GREEN GROWTH เกษตรอินทรีย์สร้างรายได้สู่ชุมชน
อาชีพเกษตรกรถือเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และเป็นอาชีพหลักของคนไทยส่วนใหญ่เกินครึ่งประเทศ โดยที่ปัจจุบันก็ยังเป็นอาชีพที่หล่อเลี้ยงสังคมไทยอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
เพียงแต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการเพาะปลูกไปตามเทคโนโลยีที่นำสมัย เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผล
ธีรภัทร เทพพันธ์ อดีตเด็กหนุ่มผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการจัดการลุ่มน้ำและสิ่งแวดล้อม คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือผู้ที่ทิ้งโอกาสและการทำงานในเมืองหลวง ไปประกอบอาชีพเกษตรกรที่บ้านเกิดจังหวัดอุทัยธานี จนปัจจุบันรับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนโกรทออร์แกนิค จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ภายใต้แบรนด์ “ Green Growth ”
สำนึกรักบ้านเกิด
ธีรภัทร บอกถึงที่มาที่ไปของ Green Growth ว่า ด้วยความที่เป็นคนต่างจังหวัดพื้นเพอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งทางครอบครัวเองก็มีพื้นที่สำหรับทำการเกษตร ประกอบกับความต้องการส่วนตัวที่อยากจะสร้าง และใช้ชีวิตครอบครัวที่บ้านเกิด โดยมีสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการได้ดูแลพ่อและแม่อย่างใกล้ชิด แต่การประกอบอาชีพเกษตรกรของเขาจะต้องไม่ใช่รูปแบบเดิมที่ทำกันอยู่ แนวคิดเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์จึงก่อตัวขึ้น และนำไปสู่แนวทางปฏิบัติในที่สุด
“ การที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงในช่วงเรียนหนังสือ ทำให้ได้พบว่ามีการค้าขายด้านเกษตรอินทรีย์อยู่ และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค แต่เกษตรกรในต่างจังหวัดยังขาดโอกาสในการเข้าถึงตลาดเหล่านี้ ขณะที่ภาคส่วนราชการไปส่งเสริมให้ปลูก แต่ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการตลาด และการขายตนจึงรวบรวมเครือข่ายผู้ที่ทำข้าวอินทรีย์ในจังหวัด และทดลองทำตลาดให้ Green Growth กิจการเพื่อสังคมเกษตรอินทรีย์เพื่อวิถีชุมชน จังหวัดอุทัยธานี จึงเกิดขึ้น ”
อย่างไรตาม เกษตรอินทรีย์ของธีรภัทรไม่ได้มีเพียงแค่ข้าวเท่านั้น แต่ยังมีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง มะกรูด กระเจี๊ยบ และพืชพันธุ์ที่หาได้ในท้องถิ่น โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรได้ปลูกพืชหลังทำนา เพื่อบำรุงดิน และยังสามารถนำไปแปรรูปขายสร้างรายได้ให้อีกด้วย ดังนั้น ผลิตภัณฑ์จาก Green Growth จึงมีทั้งข้าวกล้อง ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้องหอมนิล ข้าวกล้องทับทิมชุมแพ และแชมพูสมุนไพร เป็นต้น
จับกระแสรักสุขภาพ
สำหรับจุดเด่นที่สำคัญของ Green Growth นั้น ธีรภัทร บอกว่า มาจากการเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่กระแสของการรักสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยหันมาให้ความใส่ใจกันมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นทั้งผู้ผลิต และส่งเสริมเกษตรกรในจังหวัดอุทัยธานีให้มีการเพาะปลูกพืชแบบอินทรีย์ โดยมีการควบคุมมาตรฐานทุกกระบวนการผลิตก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายให้ผู้บริโภคได้เลือกตามความต้องการของแต่กลุ่ม
ขณะที่กลยุทธ์ในการทำตลาดหลักในส่วนของผลิตภัณฑ์ข้าว โดยหลักจะเป็นการขายส่งให้กับกลุ่มพลังบุญเพื่อนำไปจำหน่าย รวมถึงการออกงานแสดงสินค้าที่ถูกจัดขึ้นจากหน่วยงานต่างๆ และวางจำหน่ายตามร้านเพื่อสุขภาพ ส่วนผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะกรูดเป็นแชมพู จะใช้ช่องทางในการจำหน่ายผ่านสาขาของท็อป ซูเปอร์มาเก็ต และเลมอนฟาร์ม นอกจากนี้ ยังเสริมด้วยช่องทางออนไลน์ผ่านเฟชบุ๊ก (Facebook) ในการสื่อสารกับลูกค้า ถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มในเรื่องของผลิตภัณฑ์ และการออกงานต่างๆ โดยลูกค้าเองก็สามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางดังกล่าวนี้ได้เช่นเดียวกัน
“ กลุ่มลูกค้าของ Green Growth ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่อายุ 30 ปีขึ้นไป รวมถึงกลุ่มของครอบครัว และผู้ที่สนใจในการดูแลสุขภาพ ”
ธีรภัทร บอกอีกว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ (ธพว.) มีส่วนอย่างมากในการช่วยขยายกิจการของ Green Growth ให้ก้าวหน้า โดยการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อในโครงการดอกเบี้ยอัตราพิเศษ 4% เพื่อใช้ในการลงทุนเครื่องจักร และขยายกิจการ พร้อมทั้งช่วยแนะนำช่องทางในการทำตลาด และนำ Green Growth มาออกงานแสดงสินค้าที่คลองผดุงกรุงเกษม เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และแผนในการออกงานแสดงสินค้าต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก
วางรากฐานในประเทศก่อนโกอินเตอร์
ส่วนเป้าหมายของธุรกิจและทิศทางในอนาคตนั้น ธีรภัทร ตั้งใจจะพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย รวมถึงการทำมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ของ Green Growth ให้เป็นที่ยอมรับ พร้อมทั้งผลิตภัณฑ์จากเกษตรอินทรีย์ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้า โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการคิดค้น และพัฒนาสูตรของผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ ยังต้องการขยายช่องทางในการทำตลาดของ Green Growth ออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยในระยะแรกวางเป้าหมายไว้ที่กลุ่มประเทศในโซนยโรปสิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งล่าสุดได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับออแกนิคที่ประเทศฮ่องกง และเมืองเซี่ยงไฮ้ ทำให้ได้เห็นโอกาสในการเข้าไปทำตลาด ซึ่งยังคงเปิดกว้างอยู่ อย่างไรก็ดี คงต้องมีการศึกษาหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อน เพราะแต่ละประเทศก็จะมีนโยบายทางการค้า และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป
“ ปัจจุบัน Green Growth ยังคงมุ่งเน้นการจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก โดยพยายามจะวางรากฐานของผลิตภัณฑ์ให้มีความแข็งแกร่ง ทำตามมาตรฐานต่างๆ ควบคุมคุณภาพในการผลิต ก่อนที่จะขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายในอนาคตที่วางเอาไว้ ”
ธีรภัทร บอกปิดท้ายว่า ผลิตภัณฑ์ของ Green Growth ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค และสามารถขยายตลาดได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสามารถสร้างยอดขายได้ประมาณ 3 ล้านบาทต่อปี ซึ่งในอนาคตภายในระยะเวลา 5 ปี ได้ตั้งเป้าสร้างยอดขายให้ได้ปีละ 10 ล้านบาท จากการวางยุทธศาสตร์เรื่องของผลิตภัณฑ์และแผนในการทำการตลาดด้านต่างๆ.