บุญเที่ยง-บีฟรุ๊ต จากสวนสู่ผลไม้แปรรูปคุณภาพ
การทำธุรกิจที่ดีคือการนำสิ่งที่ตนเองถนัด และมีความเชี่ยวชาญมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะจะทำให้เรามีความได้เปรียบจากคู่แข่งที่เข้ามาร่วมแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาด เพราะเห็นว่ามีผลตอบแทนที่เย้ายวนรออยู่
บุญเที่ยง พฤกษากิจ เจ้าของบริษัท จันทบุรี ฟรุ๊ต โปรดักส์ จำกัด คือ ผู้ที่นำทรัพยากรทางการเกษตรที่อยู่รอบตัวมาแปรรูปจนสามารถ Startup ธุรกิจขึ้นมาภายใต้แบรนด์ “บุญเที่ยง” และต่อยอดมาจนถึงแบรนด์ “บีฟรุ๊ต”
จากข้าราชการสู่ธุรกิจ
บุญเที่ยง เล่าถึงที่มาที่ไปก่อนที่จะทำธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบว่า เดิมทีมีอาชีพรับราชการเป็นอาจารย์ ก่อนที่จะหันมาทำธุรกิจแบบเต็มตัวกับการแปรรูปผลไม้จากสวนของตนเองที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ซึ่งมีพื้นที่กว่า 50 ไร่ รวมถึงสวนที่จังหวัดตราด และรับซื้อจากสวนอื่นๆที่ต้องการขายผลไม้สดให้ โดยมีผลไม้นานาพันธุ์เป็นวัตถุดิบชั้นดีให้เลือกสรร อาทิ กล้วยหอมพันธุ์หอมทอง ,ทุเรียน ,มังคุด และขนุน ซึ่งผลิตภัณฑ์แรกที่นำเสนอออกสู่ตลาดคือ ทุเรียนทอด หลังจากนั้นก็ขยายประเภทไปสู่การแปรรูปแบบกวน ทั้งมะละกอ และมังคุดกวน จนประสบความสำเร็จ
ในโลกของธุรกิจใช่ว่าเมื่อค้นพบธุรกิจที่จะทำแล้วทุกอย่างจะราบรื่น และมีพรหมแดงปูรอไว้เพื่อให้ก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จได้อย่างสบาย เช่นเดียวกับบุญเที่ยงซึ่งช่วงแรกที่ทำตลาดยังไม่ค่อยมีความรู้ และความเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจ เมื่อได้ผลผลิตจากผลไม้แปรรูปมาก็ไม่รู้ว่าจะต้องบรรจุลงแพคถุงละกี่กรัมจึงจะเหมาะสม และสามารถกระตุ้นการขายได้ ดังนั้น จึงเลือกบรรจุลงไปที่ 100 กรัมภายใต้แบรนด์ “บุญเที่ยง” ซึ่งยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้บริโภค แต่เมื่อได้ลองศึกษาตลาดทำให้พบว่าขนาดที่บรรจุดังกล่าวเป็นขนาดที่ค่อนข้างจะขายยาก เพราะจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคาในการขายที่ค่อนข้างสูง ไม่จูงใจผู้บริโภค
ทั้งนี้ เมื่อได้ไอเดียและแนวคิดจึงเริ่มดำเนินการจัดทำแพคเก็จใหม่ที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม แต่ก็ยังต้องการคงขนาดเดิม 100 กรัมเอาไว้ แบรนด์ “บีฟรุ๊ต” จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นมา เพื่อรองรับขนาดแพ็คเกจขนาด 65 กรัม โดยมุ่งเข้าตลาดในกลุ่มของโมเดิร์นเทรด ซึ่งปัจจุบันได้มีการแบ่งแยกออกชัดเจนระหว่าง 2 แบรนด์ โดยในส่วนของแบรนด์ “บุญเที่ยง” จะใช้บรรจุภัณฑ์แบบเป็นถุงใสเป็นหลัก ขณะที่แบรนด์ “บีฟรุ๊ต” จะเน้นการใช้บรรจุภัณฑ์แบบที่เป็นฟรอยด์อะลูมิเนียม
เล็งออกผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบยาก
สมคิด บอกต่ออีกว่า ล่าสุดภายใต้แบรนด์ทั้ง 2 มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปทำตลาดแล้วประมาณ 30-40 ประเภท และขณะนี้ก็อยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถจำหน่ายได้ภายในปีนี้ แต่ยังไม่สามารถบอกละเอียดได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใด ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้จะเน้นการเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลอกเลียนแบบได้ยาก เนื่องจากที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ทุกประเภทของบริษัทจะถูกผู้ประกอบการในตลาดทำออกมาจำหน่ายแข่งขันในระยะเวลาไม่นาน
สำหรับช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะเป็นที่ ท็อป ซุบเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงบิ๊กซี และร้านจำหน่ายของฝาก ขณะที่ในส่วนของตลาดต่างประเทศก็มีกลุ่มพ่อค้าคนกลาง (Trader) ที่ต้องการนำผลิตภัณฑ์ไปทำตลาดติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในปีนี้คาดว่าน่าจะเข้าไปทำตาดที่ประเทศเวียดนามได้ โดยมีการติดต่อผู้ที่จะนำผลิตภัณฑ์เข้าไปทำตลาดแล้ว 2 ราย ขณะที่ประเทศจีนก็อยู่ในขั้นของการเจรจาการค้า เพื่อหาข้อสรุปที่เหมาะสมกันทั้ง 2 ฝ่าย
ใช้ Freeze dry เพิ่มประสิทธิภาพ
สมคิด บอกอีกว่า เทคโนโลยีที่บริษัทใช้ในการแปรรูปผลไม้เป็นหลัก โดยเฉพาะการทอดกรอบนั้น คือการใช้ระบบแวคคัม ซึ่งเป็นการใช้น้ำมันเป็นตัวนำพาน้ำที่อยู่ในผลไม้ออกมา แล้วระเหิดขึ้นไป โดยใช้แวคคัมดูดไอน้ำ แต่ในอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีไปสู่การฟรีซดราย (Freeze dry) ซึ่งเป็นการนำผลไม้สุกมาแช่แข็ง หลังจากนั้นก็จะนำไประเบิดในเครื่องที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ โดยเชื่อว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทสามารถต่อยอดไปได้เพิ่มมากขึ้น
“การที่ธุรกิจของบริษัทสามารถเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่สะดุด ส่วนหนึ่งมาจากการได้รับการส่งเสริมจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank ) ในส่วนของสินเชื่อ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทในการลงทุนเพื่อต่อยอด นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยให้คำแนะนำในเรื่องของการทำตลาด รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และเสริมความรู้เรื่องเครื่องจักรจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต”
สมคิด กล่าวปิดท้ายอย่างภาคภูมิใจว่า จุดเด่นและข้อได้เปรียบที่สำคัญของบริษัทคือการที่มีวัตถุดิบส่วนใหญ่เป็นของตนเอง และเครื่องจักรที่ออกแบบและคิดค้นขึ้นมาเอง เนื่องจากการทำผลไม้แปรรูป ปัญหาหนักที่สุดที่พบอยู่เสมอคือ เรื่องวัตถุดิบที่ไม่ได้คุณภาพ เพราะหากวัตถุดิบไม่ได้คุณภาพ สินค้าก็จะออกมาไม่ดี ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาผลไม้จะให้รสชาติไม่เหมือนกัน เช่น ช่วงที่ฝนตกหนัก ผลไม้จะไม่ค่อยมีคุณภาพ ขณะที่แรงงานเองก็มักจะไม่ค่อยมีคุณภาพ แต่บริษัทโชคดีที่ทำเครื่องจักรใช้เอง ดังนั้น จึงรู้ว่าจุดอ่อนมาจากตรงไหน ขณะที่ตัวเองก็อยู่ในวงการวัตถุดิบมานาน เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ว่าปัญหามาจากวัตถุดิบหรือมาจากเครื่องจักร ก็จะสามารถแก้ไขได้ตรงจุด