวปลายหัก ,ข้าวกล้อง ,รัมเรซิล ,ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และเมล็ดถั่ว เป็นต้น ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้การทอด ซึ่งจะให้ผู้บริโภคได้รับทั้งสารอาหาร และปลอดไขมัน
“การดำเนินการแตกไลน์เป็น JAMBO ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยเราจะนำวัตถุดิบที่ผลิตได้จากชุมชนภายใต้คอนเซปป์ของออร์แกนิค ซึ่งจะปลอดจากสารเคมีมาผลิตเป็นข้าวอบกรอบ (Rice snacks) ในรูปแบบคล้ายกับคอนเฟล็กซ์ (Conflex) โดยที่ลูกค้าสามารถรับประทานแบบปกติ หรือเทนมสดลงไปก่อนรับประทานก็ได้ ”
ปูพรหมสู่ตลาดต่างประเทศ พิริยะศาสตร์ บอกว่า กลุ่มลูกค้าหลักของ ป.เกรียบกุ้ง จะมาจาก 2 ช่องทางในการจัดจำหน่าย ประกอบไปด้วย 1.หน่วยรถกระจายสินค้า (Cash Van) ที่จะวิ่งส่งสินค้าให้กับตัวแทนจำหน่ายต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และ 2.บิ๊กซี (Bic C) ทุกสาขาทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี สำหรับเป้าหมายในอนาคตนั้น ป.เกรียบกุ้งต้องการขยายตลาดออกไปสู่ต่างประเทศ โดยเริ่มต้นจากตลาด CLMV (กัมพูชา ,ลาว ,เมียนมาร์ และเวียดนาม) ซึ่งขณะนี้ได้เข้าไปทดลองทำตลาดที่ประเทศเวียดนาม ในเมืองโฮจิมินห์ โดยได้กระแสการตอบรับเป็นอย่างดี และมีตัวแทนจำหน่ายภายในประเทศเวียดนามหลายแห่งให้ความสนใจติดต่อเพื่อนำไปจำหน่าย
ทั้งนี้ การออกไปทำตลาดต่างประเทศ จะต้องมีการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่นซึ่งจะมีความแตกต่างกัน หลังจากนั้นจะต้องกลับมาปรับปรุงรสชาติของผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับตลาดของแต่ละประเทศ เพื่อให้ตอบโจทย์ของผู้บริโภคได้มากที่สุด อีกทั้งยังต้องศึกษาข้อกฎหมายของแต่ละประเทศถึงข้อห้าม และเงื่อนไขต่างๆ เพื่อทำเรื่องขออนุญาตในการทำธุรกิจให้ถูกต้องตามขั้นตอน
“ ความจริงผลิตภัณฑ์ของ ป.เกรียบกุ้ง มีวางจำหน่ายอยู่แล้วตามแนวชายแดนทั้งไทย-ลาว และกัมพูชา ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ”
พิริยะศาสตร์ ยังตั้งเป้าหมายระยะยาวในการขยายตลาดต่างประเทศไปสู่ประเทศในแถบยุโรป ,สหรัฐอเมริกา ,ญี่ปุ่น และเกาหลี ในอนาคต แต่ทุกอย่างจะต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป และศึกษารายละเอียดของการเข้าไปทำตลาดอย่างละเอียด และรอบครอบว่าแนวใดจะมีศักยภาพ และเหมาะสมมากที่สุด.