พิมพนม (ช่างหลง) วิจิตรศิลป์แห่งหิน/หยกแกะสลัก
การก่อเกิดของธุรกิจสามารถมีได้ตลอดเวลา ขอเพียงแค่รู้จักคิด และกล้าที่จะตัดสินใจทำในสิ่งที่คิดว่าใช่ โดยที่สำคัญคือเป็นสิ่งที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ และเชื่อว่าจะกระตุ้นต่อมความต้องการของผู้บริโภคได้ด้วยแนวคิด รวมถึงกลยุทธ์ทางการตลาด และฝีมือที่เป็นที่ยอมรับ
พิมพนม พรหมณะ คือผู้ที่สร้างธุรกิจของตนเองมาจากความเชี่ยวชาญเฉพาะส่วนบุคคล ผสมผสานไปกับการทำตลาดที่มีศักยภาพ ทำให้ผลงานที่ออกมาจากการเจียระไนภายใต้ พิมพนม (ช่างหลง) ทุกชิ้นต่างก็ได้รับการยอมรับ และตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นงานจากหินแกะสลัก และงานจากหยกแท้รูปแบบต่างๆตามความคิดสร้างสรรค์
จากประสบการณ์สู่ธุรกิจ
พิมพนม บอกถึงที่มาที่ไปของธุรกิจที่ไม่สลับซับซ้อน และแสนจะเรียบง่ายว่าเริ่มต้นจากการที่แฟนเคยทำงานที่โรงงาน และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับงานฝีมือในการแกะสลัก จนมีความเชี่ยวชาญทางด้านดังกล่าว โดยจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาได้ระยะเวลาหนึ่งทำให้เกิดแนวคิดในการออกมาทำธุรกิจเป็นของตนเอง เมื่อปรึกษาหารือกันเป็นที่แน่ใจ จึงเริ่มออกมาผลิตชิ้นงานเป็นของตนเองภายใต้คนงานอยู่ประมาณ 1-3 คนในระยะแรก โดยเลือกใช้วัตถุดิบที่ทำมาจากหิน และหยกแท้เป็นหลัก
หลังจากนั้น เมื่อผลงานที่รังสรรค์ออกมาเริ่มเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และมีความต้องการสินค้าอย่างต่อเนื่องจากแนวคิดในการทำตลาดของ พิมพนม จึงเริ่มขยับขยายงานไปสู่โรงงานขนาดเล็ก และเพิ่มจำนวนคนงานเป็น 5-6 คน เพื่อให้ผลิตชิ้นงานได้ทันต่อความต้องการของลูกค้า
“ แฟนเป็นคนที่มีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญทางด้านแกะสลักหินและหยกแท้ เมื่อนำมาผสมผสานกับความเชี่ยวชาญของตนทางด้านการทำตลาด ผลงานที่ออกมาแต่ละชิ้นของ พิมพนม (ช่างหลง) จึงสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด และต้องตัดสินใจเลือกซื้อเมื่อได้เห็นความสวยงามของผลงาน ”
งานดีใส่ใจทุกรายละเอียด
เมื่อถามถึงจุดเด่นของผลงานภายใต้การดูแลของ พิมพนม นั้น เธอบอกอย่างภูมิใจว่า งานทุกชิ้นที่ผลิตออกมา ล้วนแล้วแต่มาจากฝีมือการแกะสลักที่ประณีต และอดทนของช่างที่โรงงาน ผสมผสานไปกับความใส่ใจในทุกรายละเอียด อีกทั้งรูปแบบของงานที่ผลิตออกมายังเป็นผลงานที่อิงกับความเชื่อตามหลักของศาสนาพุทธ โดยเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เพราะจะเป็นงานหินแกะสลักรูปพระพุทธรูปปรางต่างๆ รวมถึงเกจิอาจารย์ชื่อดังของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น หลวงปู่ทวด พระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ฯลฯ โดยมีขนาดให้เลือกตั้งแต่หน้าตัก 35 นิ้วไปจนถึง 65 นิ้ว ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า
นอกจากนี้ ยังมีชิ้นงานที่เป็นองค์เจ้าแม่กวนอิม พระพิฆเนศ สำหรับผู้ที่นับถือเทพเจ้า และคำสั่งทำตามแบบที่ลูกค้าออเดอร์มา อย่างไรก็ตาม พิมพนม (ช่างหลง) ใช่ว่าจะมีเพียงแต่ชิ้นงานที่ทำจากหินแกะสลักเท่านั้น แต่ยังมีชิ้นงานที่ทำงานจากหยกแท้รูปแบบต่างๆ ให้กับลูกค้าทีชื่นชอบความเป็นหยก และหลงไหลวัตถุสีเขียวมรกตให้ได้เลือกกันอีกด้วย
“ พระพุทธรูปของ พิมพนม (ช่างหลง) จะมีหลากหลายปราง ไม่ว่าจะเป็น ปรางนาคปรก ปรางประทานพร และปรางอื่นๆ ตามแต่ลูกค้าจะสั่งให้แกะสลัก นอกจากนี้ยังมีชิ้นงานที่เกี่ยวหยกแท้อีกหลากหลายรูปแบบ โดยทุกชิ้นงานจะมีความโดดเด่นในงานฝีมือที่ปราณีต และความใส่ใจในทุกรายละเอียดจากช่างที่มีความชำนาญ ”
เจาะตลาดออนไลน์ขยายกลุ่มลูกค้า
สำหรับกลยุทธ์ทางการตลาดของ พิมพนม (ช่างหลง) ในปัจจุบัน พิมพนมได้บุตรสาวที่ร่ำเรียนวิชาทางการตลาดมาเป็นผู้ช่วยหลักในการดำเนินการ และด้วยความที่เป็นคนรุ่นใหม่ช่องทางที่เลือกใช้จึงเป็นวิธีการเจาะกลุ่มลูกค้าผ่านออนไลน์ โดยใช้เฟสบุ๊ก (Facebook) เป็นสื่อกลางในการขยายฐานลูกค้า ซึ่งก็มีลูกค้าเข้าไปติดตามผลงานอยู่มากมาย อย่างไรก็ตาม พิมพนม (ช่างหลง) ของแท้จะไม่หน้าร้านเป็นของตนเอง แต่จะมีร้านค้าที่มารับผลงานไปจำหน่ายต่ออีกทอดหนึ่ง
พิมพนม บอกอีกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ได้เห็นชิ้นงานจริงที่แกะสลักจะชื่นชอบ และตัดสินใจซื้อแทบทุกราย และนี่เองจึงเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้จากความตั้งใจผลิตผลงานให้ออกมาด้วยความตั้งใจ จนทำให้กลายเป็นการบอกต่อกันปากต่อปาก และทำให้ชื่อเสียงของ พิมพนม (ช่างหลง) เป็นที่กล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในแวดวงของผู้ที่ชื่นชอบงานแกะสลักจากหิน และหยกแท้
“ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ (ธพว.) มีส่วนอย่างมากในการช่วยทำให้กิจการของ พิมพนม (ช่างหลง) เติบโตขึ้น จากการให้เงินทุนหมุนเวียนผ่านโครงการสินเชื่อของธนาคาร พร้อมทั้งยังมีโครงการอบรมเกี่ยวกับการตลาด และการสร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้าในการเลือกสินค้า นอกจากนี้ ยังช่วยแนะนำช่องทางในการทำตลาด และ พิมพนม (ช่างหลง) มาออกงานแสดงสินค้าที่ตลาดนัดคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และแผนในการออกงานแสดงสินค้าต่างๆ อีกมากมาย ”
เล็งเข้าโอท็อปกรุยทางสู่ ตปท.
พิมพนม ยังบอกถึงเป้าหมายของธุรกิจด้วยว่า มีความตั้งใจจะนำผลงานของ พิมพนม (ช่างหลง) เข้าสู่ทำเนียบของหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอท็อป (OTOP) ให้ได้ โดยลำดับแรกจะต้องพยายามผลิตผลงานให้ได้ตามหลักเกณฑ์ของโอท็อป ซึ่งจะต้องส่งชิ้นงานเข้าสู่การพิจารณาด้วยกัน 3 ชิ้น โดยปัจจุบันชิ้นงานของ พิมพนม (ช่างหลง) ผลิตออกมาจะถูกลูกค้าซื้อไปจนหมด ทำให้ไม่สามารถทำได้ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้
การทำให้ผลงานได้รับการยอมรับเป็นสินค้าโอท็อปได้ จะเป็นเสมือนใบเบิกทางในการนำผลงานไปสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไปของ พิมพนม (ช่างหลง) โดยชื่อว่าคุณภาพของผลงานที่ทำออกมาในแต่ละชิ้นจะได้รับการยอมรับ และเป็นที่นิยมของลูกค้าชาวต่างชาติเช่นกัน.