“ใบสลาดขนมไทย”ไอเดียผสามนวัตกรรมโดนใจตลาดต่างประเทศ
ขึ้นชื่อว่าขนมไทยถือว่าเป็นขนมที่ได้รับการยอมรับว่ามีรสชาติและเอกลักษณ์ที่ติดอันดับต้นๆของโลก
โดยมีความต้องการจากตลาดต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมากในแต่ละเดือน แต่ละปี แต่จะมีผู้ประกอบการไทยสักกี่รายที่สามารถบุกเข้าไปทำตลาด และยืนหยัดอยู่บนสมรภูมิของการแข่งขันในตลาดได้อย่างยาวนาน
ระยะเวลากว่า 30 ปีที่บริษัท โรสอารยา ฟู้ดส์ จำกัด เข้าไปทำตลาดต่างประเทศคือตัวเลขที่การันตีความสำเร็จได้เป็นอย่างดี และผู้ที่อยู่เบื้องหน้าจนปัจจุบันกลายมาเป็นเบื้องหลังของความสำเร็จคือ ฉัตรชัย โพธิ์วรสิน ซึ่งผันตนเองมาเป็นที่ปรึกษาของบริษัท โดยให้ทายาทดูแลเรื่องการทำตลาดในเบื้องหน้า
จับโอกาสสร้างธุรกิจ
ฉัตรชัย เล่าย้อนถึงที่มาที่ไปของธุรกิจว่า เดินทีตนมีอาชีพเป็นพ่อค้าขายปลา และได้มีผู้ประกอบการรายหนึ่งมาติดต่อธุรกิจ เพื่อขอให้ช่วยหาร้านขายข้าวต้มมัดที่มีรสชาติอร่อยโดยมุ่งหวังที่จะไปทำตลาดส่งออก แต่ไม่ว่าจะพยายามหาอย่างไรก็ไม่สามารถหาร้านที่ตรงกับความต้องการได้ ดังนั้น ตนจึงเกิดประกายไอเดียในการผลิตข้าวต้มมัดด้วยตนเองเพื่อจำหน่าย เพราะในส่วนตัวแล้วมีความชื่นชอบการทำขนมไทยอยู่เป็นทุนเดิม แบรนด์ “ใบสลาด” จึงได้ Start up ธุรกิจขึ้นมา
“ตั้งแต่แรกเริ่มที่ทำธุรกิจก็ไม่ได้มุ่งหวังอะไรกับยอดขาย และผลกำไรมากนัก เพียงแต่ต้องการเผยแพร่เอกลักษณ์ความเป็นขนมไทยให้ต่างประเทศได้ลิ้มลองรสชาติ ประกอบกับในช่วงนั้นเป็นช่วงที่อาหารประเภทแฮมเบอร์เกอร์เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จึงมีความคิดที่จะทำให้ขนมไทยไปมีชื่อเสียงในตลาดต่างประเทศบ้าง ซึ่งจากอดีตจนถึงปัจจุบันบริษัทมีการรักษาคุณภาพ ทำให้สามารถยืนยงได้อย่างสง่าผ่าเผยในตลาดต่างประเทศมามากว่า 30 ปี”
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ข้าวต้มมัดได้รับความนิยมจากตลาดต่างประเทศ บริษัทจึงได้มีการดำเนินการต่อยอดธุรกิจไปสู่ขนมไทยประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นขนมถ้วย ,ข้าวเหนียวปิ้ง ,ขนมตาล ,ขนมใส่ไส้ และขนมเทียน เป็นต้น เพื่อตอบรับกับความต้องการของตลาด
จับนวัตกรรมรีทอร์ตรุก ตปท.
สำหรับการทำตลาดล่าสุดนั้น บริษัทได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อดำเนินการค้นคว้าและวิจัยนวัตกรรมรูปแบบใหม่ที่จะนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการฆ่าเชื้อในอุณหภูมิปกติ โดยบรรจุลงถุงรีทอร์ตเพาซ์ (retort pouch) ซึ่งจะทำให้สามารถเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ไว้ได้นานโดยไม่ต้องใช้วิธีการแช่เย็น หรือแช่แข็งเหมือนที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเริ่มนำผลิตภัณฑ์ภายใต้นวัตกรรมดังกล่าวเข้าไปทำตลาดที่ประเทศจีนเป็นที่แรก หลังจากที่มีลูกค้าจากประเทศจีนให้ความสนใจสินค้าเป็นจำนวนมากจากการที่บริษัทได้ไปออกงานแสดงสินค้า ทั้งที่งานไทยเฟค (THAIFEX) และงานที่เซี่ยงไฮ้
ด้านการเข้าไปทำตลาดในประเทศจีน บริษัทจะเลือกใช้กลยุทธ์ในรูปแบบของการหาตัวแทนจำหน่าย ซึ่งจะมีความเชี่ยวชาญในการทำตลาดในพื้นที่ควบคู่ไปกับการนำเข้าไปจำหน่ายด้วยตนเอง หลังจากที่ได้มีการเข้าไปศึกษาตลาด และทดลองการทำตลาดแล้วในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี หลังจากที่ทำตลาดในประเทศจีนด้วยนวัตกรรมรีทอร์ตแล้วได้ผลดีอย่างที่วางเป้าหมายเอาไว้ จะขยายการทำตลาดเพิ่มเติมไปยังประเทศสหรัฐฯ ,ฝรั่งเศส ,เยอรมัน และแคนาดา จากเดิมที่กลุ่มประเทศเหล่านี้บริษัทเข้าไปตลาดด้วยนวัตกรรมการแช่แข็งผลิตภัณฑ์
ส่วนการทำตลาดในประเทศ บริษัทก็มีแผนที่จะนำผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายเช่นกัน แต่คงจะต้องรอให้การทำตลาดในต่างประเทศที่บริษัทมุ่งเน้นมีเสถียรภาพก่อน โดยการทำตลาดในประเทศอาจจะต้องมีการปรับรสชาติของขนมไทย ซึ่งบริษัทมีจุดเด่นที่การทำรสชาติเป็นกลาง ไม่หวานมากและไม่มีความมันจนเกินไป ทำให้เป็นที่นิยมของลูกค้าต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสุขภาพ แต่ผู้บริโภคในประเทศจะชอบรสชาติที่เข้มข้นทั้งความหวาน และความมันแบบถึงเครื่อง
เล็งสร้างรายได้ 40 ล.ปี 60
ฉัตรชัย กล่าวต่อไปอีกว่า จากการขยายตลาดด้วยนวัตกรรมรีทอร์ตที่จะนำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์เชื่อว่าจะทำให้รายได้ของบริษัทในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นประมาณ 1 เท่าของปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 10-20 ล้านบาท เนื่องจากลูกค้าเดิมเองก็มีความต้องการผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นจากที่เคยส่งออกไปเดือนละ 1 ตู้ขนาด 4 ฟุต เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด
“หลังจากที่บริษัทได้ไปออกงานแสดงสินค้าไทยเฟค ทำให้ได้พบกับลูกค้าต่างประเทศ และมีความสนใจสั่งสินค้าขนมไทยของบริษัทอีกเป็นจำนวนมาก โดยบริษัทจะพยายามรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และขยายตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต”